รายงาน: ประสบการณ์การทำงานเรื่องกลไกต้านคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ จากคณะวิจัย SIAM Lab

ปัญหาคอร์รัปชันอยู่คู่สังคมไทยมานาน มาตรการหลายรูปแบบถูกนำมาใช้แก้ปัญหา แต่เมื่อมองให้ชัดขึ้น จะพบว่า ปัญหาคอร์รัปชันไม่อาจใช้วิธีการแบบ one size fits all ที่เป็นสูตรสำเร็จจากส่วนกลางได้ต่อไป

ในสภาพสังคมที่มีความแตกต่างของพื้นที่ ทรัพยากร และประชากร ตอนนี้ ทำให้การหยิบปัญหาขึ้นมาแก้ไขต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการลงไปศึกษาคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ ให้เห็นรูปแบบเฉพาะตัว เพื่อแก้ปัญหาได้ถูกจุด

จากงาน หลากมิติคอร์รัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิจัย SIAM Lab ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการลงพื้นที่ศึกษาคอร์รัปชันใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา และน่าน ว่าแต่ละเมืองมีความแตกต่างกันอย่างไร และเห็นปัญหาอะไรที่ซ่อนอยู่จากธรรมชาติของแต่ละพื้นที่

ล่าสุดในงาน Thailand Research Expo 2018 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นักวิจัยจาก SIAM Lab เข้าร่วมเสวนาว่าเรื่อง ‘ประสบการณ์การทำงานเรื่องกลไกต้านคอร์รัปชันเชิงพื้นที่’ ขยายประเด็นจากครั้งที่แล้วไปสู่เรื่องธรรมาภิบาลและการออกแบบกลไกในเชิงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ฉายภาพว่าลักษณะพื้นที่ส่งผลต่อความเข้าใจของคนในพื้นที่อย่างไร  วัฒนธรรม โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองส่งผลต่อการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่อย่างไรบ้าง ช่องทางการร้องเรียนเปิดกว้างแค่ไหน การตอบรับจากหน่วยงานรัฐเป็นแบบใด และท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาเจาะจงลงไปเฉพาะพื้นที่ มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด

ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ปกรณ์สิทธิ ฐานา วิจัยพื้นที่กรุงเทพมหานคร จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ วิจัยพื้นที่นครราชสีมา และ นิชาภัทร ไม้งาม วิจัยพื้นที่จังหวัดน่าน ดำเนินรายการโดย อดิศักดิ์ สายประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการ

เบื้องต้น ผู้วิจัยย้อนฉายภาพให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ ดังนี้

กรุงเทพมหานคร เป็นภาพแทนชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ธรรมชาติของชุมชนกรุงเทพฯ มีคนจากหลายแหล่งมารวมกัน การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจึงเป็นไปได้ยาก ทั้งจากวิถีชีวิตที่ไม่ตรงกัน และปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลที่ทำให้คนในชุมชนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลหรือเข้าไปยุ่งในการตรวจสอบคอร์รัปชัน

นครราชสีมา เป็นภาพแทนชุมชนกึ่งชนบท – กึ่งเมือง มีปัญหาในเรื่องภูมิศาสตร์ ด้วยระยะทางที่ห่างกันมากของแต่ละอำเภอ ทำให้มีการรวมกลุ่มของภาคประชาชนน้อย ที่น่าสนใจคือ เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่ จึงมีงบประมาณมาลงเยอะ ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนสูง เมื่อขัดผลประโยชน์กันขึ้น กลุ่มทุนมักจะเข้าไปแจ้งเบาะแสคอร์รัปชันให้หน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบคู่แข่ง

น่าน เป็นภาพแทนสังคมชนบท ผู้คนอยู่กันเป็นชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับคอร์รัปชันน้อย เพราะเมื่อมีงบประมาณจากภายนอกหรือรัฐส่วนกลางเข้ามาในชุมชน กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมากพอ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ไว้ใจและเป็นกังวล เพราะส่วนมากเป็นโครงการเกี่ยวกับธรรมชาติและทรัพยากรในชุมชน

 

 

 

สถานการณ์ความไม่โปร่งใส กับการรับรู้ของคนในพื้นที่

 

ปกรณ์สิทธิ ฐานา ผู้วิจัยพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การรับรู้ของผู้คนนั้นมีสองด้าน  หนึ่ง ประชาชนรู้ว่ามีการโกงเกิดขึ้น เช่น เงินจากรัฐบาลไม่ได้นำมาพัฒนาชุมชนจริงๆ แต่เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของคนที่มีอำนาจจัดการเงิน ขณะเดียวกัน การโกงในลักษณะนี้ก็อาจเกิดขึ้นจากระเบียบของราชการที่เอื้อให้เกิดความทุจริตอยู่แล้ว เช่น เขียนใบเสร็จตามจริง แต่ไม่สามารถเบิกได้

