ข่าวรอบรั้ว: เบื้องหลังคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ภารกิจจับท้องทะเล เทลงหม้อหมูกระทะ

Eyedropper Fill เรื่อง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลายคนคงผ่านตากับคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ไวรัลวิดีโอที่เล่าเรื่องใหญ่ไกลตัวอย่าง ‘ทรัพยากรในท้องทะเล’ ผ่านเรื่องง่ายใกล้ตัวอย่าง ‘บุฟเฟต์หมูกระทะ’  บนหน้านิวส์ฟีดกันมาบ้าง

 

 

คลิปวิดีโอนี้เป็นการจับมือกันของทีมจัดการความรู้จากเว็บไซต์ ‘Knowledge – ฟาร์มรู้สู่สังคม’ โดยสำนักงานกองทุนสนับสุนนการวิจัย (สกว.) The101Percent และทีมสร้างสรรค์จาก Eye On Field สตูดิโอน้องใหม่บ้านเดียวกับ Eyedropper Fill ฟอร์มทีมขึ้นเพื่อลุยงานสื่อสารความรู้หลากรูปแบบ พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ จุดประสงค์ของการทำคลิปนี้คือ นำความรู้ที่เก็บอยู่ในเล่มวิจัยหนาหนัก ออกไปโบยบิน เข้าหูเข้าตาคนทั่วไป

หลังคลิปวิดีโอส่งถึงคนตามเป้าหมาย ทีมงานของเราไล่ติดตามความคิดเห็นของคนดูกว่า 90,000 วิว ด้วยใจจดจ่อ แน่นอนว่ายอดไลก์ แชร์ และความคิดเห็นด้านบวกทำให้พวกเราทีมงานชื่นใจและหายเหนื่อย แต่พร้อมกัน ยังมีหลายคนที่ทัก ทวง ถาม ทั้งผ่านคอมเมนต์และทักทายมาแบบส่วนตัว อยากให้เราเล่าเบื้องหลังของงานนี้ให้ฟัง ตั้งแต่เริ่มต้นไอเดีย จนเกิดเป็นคลิปยาว 7 นาที มันมีกระบวนการยังไงบ้าง แชร์ให้ฟังที!

สัปดาห์นี้เราจึงขอยืมพื้นที่คอลัมน์ Third Eye View – พื้นที่ที่พวกเราเคยใช้เขียนถึงงานของคนอื่นผ่านมุมมองสายตาบุคคลที่สาม – มาเล่าเรื่องราวจากมุมมองบุคคลที่ 1 อย่างกระบวนการเบื้องหลังคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ของเราเองกันบ้าง

 

จานที่ 1 : เล่าเรื่องใหญ่ ให้คีบง่ายด้วยปลายตะเกียบ

 

หลังกดปุ่มรับสายจากทีมงาน 101 เสียงที่คุ้นเคยของพี่จุง (สมคิด พุทธศรี – ผู้จัดการโครงการ Knowlede Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม และบรรณาธิการ the101.world) ปลายสายบอกว่า อยากให้เราช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ให้สนุกและเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป ก่อนจะถามว่า “งบเท่าไหร่” หรือ “ปล่อยเมื่อไหร่” เราสวนกลับไปทันทีด้วยความงงว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน มันคืออะไรครับพี่? เกิดมายี่สิบกว่าปียังไม่เคยได้ยิน”

ตัดภาพไป ณ ออฟฟิศ The 101 Percent  กระดาษเอสี่ปึ๊งใหญ่จั่วหัว Blue Economy ก็วางอยู่ตรงหน้า เราเปิดอ่านไล่ไปทีละหน้า พร้อมเสียงของพี่จุงที่เล่าคลอไปด้วย ภาพของเศรษฐกิจสีน้ำเงินก็ค่อยๆ ก่อร่างขึ้นในหัว

 

