รายงาน: จะโกงไหมถ้าไฟเขียว? บททดสอบในห้องทดลองวิชาโกง

“ถ้าเราคิดกับมันดีๆ เรื่องนี้อาจเป็นรากฐานของหลายๆ อย่าง”

รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยจาก SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism design Lab) กล่าวถึงการลอกข้อสอบ หนึ่งในการ ‘โกง’ ครั้งแรกของใครหลายคน

ถ้ามีโอกาส คนเราจะโกงหรือไม่และมากแค่ไหน? คือคำถามหนึ่งที่งานศึกษาของธนะพงษ์ เรื่องพฤติกรรมการโกงข้อสอบของนิสิต พยายามค้นหาคำตอบ

ธนะพงษ์ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง (Behavioral and Experimental Economics) เป็นเครื่องมือ โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 240 คนเข้าร่วมผ่านด่านวัดใจและไฟเขียวหลายจุดที่เปิดโอกาสให้โกงได้

ผลการทดลองเป็นอย่างไร ธนะพงษ์นำเสนอให้เราฟังในงาน Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 ‘จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย’ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ SIAM Lab

 

รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยจาก SIAM Lab

 

เรียนรู้กติกา : เงินทองของบาดใจ 

 

ธนะพงศ์กล่าวว่า หากเราสามารถเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างการโกงและแรงจูงใจทั้งภายในและภายนอกก็จะลดการทุจริตทางการศึกษาได้ โดยไม่ต้องใช้บทลงโทษที่รุนแรง และจะนำไปสู่ผลดีหลายด้าน เช่น นิสิตไม่รู้สึกถูกควบคุมโดยผู้คุมสอบจำนวนมาก การลดจำนวนนิสิตที่ถูกพักการเรียนหรือขอลาออกหลังการลงโทษ และอาจนำไปสู่การลดการโกงนอกมหาวิทยาลัย หรือการโกงที่สร้างความเสียหายร้ายแรงในอนาคต

“การทดลองแต่ละรอบจะมีผู้เข้าร่วมทดลอง 48 คน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ข้อสอบคือโจทย์เลข 42 ข้อ นิสิตจะได้ค่าตอบแทนตามคะแนนที่ทำได้ ทำได้เยอะก็ได้คะแนนเยอะ ถ้าผมทำได้ 10 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน ผมจะได้เงิน 100 บาท ‘เงิน’ ป็นแรงจูงใจที่นักเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองใช้กันอยู่เสมอ” ธนะพงษ์อธิบายวิธีการทดลอง

วัดใจ : เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ

 

ธนะพงษ์กล่าวว่าผู้เข้าร่วมการทดลองจะมีโอกาสโกงได้สองแบบ 1. มีสิทธิ์ตรวจข้อสอบด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีโอกาสโกหกหรือให้คะแนนตัวเองเพิ่มมากกว่าที่ควรได้ 2. ลอกเพื่อน

“ผลของการทดลองแบบโกหก เราจะดูว่ามีคนโกหกคะแนนตัวเองมากน้อยแค่ไหน จากตัวอย่างในกลุ่มมี 192 คนที่สามารถโกหกได้ เพราะเราให้สิทธิ์เขาตรวจข้อสอบตัวเอง พบว่ามี 80 คน หรือประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ให้คะแนนตัวเองมากกว่าที่เขาทำได้ คนประมาณเกือบครึ่งโกง โดยโกงประมาณ 3.2 คะแนน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 30 บาท” ธนะพงษ์อธิบายเพิ่มเติม

 

วัดใจ 2 : พวกพ้องต้องช่วยเหลือ

 

การทดลองครั้งนี้ มีกติกาก่อนเริ่มต้นการทดลอง ให้นิสิตทุกคนที่เข้าร่วมต้องชวนเพื่อนมาสมัครด้วยกัน เพื่อทดสอบได้ว่าความเป็นเพื่อนมีส่วนช่วยให้เกิดการโกงหรือไม่

ธนะพงษ์เล่าต่อว่า “เพื่อวิเคราะห์ผลของการอยู่กับเพื่อนกับการโกง การทดลองนี้รับสมัครผู้ร่วมทดลองเป็นคู่ โดยแต่ละคู่ต้องเป็นเพื่อนที่รู้จักกัน บางคู่ได้นั่งติดกัน แต่บางคู่นั่งแยกกัน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบพฤติกรรมกันได้ เราเปรียบเทียบความเหมือนของข้อสอบของเพื่อนที่นั่งติดกัน กับเพื่อนที่แยกกันนั่ง จากการทดลอง เราพบว่า เพื่อนที่นั่งติดกันจะมีข้อสอบเหมือนกันมากกว่าเพื่อนที่นั่งแยกกัน ซึ่งตีความได้ว่าน่าจะมีการลอก  การโกงโดยการลอกเพื่อนนั่งข้างๆ ซึ่งเป็นการโกงแบบหมู่คณะ ค่อนข้างสมเหตุสมผลกับสังคมไทย เพราะหลายครั้งคนไทยคิดว่าการโกงคือการช่วยเหลือกัน เด็กที่ทุจริตหลายคนเคยบอกเราว่า ในความคิดของเขา การยอมโกงถือเป็นการช่วยเพื่อน”

