สัมภาษณ์: คุยเรื่อง “ชาญชรา” กับ วรเวศม์ สุวรรณระดา “ถ้าเข้าใจสถานการณ์สังคมสูงวัย เราจะเห็นโอกาส”

img_4415
วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตีพิมพ์หนังสือ ‘ชาญชรา: ก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วยความรู้และปัญญา’ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในชุด ‘ผลึกความรู้: ชุดงานวิจัยฉบับเคี้ยวง่าย’ ของโครงการพัฒนาระบบหนังสือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ในหนังสือ ‘ชาญชรา’  ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยที่ติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างต่อเนื่อง และทำงานวิจัยร่วมกับ สกว. ในชุดโครงการ ‘มิติทางเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร’ ได้ให้สัมภาษณ์เชิงลึกว่าด้วยสังคมสูงวัยในมิติเศรษฐกิจมหภาค ความมั่นคงทางการเงินของผู้คน และสถาบันครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ ชนิดที่เรียกได้ว่า ‘ห้ามพลาด’

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ขอตัดตอนเนื้อหาบางส่วนของบทสัมภาษณ์มาให้อ่านกัน  ผู้สนใจสามารถอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในหนังสือ ‘ชาญชรา’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ way of book และจัดจำหน่ายโดยเคล็ดไทย

………………..

ชาญชรา: ก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วยความรู้และปัญญา 

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: อาทิตย์ เคนมี  วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

โครงสร้างอายุของประชากรที่เปลี่ยนไปของทั้งสังคมโลกและสังคมไทย อาจทำให้คำว่า ‘บั้นปลายชีวิต’ เปลี่ยนไปจากความรับรู้เดิม

ปี 2547 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ ‘สังคมสูงวัย’ (aging society) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ

ปัจจุบันสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2574 หรือนับถอยหลังอีกไม่เกิน 15 ปีนี้ ประชากรสูงวัยจะเพิ่มเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเตรียมที่จะก้าวสู่การเป็น ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ (aged society)

มิใช่แค่ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากขึ้นเท่านั้น แต่คนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมีจำนวนน้อยลง ขณะที่เด็กเกิดใหม่ก็มีอัตราลดลง ไม่สามารถผลิตแรงงานรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนแรงงานรุ่นเก่าที่ค่อยๆ ปลดระวาง นั่นหมายถึงว่า อนาคตประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนแรงงาน

ลองนึกภาพว่า เมื่อผู้คนเริ่มแก่ชรา หูตาฝ้าฟาง การเคลื่อนไหวช้า ประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำ อีกทั้งคนวัยทำงานเหลือน้อยลง สายพานการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ ย่อมเกิดการสะดุด ไม่สามารถสร้างผลิตผลต่างๆ ได้ทันต่อวงล้อเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องหมุนไปข้างหน้า

จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดแรงงานท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ ไปจนถึงระดับปัจเจกคือปัญหาปากท้องของผู้คน

ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลายคงไม่อาจนิ่งนอนใจต่อไปได้ หากไม่ปรับตัวเสียตั้งแต่ตอนนี้อาจต้องเผชิญวิกฤติอย่างไม่ทันตั้งตัว เพราะอีกไม่นานคนหนุ่มสาวในวันนี้จะกลายเป็นประชากรสูงวัยในวันหน้า

ทว่า ในวิกฤติที่เกิดขึ้นก็ใช่ว่าจะมืดมนไร้ทางออก

“ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ เราจะเห็นโอกาส” ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยที่คลุกวงในกับปัญหาสังคมสูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง มองว่านี่ไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่เราจะยอมรับและพร้อมลงมือแก้ไขเมื่อไหร่

ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยในชุดโครงการ “มิติทางเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยิ่งทำให้วรเวศม์เชื่อมั่นว่าทุกปัญหามีทางแก้ และสามารถแก้ได้บนฐานของความรู้

……….