สอง ผู้คนไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมากนัก และไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง การให้ข่าวสารจึงไม่แน่นอนชัดเจน ไม่เป็นกระบวนการ จนทำให้ความเข้าใจต่อปัญหาไม่ตรงกับความจริงเท่าใดนัก

ส่วนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ผู้วิจัยมองว่า เหตุการณ์คอร์รัปชันค่อนข้างจะสอดคล้องกับการรับรู้ของประชาชน โดยเฉพาะคดีที่เคยเป็นข่าว เช่น โครงการสร้างสนามฟุตซอล หรือโครงการขุดลอกคลอง ฯลฯ ซึ่งการทุจริตผ่านการจัดซื้อจัดจ้างยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีกลุ่มทุนที่แบ่งผลประโยชน์กับนักการเมืองท้องถิ่นอยู่

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า มีกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นใหม่พยายามเปลี่ยนแปลง โดยแยกตัวออกจากนักการเมืองระดับประเทศ แล้วรวมกลุ่มกับภาคประชาสังคม ทำให้การต่อรองอำนาจไม่เป็นไปอย่างง่ายดายเหมือนเดิม และเริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น

ส่วนพื้นที่ภาพแทนชนบทอย่างจังหวัดน่าน นิชาภัทร ไม้งาม เน้นประเด็นเรื่องคอร์รัปชันเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของพื้นที่ เช่น งบปลูกป่า การทำแนวกันไฟ หรือขุดลอกลำน้ำ ฯลฯ ส่วนมากเป็นงบประมาณที่เข้ามาจากรัฐบาลส่วนกลาง เป็นงบจากภายนอกชุมชน ส่งผลให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลน้อย ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

กลไกหรือช่องทางร้องเรียนคอร์รัปชันต่อภาครัฐของคนในชุมชน และการตอบรับจากหน่วยงานตรวจสอบ

 

ในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีการแบ่งชุมชนออกเป็น 3 ระดับตามความเข้มแข็ง ซึ่งส่งผลต่อลักษณะการร้องเรียนของคนในชุมชน (1) ชุมชนเข้มแข็งภายใน มักใช้ผู้นำชุมชนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา (2) ชุมชนเข้มแข็งน้อยลงมา ใช้ระบบเรียกประชุมคณะกรรมการชุมชน (3) ชุมชนเข้มแข็งน้อย ไม่พึ่งพิงกลไกชุมชน แต่ใช้ตำรวจแก้ไขปัญหา ต่างฝ่ายต่างแจ้งความ ติดตามคดีเอง

การตอบสนองต่อคำร้องเรียนของชุมชนที่เข้มแข็งจะรวดเร็วกว่าชุมชนที่ไม่เข้มแข็ง เมื่อเป็นปัญหาส่วนร่วมที่ใช้กลไกภายในแก้ไข จะส่งผลต่อชุมชนในวงกว้างมากกว่า

ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างนครราชสีมา มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า สถิติการร้องเรียนคอร์รัปชันต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของจังหวัด ตั้งแต่ปี 2555-2559 มีคดีร้องเรียนประมาณ 471 คดี มากที่สุดในประเทศไทย สาเหตุมาจาก มีกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้การตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามเป็นไปอย่างดุเดือด รวมทั้งประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยคดีที่ร้องเรียนไปจำนวนมาก แต่กำลังคนของ ป.ป.ช. มีไม่เพียงพอ จึงเกิดความล่าช้าในการทำคดี การจะผลักดันให้คดีรวดเร็วขึ้นนั้น ต้องใช้สื่อเป็นตัวช่วยดึงความสนใจของคนในสังคม ดังนั้น ความรวดเร็วของการดำเนินคดีขึ้นอยู่กับว่าเป็นที่สนใจของสังคมแค่ไหน

ขณะที่ชุมชนเกษตรกรรมแบบจังหวัดน่าน ก็ใช้เครื่องมือทั่วไปที่มีในจังหวัด เช่น ใช้ ป.ป.ช. จังหวัด หรือ ศูนย์ดำรงธรรม เมื่อไหร่ที่ชาวบ้านรู้สึกไม่ชอบมาพากลกับโครงการที่เข้ามาจากภายนอก จะเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลศึกษาผลกระทบแล้วยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ นอกจากนี้ยังใช้ช่องทางสื่อสารผ่านสื่อมวลชนที่มาทำข่าว เพื่อให้เสียงกระจายไปได้มากขึ้น ทั้งยังเริ่มมีการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันของคนในชุมชน

โดยภาพรวมของน่าน ป.ป.ช. จังหวัด ค่อนข้างเข้าใจปัญหา และเข้ามาดูถึงในพื้นที่ ไม่ได้นิ่งเฉย ยังมีกลไกเข้ามาช่วยดูแลอยู่

 

การตื่นตัวของคนในพื้นที่ และข้อควรระวังในการร้องเรียนตรวจสอบคอร์รัปชัน

 