“คืองี้ครับ ท้องทะเลเนี่เป็นที่ที่มนุษย์ยังค้นคว้าได้ไม่หมดใช่มั้ยครับ เราใช้ชีวิตอยู่บนบก พอพูดถึงคำว่าทรัพยากร คนส่วนใหญ่ก็เลยนึกถึงแต่ทรัพยากรบนบก เพราะเป็นที่ที่เราคุ้นเคยกัน เทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็พัฒนาสำหรับจัดการกับทรัพยากรบนบกซะส่วนใหญ่

แต่ว่าตอนนี้เนี่ย ทั้งโลกเค้ากำลังเริ่มสนใจทรัพยากรที่อยู่ในทะเลกันครับ เหตุผลแรกเพราะทะเลมันใหญ่มาก ทรัพยากรในนั้นตีเป็นเงินได้ประมาณ 24 ล้านล้านบาทเลยครับ บวกกับตอนนี้เทคโนโลยีมันสามารถท้าทายข้อจำกัดได้แทบทุกอย่าง  ภาคเศรษฐกิจเลยยิ่งสนใจกันมาก เพราะน่านน้ำสากลมันไม่มีใครเป็นเจ้าของครับ ถ้าประเทศไหนเข้าไปครอบครองได้ เท่ากับได้ครอบครองมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาลไปเลย

นี่แหละครับ เราเลยต้องเล่าเรื่องนี้ให้คนทั่วไปรู้สึกว่ามันสำคัญ เพราะมันคือโอกาสของประเทศชายฝั่งอย่างเรา และที่สำคัญกว่าเรื่องของโอกาส ก็คือเราจะทำให้คนเกิดสำนึกที่ใช้ทรัพยากรพวกนี้อย่างพอดีได้ยังไง

แต่ปัญหาที่ทีมเรายังคิดไม่ออกก็คือ เราจะเล่าให้คนทั่วไปฟังยังไงให้มันน่าสนใจนี่แหละ”

 

เศรษฐกิจโลก ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ประมง อุตสาหกรรม การเดินเรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ แต่ละคีย์เวิร์ดจากพี่จุงเล่า ช่างใหญ่โตเกินมนุษย์มนาอย่างเราไปหลายช่วงตัว คนตัวเล็กผู้ใช้ชีวิตบนฟุตปาธและร้านข้าวแกงอย่างเรา จะเข้าใจเรื่องซับซ้อนอย่างเศรษฐกิจโลก หรือเงินล้านล้านดอลลาร์ได้ยังไงกันหนอ

 

ภาพ Mind Mapping

 

แน่นอน หากเรามองเรื่อง ‘ทรัพยากร’ ด้วยมุมกว้างและสูงแบบ bird-eye view มันอาจฟังดูยากและไกลตัว พูดว่า กุ้งแสนตัว ปลาล้านตัว น้ำมันล้านลิตร ใครจะไปนึกออก แต่หากเราลองเปลี่ยนมุม เล่าทรัพยากรผ่าน ‘มุมมองระดับสายตา’ อย่างข้าวในจานหรืออาหารที่เรากินทุกวัน อันนี้มีรับรองว่าใครๆ ก็คิดออก และรู้สึกร่วมได้ไม่ยาก

‘อาหาร’ คือสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปอย่างเรา เชื่อมโยงถึงคำว่า ‘ทรัพยากร’ ได้มากขึ้น คำถามต่อมาคืออาหารแบบไหนจะทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ได้ทันที เราเลยกลับมามองเรื่องของเศรษฐกิจสีน้ำเงินอีกครั้ง จากประโยคที่พี่จุงเล่าว่า คนเราสนใจทรัพยากรบนบก แต่น้ำที่กว้างใหญ่และมีทรัพยากรเหมือนกันกลับไม่มีใครสนใจ แล้วอาหารแบบไหนกัน ที่มีทั้ง ‘บก’ และ ‘น้ำ’ ในจานเดียว ..

ภาพหมูกระทะ

 

จานที่ 2 : รีเสิร์ชหมูกระทะ ผ่านประสบการณ์ตรง

 

พอทุกคนพยักหน้าตรงกันว่าเราจะเล่าเรื่องนี้ผ่าน ‘หมูกระทะ’ สิ่งที่เราทำทันทีก็คือ ลองไปกินบุฟเฟต์หมูกระทะจริงๆ ดู เพื่อหาไอเดียในการเล่าเรื่อง (เป็นข้ออ้าง จริงๆ คือหิว!)