คำว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ กับ ‘สังคมสูงวัย’ สองคำนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร และควรให้นิยามอย่างไรจึงจะเหมาะสม

โดยส่วนตัวผมมองว่า คำว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ มีความหมายที่ค่อนข้างแคบ หรืออาจหมายถึงเพียงแค่สังคมของผู้สูงอายุ แต่ถ้าใช้คำว่า ‘สังคมสูงวัย’ จะสามารถบ่งบอกได้ถึงลักษณะของสังคมโดยรวมที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ และคำว่า ‘สูงวัย’ ยังสื่อถึงความเป็นพลวัต ความเป็นไดนามิคของสังคม

ผมคิดว่าเรื่องคอนเซ็ปท์เป็นเรื่องสำคัญในแง่การสื่อสารให้คนเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหา เพราะถ้าสื่อความหมายไม่แม่นยำ จับหลักไม่มั่น เราจะแก้ปัญหาไม่ตรงเป้า ประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์สังคมสูงวัยนั้นไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่จะยิ่งมีคนสูงวัยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่าว่า ‘aging society’ คือจะสูงวัยไปเรื่อยๆ เป็นปัญหาปลายเปิด ไม่ได้สุดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง

เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคำว่า ‘climate change’ ทำไมเราจึงไม่ใช้แค่คำว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพราะมันมีคำว่า ‘change’ ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

เหตุผลใดที่สังคมไทยต้องหันมาสนใจปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยกันอย่างจริงจัง

เหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญก็เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรซึ่งมีสัดส่วนและจำนวนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ณ ตอนนี้เรามีประชากรผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 จะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่คนวัยทำงานหรือประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี เริ่มมีสัดส่วนและจำนวนที่ลดลง เช่นเดียวกับเด็กอายุ 0-14 ปี ก็มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด นี่คือภาพใหญ่ของประชากร 3 กลุ่ม

อีกดัชนีหนึ่งที่ต้องติดตามดูก็คือ อัตราภาวะเจริญพันธุ์ ต้องดูว่าสตรีวัยเจริญพันธุ์ตลอดชีวิตมีบุตรกี่คน สมมุติผู้ชายผู้หญิงจับคู่กันแล้วมีลูก ถ้าจะรักษาจำนวนประชากรให้คงเดิมก็ควรจะมีลูก 2 คน เพื่อแทนที่พ่อและแม่ที่จะกำลังแก่ตัวและเสียชีวิตไป แต่ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1.6 คน ฉะนั้น ในเชิงคณิตศาสตร์เราตีความตัวเลขได้ว่า ประชากรมีแนวโน้มลดลงแน่นอน ซึ่งผลกระทบที่ตามมาจะทำให้เกิดปัญหาในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ

อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุปรากฏชัดมานานพอสมควร เพียงแต่ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เรื่องสวัสดิการ สุขภาพ และการเตรียมตัวของคนที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นหลัก แต่จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ผมและคณะนักวิจัยได้ร่วมกันทำ เราพบว่าประเด็นปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น จริงอยู่ว่าเรื่องการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยถือเป็นปัญหาเชิงบริบทของประเทศ ซึ่งทุกเรื่องที่อยู่ในบริบทนี้ล้วนได้รับผลกระทบหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการจ้างงาน ระบบสถาบันครอบครัว ชุมชน แม้กระทั่งระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบ เพราะโครงสร้างของประชากรเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มระบบต่างๆ ของประเทศ ฉะนั้น เราจะมองว่าเป็นเรื่องของผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป เพราะยังเกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ ของประเทศด้วย

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างไรบ้าง

ในฐานะที่ผมเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมมองว่าปัญหาสังคมสูงวัยเกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายประเทศที่เผชิญปัญหานี้และยังแก้ไม่ตก ส่วนใหญ่เป็นเพราะหัวใจของปัญหาสังคมสูงวัยเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ

ที่จริงแล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจเกิดจากหลายปัจจัยผสมกัน บางส่วนอาจเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำทำให้กระทบต่อการนำเข้า ส่งออก หรืออาจเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศถดถอยอันเป็นผลจากภัยแล้ง ซึ่งกระทบไปถึงปัจจัยการผลิต แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง แต่ผ่านตัวแปรอื่นๆ เช่น การขาดแคลนแรงงาน การไม่ปรับตัวของภาคธุรกิจ การพึ่งพาแรงงานราคาถูก และยังคงดำเนินกิจการไปตามโมเดลเศรษฐกิจแบบเดิม

ถามว่าแล้วจะไปต่อได้ไหม ในอดีตอาจพอไปได้ แต่ในอนาคตตอบไม่ได้ เพราะตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังเปิดประเทศ อาจแซงหน้าเราเมื่อไหร่ก็ได้ ฉะนั้น ถ้าเราหวังพึ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็คงจะลำบากขึ้น