ด้วยความที่คนในกรุงเทพฯ มีวิถีชีวิตต่างกัน ทำให้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนั้นมีน้อย จึงอาจยังไม่เห็นการตื่นตัวหรือเคลื่อนไหวมากนัก ปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นคือ ข่าวที่สื่อสารกันในชุมชนมักจะเป็นไปในลักษณะข่าวลือ แต่เมื่อเริ่มมีการเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ คนในชุมชนเริ่มเข้ามามองปัญหาร่วมกัน และรับรู้ปัญหาได้ตรงกันมากขึ้น

ขณะที่พื้นที่นครราชสีมา ภาคประชาสังคมค่อนข้างตื่นตัวต่อคอร์รัปชันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นคือ มีการร่วมมือจากหลายพื้นที่มากขึ้น เช่น เขตชนบทกับเมือง โดยแก้อุปสรรคเรื่องระยะทางด้วยการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อย่นระยะเวลาส่งต่อข้อมูลข่าวสาร

ส่วนในพื้นที่ที่รวมกลุ่มกันเป็นชุมชนของน่าน สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ชาวบ้านยังมองว่าการเข้าไปต่อต้านคอร์รัปชันอาจจะเป็นการสร้างความแปลกแยก งานที่ผู้วิจัยทำคือลงพื้นที่ให้ความรู้ เพื่อดึงแนวร่วมชาวบ้านให้เข้ามามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความตื่นตัว หรือรับรู้สิทธิของคนในชุมชนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังติดอุปสรรคในเรื่องความปลอดภัยของการร้องเรียน หลายครั้งที่ไปขัดผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพล การมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ และอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ แรงจูงใจในการร้องเรียนไม่ใช่เงินรางวัล แต่คือ ปัญหาได้รับการแก้อย่างแท้จริงมากกว่า

ประชาชนหลายคนมองว่า บางโครงการสร้างความเสียหายไปเยอะมากแล้ว ใช้เวลาในการตรวจสอบนานมากก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ดังนั้นการฟ้องร้องจึงไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาทุจริตได้จริง หลายครั้งที่คนในพื้นที่ไม่มีความหวังว่า การส่งฟ้องแล้วจะมีการดำเนินคดีจริงๆ จนไม่อยากเข้ามาให้ข้อมูลหรือยุ่งเกี่ยวใดๆ กับการคอร์รัปชัน

 

ความหวังในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ในสังคมไทย

 

ปกรณ์สิทธิ ฐานา ผู้วิจัยพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชูประเด็นเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ที่จะเป็นความหวังในการช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันในชุมชนได้

ผู้วิจัยแบ่งองค์ประกอบชุมชนเข้มแข็งเป็น 3 อย่าง (1) ผู้นำในชุมชนต้องไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองอย่างเดียว แต่ต้องมีการกระจายอำนาจไปให้ผู้นำโดยธรรมชาติ ต้องแก้ปัญหาจากการร่วมมือของผู้นำหลายฝ่าย (2) มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้คนรู้จักมักคุ้นกันมากขึ้น (3) ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก เช่น หน่วยวิจัย มหาวิทยาลัย มูลนิธิ ฯลฯ ให้ความรู้เรื่องการสร้างระบบบัญชี สร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อให้เกิดกติกาที่นำไปใช้ในอนาคตได้ เกิดการรับรู้และยอมรับร่วมกันได้

ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในชุมชนเข้มแข็งหลายแห่งในกรุงเทพฯ เป็นทางออกที่มีคนทำสำเร็จ และน่าจะเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไปได้

จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ผู้วิจัยพื้นที่นครราชสีมา ก็เห็นความหวังในพื้นที่นี้พอสมควร เพราะผู้คนมีความตื่นตัวมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือการเข้าถึงข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ง่ายขึ้น มีการเปิดเผยเรื่องการยื่นซองประมูลมากขึ้น ให้คนทั่วไปเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่าแค่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเดิมเข้ามาตรวจสอบทุกโครงการ น่าจะเป็นกลไกการป้องกันคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ที่สำคัญ

เช่นเดียวกันกับที่น่าน นิชาภัทร ไม้งาม มองว่า ควรมีการเปิดเผยข้อมูลโครงการที่เข้าไปทำเกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่มากขึ้น เพราะเชื่อว่า ข้อมูลข่าวสารจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและเปิดพื้นที่รวมกลุ่มมากขึ้น ผู้วิจัยมองว่า การต่อสู้ในพื้นที่ยังสำคัญ เพราะชาวบ้านเข้าใจปัญหาบ้านตัวเองดีที่สุด ชาวบ้านต้องตระหนักถึงปัญหาก่อน แล้วค่อยกระจายไปสู่สังคมเพื่อให้ให้คนภายนอกเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจนเกิดการสนับสนุนเป็นพลังสังคมขึ้นมา

โดยสรุป การจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในพื้นที่ได้ ต้องมีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนมากขึ้น ถูกต้อง เที่ยงตรง และต้องมีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อรับรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้การตอบสนองจากภาครัฐก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาให้ทันกับปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นด้วย