สังเกตว่าเวลาเรากินบุฟเฟต์หมูกระทะ ช่วงแรกของการกินจะเต็มไปด้วยความรู้สึกประหนึ่งเป็นพระเจ้า เรารู้สึกว่าเรากินได้ไม่จำกัด หมู ไก่ กุ้ง หมึก อาหารดิบที่วางอยู่บนโต๊ะมันมหาศาลละลานตาไปหมด วางรอเยอะขนาดนี้ บางทีเรายังสั่งเบิ้ลมาอีกสอง แต่กลับกัน เมื่อเราเริ่มอิ่ม สมองเริ่มช้า เราถึงเริ่มคิด ปกติกินข้าวจานเดียวก็อิ่มได้นี่ เราจะเขมือบกันขนาดนี้ไปทำไม ขณะกำลังคิดอยู่นี้ หม้อหมูกระทะสวยเช้งในตอนแรกก็เริ่มมอด เริ่มมีคราบ ดูไม่น่ากิน จะว่าไปแล้ว ความรู้สึกเดียวกันนี้ก็ไม่ต่างกันกับเวลาที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรกันแบบไม่ลืมหูลืมตา จนกระทั่งหันกลับไปอีกทีและเห็นว่าทรัพยากรที่มีมันเริ่มร่อยหรอนั่นแหละจึงคิดได้

และสิ่งที่เราได้กลับมาจากหมูกระทะมื้อนั้น คือ อารมณ์ของเส้นเรื่อง

ภาพการ์ตูนช่อง

 

จาก Mind Mapping ที่สรุปเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่ เรานำเนื้อหาเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมต่างๆ ที่บันทึกได้จากโต๊ะหมูกระทะ วิธีการของทีมเราคือการวาดการ์ตูนช่อง เพราะเป็นสิ่งที่สามารถโยงข้อมูล เข้ากับภาพได้เข้าใจง่ายที่สุด ก่อนที่เรื่องราวในกระดาษสี่แผ่นนี้ จะถูกแปลงให้กลายเป็น ‘Storyboard’ – คัมภีร์สำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพหนังทั้งเรื่อง

ภาพ Storyboard

 

จานที่ 3 : บ้านๆ เถื่อนๆ เหมือนเพื่อนคุยกัน

 

ในเมื่อวิธีการเล่าเรื่องถูกย่อยให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเช่นโต๊ะหมูกระทะแล้ว น้ำเสียงของการเล่าก็ควรจะ ‘บ้านๆ’ ตามไปด้วย จากสคริปต์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลหนัก คำศัพท์ยาก เราจึงต้องแปลงมันให้อยู่ในภาษา และน้ำเสียงการเล่าที่มันๆ เถื่อนๆ เหมือนบทสนทนาขณะกำลังนั่งกินหมูกระทะกับเพื่อน

เหตุการณ์บนโต๊ะหมูกระทะสามารถเล่าไอเดียใหญ่ของเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้ก็จริง แต่ข้อมูลจำเพาะบางอย่างก็ไม่สามารถทำให้เห็นเป็นภาพได้ เราจึงต้องหาตัวช่วยเพื่อ ‘ขยายความ’ ข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น

‘แอนิเมชั่น’ ดูเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์ เพราะมันสามารถเติมแต่งสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือเกินจริงไปจากโต๊ะหมูกะให้เห็นภาพได้ เช่น เราจะเล่าปากเปล่าว่า ‘ส่วนเตาปิ้งคือแผ่นดิน และส่วนน้ำซุปคือทะเล’ บางคนอาจไม่เห็นภาพ แต่เมื่อมีแอนิเมชั่น เราสามารถเติมแต่งส่วนเตาปิ้งให้เห็นเป็นภาพท้องนาและผืนดินแบบชัดเจน ในขณะที่ส่วนหม้อน้ำซุป เราก็สามารถขยายให้กลายเป็นมหาสมุทรที่มีฝูงปลาแหวกว่ายได้ หรือแม้กระทั่งการเล่าสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างการ ‘เขมือบ’ เมื่อมีแอนิเมชั่น เราสามารถเล่าโดยเปรียบเทียบผ่านคาแรคเตอร์ เช่น ซีนหุ่นยนต์ดูดทรัพยากร