ถ้าดูข้อมูลการคาดประมาณประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเห็นว่า แทบทุกประเทศกำลังจะแก่กันหมด เพียงแต่อัตราการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรของแต่ละประเทศอาจจะไม่เท่ากัน ลาว ฟิลิปปินส์ จะค่อนข้างช้าหน่อย แต่สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย มีอัตราการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่า ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา ก็ค่อยๆ ตามมา

มีข้อสังเกตอะไรที่บ่งชี้ว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเป็นสังคมสูงวัยเหมือนกันหมด

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มีอัตราการเติบโตที่เร็วก็มักจะส่งผลกระทบต่อตัวแปรอื่นๆ ทางสังคม เช่น พอเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนก็ใช้เวลาเรียนหนังสือนานขึ้น นั่นหมายความว่าการดำเนินชีวิตของคนจะเกิดการดีเลย์ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงาน การมีลูก ทุกอย่างจะขยับออกไปหมด ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรียนจบ ป.4 ป.6 ทำงานไปสักพัก พออายุ 20 ต้นๆ ก็แต่งงานมีลูกแล้ว

ปัจจุบันพอคนอยู่ดีกินดีมากขึ้น ก็จะโยงไปถึงเรื่องการตัดสินใจในการวางแผนชีวิตของตนเอง บางคนทำงานเก็บเงินไว้กินไว้เที่ยว หาความเอ็นจอยให้กับชีวิต คือเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนด้วย ซึ่งคนแต่ละรุ่นก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามบริบทของโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม อย่างที่เรียกกันเป็นเจเนอเรชันต่างๆ

เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น ระบบการศึกษาและการสาธารณสุขก็ดีขึ้นตามลำดับ ทุกอย่างจึงดีเลย์ออกไปหมด ท้ายที่สุดอายุค่าเฉลี่ยหรืออายุขัยโดยประมาณก็จะยืดออกไป ฉะนั้น เมื่อประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น

ปัญหาโดยรวมน่าจะกระทบต่อโครงสร้างการผลิตทั้งระบบเลยใช่ไหม โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงาน

ถ้ามองภาพใหญ่ก็คือ ภาคแรงงาน ซึ่งการที่เราใช้คำว่า ‘สังคมสูงวัย’ เป็นการพูดถึง 3 ประเด็นพร้อมกันคือ หนึ่ง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สอง ประชากรวัยทำงานลดลง สาม เด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเด็กเกิดน้อย ทำให้กำลังแรงงานลดลง สิ่งแรกที่เราต้องคิดก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากประชากรวัยทำงานลดลง แน่นอนว่าต้องกระทบภาคการผลิตต่างๆ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

ภาคเกษตร เมื่อเกษตรกรแก่ตัวลงมากๆ ทำงานไม่ไหว ผลผลิตก็ได้น้อยลง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เราจะอาศัยกำลังแรงงานเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็คงไม่ได้อีกต่อไป ส่วนภาคบริการก็ต้องคิดหาทางออกว่าจะมีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือไอที เข้ามาทดแทนคนได้อย่างไร

ถ้าเราจะเอาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาคงยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหนึ่ง เศรษฐกิจในบ้านเขาก็กำลังพัฒนาไปข้างหน้า วันหนึ่งรัฐบาลเขาอาจจะเชิญชวนแรงงานให้กลับไปช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองของเขาเองก็ได้ สอง สังคมในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็แก่ตัวลงเหมือนกัน ณ จุดใดจุดหนึ่งเขาก็ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ของเขา แล้วก็จะเจอปัญหาแบบเดียวกับที่เรากำลังจะเจอ ฉะนั้น การคาดหวังที่จะมีกำลังแรงงานจำนวนมากมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็คือ ปัญหาด้านการออม เป็นไปได้ว่าอัตราการออมมีโอกาสที่จะลดลง เพราะคนกลุ่มที่ออมเงินไว้ตอนวัยทำงาน พอแก่ตัวลงก็จะเริ่มนำเงินนั้นออกมาใช้จ่าย ฉะนั้นก็จะมีผลในเชิงลบต่อเรื่องการออมด้วย

พูดง่ายๆ ว่าสังคมสูงวัย ไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่เกี่ยวพันกับสังคมทั้งระบบด้วยใช่ไหม

พอคนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ในบรรดาคนสูงอายุนั้นจะมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ตอนแรกเราอาจจะมองว่าเป็นปัญหาในเชิงสังคม เชิงสุขภาพ แต่พอมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และมีอายุขัยเฉลี่ยยาวขึ้น ประเด็นก็คือ แล้วใครจะเป็นคนดูแลเขา คำตอบก็คือคนในวัยทำงานที่จะต้องดูแล ถ้ามีเงินก็คงจ้างคนมาดูแลได้ แต่คนที่ไม่มีเงินมากจะทำอย่างไร ฉะนั้น ถึงจุดหนึ่งคนวัยทำงานอาจต้องตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่

จะเห็นว่านอกจากแรงงานในวัยสูงอายุที่จะลดลงแล้ว ก็ยังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่หายไปอีก เนื่องจากต้องออกไปดูแลพ่อแม่ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเลี้ยงดูลูก ซึ่งขณะนี้ระบบสนับสนุนของรัฐก็ยังไม่พร้อม บางทีพ่อแม่อาจไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก ปู่ย่าตายายก็ไม่ได้มาช่วยเลี้ยง แล้วจะทำอย่างไร ฉะนั้น ทุกอย่างจึงโยงถึงกันหมด

ปัญหาของตลาดแรงงาน ไม่ใช่แค่การขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงนโยบายแรงงานหรือการปรับตัวของตลาดแรงงานว่าควรจะเป็นอย่างไร เพราะระบบการจ้างงานเป็นระบบที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ถ้าให้คนทำงานได้ถึงอายุแค่ 55 ปี หรือปล่อยให้คนออกจากงานเมื่อไหร่ก็ได้ ก็จะทำให้แรงงานหายไปจากระบบ

การขยายอายุเกษียณจะช่วยลดปัญหาแรงงานที่ขาดหายไปได้บ้างไหม

สิ่งที่ภาครัฐและตลาดแรงงานต้องคิดต่อก็คือ จะชดเชยประชากรวัยทำงานที่ลดลงได้อย่างไร แน่นอนว่าแรงงานส่วนหนึ่งอาจจะต้องทำงานยาวขึ้น ไม่ใช่อายุ 50 ก็เกษียณแล้วออกไปใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นทัศนคติที่น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน จริงๆ คนอายุ 50 อาจจะต้องทำต่อจนถึง 55 ส่วนคนที่จะหยุดตอนอายุ 55 อาจต้องทำต่อไปจนถึง 60 เป็นต้น

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นตอนนี้ ผมมั่นใจว่าคนรุ่นผมส่วนหนึ่งอาจจะต้องทำงานต่อไปจนถึงอายุ 65 อย่างเช่นตอนนี้ในมหาวิทยาลัยก็ยังมีอาจารย์ผู้ใหญ่อายุ 60 ขึ้นไปหลายท่านมาก และหลังจากนี้ไปจะเกิดการจ้างงานลักษณะนี้เยอะขึ้น รัฐบาลเองก็ต้องคิดเรื่องการขยายอายุเกษียณ เพียงแต่ว่าจะขยายพร้อมกันทั้งหน้ากระดานเลยหรือไม่

ตัวอย่างในหลายประเทศมีการขยายอายุงานตามลักษณะอาชีพ เพราะในภาคราชการเองก็มีอาชีพที่หลากหลาย อาชีพบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องขยาย เช่น เสมียน รปภ. แต่บางอาชีพที่ขาดแคลนคนก็อาจจำเป็นต้องขยายอายุออกไป ซึ่งอาจจะมีหลายทางเลือกในการเกษียณอายุก็ได้ แต่ถ้าทำเหมือนกันหมดแบบหน้ากระดานอาจจะเป็นปัญหาได้

ที่สำคัญตลาดแรงงานต้องปรับตัว เรื่องนี้แม้แต่นักวิชาการเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าภาคเอกชนควรจะปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงาน ตอนนี้เราทำได้แค่ไปสัมภาษณ์สถานประกอบการบางแห่ง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลว่าเขาเริ่มมีการขยายอายุเกษียณบ้างแล้ว บางแห่งมีการจ้างงานต่อ หรือทำสัญญาจ้างปีต่อปี ไม่ใช่เกษียณที่อายุ 55 หรือ 60 บริษัทบางแห่งก็เลือกประเภทงานที่เหมาะกับคนสูงอายุ เพราะงานบางอย่างต้องอาศัยความซื่อสัตย์ เชื่อใจกันได้ หรือทำงานแล้วรู้มือกัน

ตรงนี้น่าเสียดายว่า เรายังไม่เคยลงทุนสำรวจข้อมูลอย่างจริงจัง เอาง่ายๆ แค่ถามว่าสถานประกอบการมีการกำหนดอายุเกษียณไหม บางแห่งก็มี บางแห่งก็ไม่มี เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ บางแห่งก็ต่อสัญญาจ้างไปเรื่อยๆ ถ้ายังแข็งแรงอยู่ แต่ถ้าเจ้าตัวไม่ไหวแล้วก็ค่อยเลิกรากันไป