 

ภาพมาร์คแอนิเมชั่นในสตอรี่บอร์ด

 

เนื่องจากงานนี้มีงบประมาณที่จำกัด ในการถ่ายทำจึงจำเป็นต้องรวบรัดให้อยู่ภายในหนึ่งวัน สิ่งที่เราทำได้เพื่อ ‘สร้างความชัวร์’ ให้ตัวเองก็คือ จำลองเตาหมูกระทะขึ้นมาจากอุปกรณ์ที่มีในห้องครัว  ปริ้นต์ภาพเนื้อสัตว์ในเตาออกมาด้วยกระดาษ เพื่อซ้อมถ่ายทำตามสตอรี่บอร์ด นี่คือวิดีโอจริงๆ ที่เราทำกัน

 

วิดีโอ Pilot

 

ขั้นตอนนี้นอกจากเราจะเห็นความยากง่าย และปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในแต่ละช็อต เรายังนำฟุตเทจที่ถ่าย มาลองตัดต่อ เพื่อทำให้เห็นหนังจริง ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว ก่อนจะออกไปถ่ายจริงอีกด้วย

 

จานที่ 5 : สงครามเตาถ่าน

 

วันออกกองก็ไม่ต่างอะไรกับสงคราม ทุกอย่างที่วางแผนมาในกระดาษต้องถูกทำขึ้นจริงในสนามรบที่ชื่อว่า ‘กองถ่าย’ โชคดีที่เราได้ลองถ่ายแบบซ้อมกันมาก่อน รวมถึงได้ร่วมงานกับทีมโปรดักชั่นระดับมืออาชีพ วันถ่ายจริงจึงไม่มีปัญหาด้านการถ่ายทำมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรยากเลย

ความยากประการแรก คือ ‘การกำกับ

ตัวละครในเรื่องเพียงอย่างเดียวคือ ‘มือ’ และ ‘ตะเกียบ’ ในการถ่ายหนังปกติ การกำกับให้นักแสดงทำท่าทาง สีหน้า อารมณ์ก็ว่ายากแล้ว คราวนี้การแสดงทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับมือ เราจึงใช้เวลาพอสมควรกับการกำกับให้มือสื่อความหมายและอารมณ์ที่เราต้องการ มือยื้อแย่ง  มือรีบร้อน  มือเศร้าสลด ฯลฯ ท่าทางของมือต้องเป็นยังไง รวมถึงมือแบบไหนที่เป็นธรรมชาติราวกับเกิดขึ้นบนโต๊ะหมูกระทะจริงๆ

ความยากอีกอย่างคือ ‘อาหาร

เราไม่เคยถ่ายหนังอาหารมาก่อน จึงลืมคิดไปว่านอกเหนือจากการถ่าย เรายังต้องเผื่อเวลาในการทำอาหารของทีม Production Design เข้าไปด้วย โดยเฉพาะหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างสุกดิบ แถมยังต้องเมคโอเวอร์ให้กระทะอยู่ในสภาพที่ต่างกัน ตอนแรกสวยเช้ง ตอนหลังไหม้เกรียม ล้วนเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา

 

วิดีโอวันออกกอง

 

แม้การถ่ายทำจะเลทไปจากที่คาด แต่ก็ผ่านมาได้แบบสวยงาม ได้ทุกช็อตตามต้องการ และอิ่มแปล้ ด้วยเนื้อในเตาที่ปลดระวางจากการเป็นพร็อพ กลายเป็นอาหารของคนในทีม

 

จานที่ 6 : เนื้อสุก ชุบน้ำจิ้ม เตรียมคีบเข้าปาก

 

ช่วงเวลาของการตัดต่อไม่ได้โหดหิน เพราะสำหรับงานนี้ทุกอย่างถูกลำดับไว้ตั้งแต่สตอรี่บอร์ด ภารกิจสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้เนื้อเรื่องแต่ละช่วงมันเข้มข้นขึ้น

หนังเรื่องนี้แบ่งเป็นสามช่วงหลักๆ โลภ สลด และ ความหวัง คือชื่อเล่นของแต่ละช่วงที่เราเรียกกันในตอนตัดต่อ นอกจากจังหวะการตัดต่อที่จะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ในแต่ละช่วงแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ‘เสียง’

เสียงพากย์ในช่วงความโลภ เราได้แรงบันดาลใจมาจากเสียงพากย์เรือยาว หรือพากย์กีฬามันๆ เร็วและรัว เต็มไปด้วยอารมณ์ เสียงดนตรีอย่างเพลงหมอลำซิ่งก็ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความรู้สึกเมามัน โลภ เชียร์ให้กอบโกยโดยไม่เว้นจังหวะให้คนดูยั้งคิด กลับกัน ในช่วงของความสลด ทั้งเสียงเพลงและเสียงพูดจะทิ้งจังหวะความเงียบ เพื่อให้คนดูได้ใช้เวลากับความคิดมากขึ้น

นอกจากเสียงคือ ‘สี’ หากใครสังเกต จะเห็นว่าสีในทั้งสามช่วงก็ถูกปรับให้ไม่เหมือนกัน ในช่วงโลภ สีในภาพดูอร่ามเหมือนทอง เพื่อเน้นความมีมูลค่าน่าครอบครองของทรัพยากร ในขณะที่ช่วงสลด สีภาพจะค่อยๆ หม่นลงจนอาหารในจานพานไม่น่ากิน

คีบเนื้อในเตาไปเคี้ยวทันทีคงไม่อร่อย กระบวนการหลังการถ่ายทำก็เหมือนน้ำจิ้มสูตรเด็ดที่ทำให้รสชาติของหมูกระทะหม้อนี้เข้มข้น เต็มอิ่มมากขึ้น ก่อนถูกป้อนเข้าปากของคนดู

 

ดื่มน้ำตาม กินของหวาน เตรียมเก็บล้าง

 

ทั้ง 6 จาน คือกระบวนการทั้งหมดกว่าจะมาเป็นคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ที่พวกเราใช้เวลาปิ้งประมาณหนึ่งเดือนนิดๆ หม้อหมูกระทะนี้คือเป็นสนามฝึกฝนชั้นดีของเรา – คนทำ ต้องสารภาพว่าการสื่อสารความรู้จากเล่มวิจัยหนาหนักสู่คนดูวงกว้างคือเป็นเรื่องที่เราไม่ถนัดและไม่เคยทำมาก่อน หมูกระทะมื้อนี้จึงเป็นครูให้เราเรียนรู้ไปมหาศาล

ถึงตอนนี้เนื้อในเตาคงถูกป้อนเข้าปากผ่านระบบย่อยอาหารของทุกคนเรียบร้อย หวังว่าการบริโภคคลิปนี้จะทำให้ทุกคนได้รับสารอาหาร เป็นพลังงานให้ออกไปทำอะไรบางอย่างกับสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องใหญ่ เอาแค่เล็กๆ เท่าที่มือเราทำได้

 

เท่านี้คนทำอย่างเราก็อิ่มใจ แบบที่ไม่ต้องคีบอะไรกิน!

……..

 

Credit :

‘Blue Economy’

Content Produce by 101 & Eye On Field

Creative Director : Tinnawat Chankloi

Director / Editor : Krerkrit Pavichai

Assistant Director : Narasate Lucksameepong

Project Manager : Bunvithit Wilawan

Cinematographer : Phoobes Kanthiang

Ari Director : Strawberry Sherbet

Animator : Chanatip Ruangpoonwitaya , Kitja seetusanee

Sound Designer : Pansan Klongdee , Voramet Sriseangnil

Colorlist : Nakhen Puttikulangkura

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ The101.world เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ในชื่อ ตอนพิเศษ: เบื้องหลังคลิป ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ภารกิจจับท้องทะเล เทลงหม้อหมูกระทะ