สถานการณ์เช่นนี้ผมคิดว่าเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่มีใครจับภาพได้ เพราะการสำรวจทำได้ค่อนข้างยาก ต้องเป็นการสำรวจระดับชาติ รัฐบาลต้องเอาจริงและลงมากำกับ อย่างเช่นกำกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ซึ่งเขามีเครือข่ายผู้ประกอบการอยู่ อาจจะขอความร่วมมือให้เขาเผยข้อมูลตรงนี้หน่อย

ข้อมูลการจ้างงานของภาคเอกชนมีประโยชน์อย่างไร

อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันเอกชนเขาปรับตัวกันอย่างไร ถ้าเขายังนิ่งหรือไม่ปรับตัวเลย รัฐบาลก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อเอกชนไม่ปรับตัว แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็หายากขึ้น พอถึงเวลาหนึ่งทุกคนก็จะค่อยๆ หลุดออกจากตลาดแรงงาน แสดงว่ามันเริ่มเกิดปัญหาแล้ว แต่ถ้าเอกชนเริ่มปรับตัว เริ่มมองเห็นปัญหา รัฐบาลก็อาจจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อสนับสนุนการโปรโมทนโยบายได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งประเทศ บางประเทศเขาให้สิทธิพิเศษบางอย่างกับเอกชนที่มีการปรับตัวเรื่องนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนขยายอายุงานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุนมากนัก

เรื่องการปรับตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมที่รัฐบาลควรต้องพิจารณา จริงๆ แล้วไม่ใช่เพื่อการดูแลผู้สูงอายุให้มีงานทำหรือมีรายได้เท่านั้น แต่มองในแง่เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะรองรับผู้สูงอายุให้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพโดยที่ครอบครัวไม่เหนื่อยมากนักในการดูแลผู้สูงอายุ

แสดงว่าในวิกฤติยังมีโอกาส?

จะว่าไปก็มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ถ้ามองให้ไกลไปจากผลกระทบเชิงลบแล้ว ยังมีโอกาสหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือ เมื่อมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค อานิสงส์ส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นกับภาคบริการ สุขภาพ การท่องเที่ยว สันทนาการ เครื่องใช้ไม้สอย สิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน ผลจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่ในด้านซัพพลายหรือการพึ่งกำลังแรงงานอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงดีมานด์ด้วย

ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคและวิธีการใช้จ่าย จากนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า คนที่จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอาจจะให้ความสำคัญในการออมมากขึ้นและต้องเตรียมความพร้อมมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ฉะนั้น ธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งที่จริงแล้วอาจมองได้ว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง ในอนาคตอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศอาจไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เน้นศักยภาพในการผลิตอย่างเดียว แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ตรงตามความต้องการมากกว่า

ฉะนั้น ผลกระทบเชิงบวกก็คือจะมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้สูงอายุขยายตัวมากขึ้น ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัด เพราะผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันจะไม่ค่อยนิยมออกจากบ้าน แต่ในอนาคตรูปแบบการใช้ชีวิตจะต้องเปลี่ยนไป

ถ้าเรามองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาส และมองภาพใหญ่ของตลาดทั้งอาเซียน จะเห็นว่าเราเป็นสังคมสูงวัยอันดับที่ 2 ซึ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และสามารถเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคได้ ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่มีโอกาสความเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าบางประเทศจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเราเยอะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนระดับล่าง แต่เป็นคนระดับกลางและระดับบน เราก็สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่เน้นเฉพาะกลุ่มนี้ได้ ฉะนั้น โอกาสในทางธุรกิจจึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ แน่นอนว่าการเป็นสังคมสูงวัยย่อมส่งผลกระทบกับเรา แต่ผมคิดว่าเราต้องมองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาส

หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มขยับตัวในเรื่องนี้บ้างหรือยัง

ขณะนี้มีหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ได้พยายามดึงเอาผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องผู้สูงอายุ เพื่อสร้างให้เกิดมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และที่ผ่านมาผู้ประกอบการเองก็เน้นการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ยุโรป เพราะมีกำลังซื้อสูง ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่เราจะสามารถส่งออกไปยังกลุ่มเป้าหมายในประเทศเพื่อนบ้านที่มีกำลังซื้อได้ ไม่ต่างกับสินค้าหลายๆ แบรนด์ของไทยที่ได้รับการยอมรับในประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้น ผมคิดว่านี่คือโอกาสสำคัญที่เราต้องคว้าไว้

อีกเรื่องหนึ่ง ผมเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่างว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการของญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างมาก เพื่อมาดูลู่ทางว่าจะเข้ามาทำอะไรได้บ้างในทางธุรกิจ เพราะเขามีองค์ความรู้ต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเพื่อผู้สูงอายุ สถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งวิธีการดูแลผู้สูงอายุ บางเรื่องเขาก็พยายามขายไอเดียให้กับเรา บางเรื่องก็มาในเชิงธุรกิจ บางเรื่องก็เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ฉะนั้น แสดงว่าญี่ปุ่นเขาเห็นช่องทางในตลาดของเรา และผู้ประกอบการของเราก็มีโอกาสอยู่ แต่ถ้าเราเองมองไม่เห็นก็จะเสียโอกาสนั้นไป

จริงๆ แล้วยังมีอุตสาหกรรมที่จะตามน้ำมาอีกเยอะเลย ไม่ว่าเรื่องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัย การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าทุกอย่างเอื้อต่อผู้สูงอายุแล้วก็เท่ากับเอื้อต่อทุกๆ คน แล้วถ้าเรามองภาพที่ใหญ่กว่านั้น เช่น เปลี่ยนแลนด์สเคปของเมืองให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุมากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างเมืองให้น่าอยู่ไปด้วย ถือเป็นสิ่งที่สาธารณชนทั้งหมดได้ประโยชน์ ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

ลองนึกภาพว่า ถ้าผู้สูงอายุคนหนึ่งจู่ๆ หกล้ม นั่นหมายความว่ารายจ่ายสำหรับเขาและครอบครัวจะตามมาอย่างมหาศาล คือไม่ใช่แค่ล้มแล้วไปรักษาให้หายก็จบ แต่ยังมีต้นทุนในการดูแล การประคับประคอง ฉะนั้น ถ้าเราปรับสภาพบ้านเมืองให้เอื้อต่อผู้สูงอายุก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนทั้งหมด และยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย ผมจึงคิดว่าในแง่เศรษฐกิจมหภาคยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ

ถ้าเทียบระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ภาคส่วนไหนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

กระทบมากที่สุดน่าจะเป็นภาคเกษตรกับภาคบริการ แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาจเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนได้ สำหรับภาคเกษตรอาจต้องปรับตัวให้เป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง คือการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ส่วนภาคบริการหลายอย่างก็น่ากังวล เพราะไม่สามารถเอาเครื่องจักรเข้ามาแทนได้ ทั้งท่องเที่ยว สุขภาพ สันทนาการ ซึ่งต้องใช้คนทั้งนั้น ขณะเดียวกัน นับวันจำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการก็จะเพิ่มมากขึ้น

สังคมสูงวัยส่งผลกระทบโดยตรงต่อ GDP ด้วยหรือไม่

ลำพังผลกระทบจากสังคมสูงวัยต่อ GDP อาจไม่ได้เยอะมาก เพราะเป็นเรื่องของการแก่ตัวลงของแรงงาน และแรงงานบางส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งแต่ละปีก็ไม่ได้มากนัก แต่ถ้ายิ่งสะสมไปเรื่อยๆ ในระยะยาวก็จะกระทบหนักขึ้น ยกเว้นว่าเราจะสามารถทดแทนด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยี แต่ประเด็นก็คือ ถึงอย่างไรเราก็ต้องพยายามดึงคนให้ทำงานยาวขึ้น เพราะในอนาคตจะเกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงทางการเงินตามมาอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ต่อให้มีการขยายอายุงานเท่าไหร่ก็ตาม ถ้ามองในแง่ GDP ท้ายที่สุดก็อาจไม่ได้ช่วยในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจอะไรมากนัก เมื่อเทียบกับการลงทุนใช้เครื่องจักร ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม

 

01-free
หนังสือ ชาญชรา ก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วยความรู้และปัญญา โดย วรเวศม์ สุวรรณระดา (สกว. และ way of book, 2559)

 

ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการรับมือสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วประเทศไทยมี ‘แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ’ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ของรัฐ มีวัตถุประสงค์ที่เน้นในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นหลัก อย่างเช่นหลักประกันรายได้ยามชราภาพ การดูแลสุขภาพ การเตรียมความพร้อมของระบบต่างๆ ที่จะสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องนี้

แผนผู้สูงอายุเป็นแผนระยะยาว 20 ปี ปัจจุบันคือแผนฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ซึ่งถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยมีระบบประเมินผลและติดตามการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุ โดยจะมีการประเมินผลทุกๆ 5 ปี ว่าในแต่ละยุทธศาสตร์มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง แผนผู้สูงอายุจึงเป็นเหมือนแผนที่นำทางที่ทำให้เราไม่หลงทิศ

จะว่าไปแม้ว่าเราจะก้าวสู่สังคมสูงวัยในอัตราที่ค่อนข้างเร็ว แต่ด้วยความที่รัฐ ข้าราชการ และนักวิชาการ ได้มีการวางแผนร่วมกันมาระยะหนึ่ง ทำให้เล็งเห็นปัญหานี้ค่อนข้างชัด เรามีการทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปี และมีการคาดประมาณประชากรทุก 10 ปี ฉะนั้น จึงค่อนข้างเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

การคาดประมาณประชากรครั้งล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ใช้สำมะโนประชากรปี 2553 เป็นฐานข้อมูลเพื่อมองไปถึงสถานการณ์ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยมีการดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะนักวิชาการได้เข้ามามีบทบาทในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ตัวผมเองมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านการคลัง ที่มหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปี 2534-2546 ซึ่งนักการคลังหรือนักเศรษฐศาสตร์ที่ญี่ปุ่นในยุคนั้นเขาให้ความสนใจเรื่องสังคมสูงวัยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครทำวิจัยเรื่องอะไรเขาก็มักหยิบยกเรื่องสังคมสูงวัยมาเป็นประเด็นในการศึกษา ฉะนั้น ผมจึงพอมองเห็นว่าในสังคมที่เขากำลังประสบปัญหานี้แบบซีเรียส เขามีประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งอาจไม่ได้เหมือนกับบ้านเราทุกเรื่อง เพราะคนละบริบทกัน

ตอนที่เริ่มติดตามเรื่องนี้ ผมเองไม่ได้จับประเด็นสังคมสูงวัยโดยตรง แต่มีเหตุให้ต้องจับงานนี้อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะตอนนั้นผมรู้สึกโมโห โมโหระบบราชการไทยที่แก้ปัญหาแบบหลงทิศหลงทาง คือสมัยนั้นกำลังมีการผลักดันเรื่องสวัสดิการชุมชน ทุกวันนี้ก็ยังผลักดันกันอยู่ ซึ่งผมเห็นด้วยกับการให้ชุมชนมีบทบาทในกรณีที่รัฐทำได้ไม่ทั่วถึงหรือทำได้ไม่ดีพอ ตอนนั้นมีชุมชนแห่งหนึ่งเขาทำกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ทำสวัสดิการบำนาญ ซึ่งก็โอเค สัจจะออมทรัพย์ก็เป็นเหมือนกับธนาคารของชุมชน เป็นการฝึกให้คนมีวินัยในการออม ถ้าออมแล้วจะปล่อยเงินกู้ให้ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร ขอแค่อย่าโกงกันก็พอ

แต่ทีนี้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งคิดทำมากกว่านั้น คือจะให้ระดมเงินจากสมาชิกชุมชนที่อยู่ในกลุ่มสัจจะวันละบาท แล้วเอาเงินนี้มาจัดสวัสดิการบำนาญ ซึ่งมันต่างกับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เวลาเขาทำสวัสดิการ เขาจะทำบนพื้นฐานของการเอากำไรจากการออม การกู้ เอาเฉพาะดอกผลมาจัดสวัสดิการ เหมือนกับสหกรณ์ทั่วไป แต่กลุ่มสัจจะวันละบาทเขาจะระดมเงินวันละบาทมาลงขันเพื่อจัดสวัสดิการ ประเด็นก็คือ พอใส่สวัสดิการบำนาญเข้าไป มันก็กลายเป็นเหมือนระบบแชร์ลูกโซ่ ใครเป็นสมาชิกก็ใส่เงินเข้าไป พอถึงเวลาแก่ตัวไปก็มีบำนาญให้จนตาย ซึ่งก็คือระบบแชร์ลูกโซ่ ตราบใดที่ยังมีคนจ่ายเงินเข้าไป คนที่แก่ก็มีสิทธิได้รับสวัสดิการ

ปรากฏว่าตอนนั้นกระทรวงหนึ่งดันไปมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี จะผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบนี้ทุกชุมชน ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งถ้าไม่มีสวัสดิการบำนาญมาเกี่ยวข้องก็คงไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเหมือนระบบประกันวันละบาท อาจจะมีคนตาย คนป่วย คนท้อง ถัวๆ กันไป แต่เรื่องบำนาญเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนเราต้องแก่กันทุกคน มันเลยต้องจ่ายเยอะ จ่ายตลอด จ่ายทุกคนที่แก่ พูดง่ายๆ คือยังไงก็เจ๊ง แทบไม่ต้องคำนวณหรือวิจัยอะไร แค่ดูกติกา ขยับปากกา เขียนกระดาษขึ้นมาแผ่นหนึ่ง รู้เลยว่าเจ๊ง ฉะนั้น การที่รัฐบอกให้ชาวบ้านทำแบบนั้นจึงเป็นอะไรที่บาปมหันต์ ณ ตอนนี้ก็ยังแข็งขืนทำกันอยู่ เพราะระบบราชการสนับสนุนว่าเป็นเรื่องดี

พอรัฐผลักดันให้ชาวบ้านทำ ก็เหมือนให้ชาวบ้านไปขี่หลังเสือ ตอนนั้นมีไม่กี่คนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ผมเองเคยทักท้วงไปว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรมันไปเร็วกว่าที่คิด และสิ่งที่เขาทำก็ไม่ต่างกับระบบบำนาญแบบหนึ่ง ขนาดที่ว่าประเทศใหญ่ๆ ยังล้มเลย หรือถ้าไม่ล้ม รัฐบาลก็ต้องเข้าไปอุ้มด้วยงบประมาณมหาศาล แล้วทำไมในพื้นที่ชุมชนเล็กๆ ซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ปิดตายที่ไม่ได้มีคนเกิดมากๆ หรือไม่ได้มีคนเข้าคนออก แล้วรัฐไปสนับสนุนให้เขาทำทำไม พูดง่ายๆ คือเอาอะไรคิด

สุดท้ายจากการที่ผมเคยอยู่ในบริบทสังคมสูงวัยที่ญี่ปุ่น ได้สัมผัสนักเศรษฐศาสตร์ที่เขาเขียนบทความตีพิมพ์ลงวารสาร พอมาเจอเรื่องแบบนี้ผมจำเป็นต้องทิ้งเส้นทางนักวิชาการสายนั้นไปเลย เพราะทนดูไม่ไหว แม้กระทั่งหน่วยงานราชการที่ได้ชื่อว่าเป็นมันสมองของชาติ มีข้าราชการเก่งๆ ยังคิดได้แค่นี้ ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่ง แต่ก็พยายามปัดฝุ่นความรู้ที่เรียนมาจากญี่ปุ่น พยายามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐมาตลอด ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ท้ายที่สุดเขาฟัง เขาหยุด เขาไม่คิดผลักดันไปทั่วประเทศแล้ว เหลือเพียงหน่วยงานราชการบางแห่งที่ยังทำกันอยู่

ผมเคยไปพูดบนเวทีแล้วผมร้องไห้น้ำตาไหล พูดกี่ทีๆ ให้หยุดก็ไม่หยุด ถ้าหน่วยงานนี้มาเชิญผมก็คงไม่ไปแล้ว พูดเป็นสิบครั้งแล้วก็ไม่หยุด เหมือนที่ท่านพุทธทาสบอกว่า ถ้าต้องสอนเรื่องเดียวกันเกินวันละ 3 ครั้ง ก็ไม่ต้องพูดแล้ว เพราะแสดงว่าไม่ฟัง

พออธิบายให้เขาเห็นผลกระทบแบบนี้แล้ว เขายังไม่เข้าใจอีกหรือ

เขาบอกว่ารัฐควรเข้าไปสนับสนุน ซึ่งถ้ารัฐสนับสนุนมันก็ไม่ใช่บำนาญของชุมชนแล้ว เลยเป็นที่มาที่ผมต้องเข้ามาบุกทำวิจัยเรื่องนี้ พอผมเห็นประเด็นนี้แล้วก็พยายามดีไซน์งานของตัวเองว่า เสร็จจากเรื่องนี้แล้วจะทำเรื่องอะไรต่อ เพื่อให้เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อกันได้

(อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มต่อได้ในหนังสือ ‘ชาญชรา’)

……….

ตีพิมพ์: หนังสือ ‘ชาญชรา: ก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วยความรู้และปัญญา’ โดย วรเวศม์ สุวรรณระดา (สกว., 2559)