 

 

วัดใจ 3 : ใช้ศีลธรรมกำกับ

 

นักวิจัยจาก SIAM Lab ยกตัวอย่างงานทดลองของอเมริกาโดย  Mazar, Amir and Ariely (2008) ซึ่งทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ “บัญญัติ 10 ประการ” เพื่อทำให้คนระลึกถึงแนวคิดทางศีลธรรมและสะท้อนแนวคิดนั้นสู่ตนเองก่อนทำโจทย์เลข โดยกลุ่มตัวอย่างจะถูกกำหนดให้เขียนบัญญัติ 10 ประการ หรือชื่อหนังสือที่เคยอ่าน 10 เล่ม ซึ่งเป็นวิธีที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘Priming’  กล่าวคือ การกระตุ้นแนวคิดทางจิต (mental concept) โดยใช้สิ่งชี้นำทางอ้อม (situational cue)

ผลของการวิจัยพบว่า กลุ่มที่เขียนบัญญัติ 10 ประการมีระดับการโกงลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เขียนชื่อหนังสือ 10 เล่ม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมโดยตรง ผู้วิจัยยังได้ทดลองโดยปรับมาใช้หลักเกียรติยศ (honor code) แทนบัญญัติ 10 ประการ ซึ่งก็ได้ผลที่สอดคล้องกัน

จากผลงานวิจัยนี้สามารถสรุปได้ว่าการใช้สิ่งชี้นำทางอ้อมเพื่อกระตุ้นให้คนระลึกถึงศีลธรรมและภาพลักษณ์ที่ดีที่ตนปรารถนานั้นอาจเป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดการโกงในสังคมได้

แต่เมื่อธนะพงษ์นำหลักนี้มาประยุกต์กับนักศึกษาไทยโดยให้เขียนศีล 5 ก่อนลงมือทำข้อสอบ ปรากฏว่าได้ผลต่างออกไป

“ในการทดลองของอเมริกาทำให้เด็กโกงน้อยลง เราเลยลองกับประเทศไทย โดยมีกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเขียนศีล 5 ก่อนทำข้อสอบ เพราะหนึ่งในศีล 5 มีข้อห้ามทุจริต ห้ามโกหก เราอยากรู้ว่าจะมีผลต่อการโกงข้อสอบหรือไม่ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องเขียนศีล 5 ให้เขียนชื่อจังหวัดแทน ผลการทดลองกลับปรากฏว่ากลุ่มที่เขียนศีลห้าโกงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เขียนเสียอีก ผลสรุปคือการเขียนศีล 5 ง่ายๆ ไม่ช่วยให้การโกงลดลงในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าศาสนาห่วย แต่แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาการโกงไม่ใช่การเขียนศีล 5 โต้งๆ แต่ต้องมีวิธีละมุนละม่อมกว่านี้”

 

 

วัดใจ 4 : การแข่งขันบังคับให้เราต้องโกง

 

“การวัดผลอีกแบบหนึ่งคือการให้ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับลำดับคะแนน (ranking) ที่เขาได้ เช่น สมมติผมได้ที่ 5 ผมได้ 50 บาท แต่ถ้าได้ที่ 1 ผมจะได้ 100 บาท เพื่อดูว่าการแข่งขันทำให้คนโกงมากหรือน้อย ผลคือมีหลายคนโกง เพราะเขารู้สึกกลัวได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน” ธนะพงษ์อธิบายผลการทดลองเมื่อใช้เรื่องการแข่งขันเป็นเกณฑ์การพิจารณา

 

ผลการวิจัยเรื่องการคอร์รัปชันของ SIAM Lab มีข้อมูลหลายประการสอดคล้องกับงานศึกษาของธนะพงษ์ เช่น ในประเทศไทยนิยามการทำความดีเป็นคนละเรื่องกับการเป็นคนดี การเป็นคนดีเป็นเรื่องของความกตัญญู เป็นลูกที่น่ารักของครอบครัว เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน ส่วนการทำความดีเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละ ซึ่งบางครั้งเมื่อคนเราตัดสินใจโกงเราจะใช้นิยามทั้งสองอย่างสลับหรือทดแทนกันเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดหรือหาความชอบธรรมให้การโกง และการโกงสามารถเกิดขึ้นได้เท่าๆ กันทั้งในกลุ่มเด็กเรียนเก่งและเรียนไม่เก่ง เมื่อเด็กคิดว่าต้องเข้าสู่การแข่งขัน ฯลฯ

การโกงยังมีเรื่องที่ต้องขบคิดต่อไปอีกมากมาย การทดลองเชิงเศรษฐศาสตร์ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นในกลุ่มสังคมเล็กๆ เท่านั้น  แต่ใช่หรือไม่ว่าในกลุ่มทดลองเล็กๆ นี้ได้สะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทยได้พอสมควรทีเดียว

 


ชมคลิปวงเสวนา “หลากมิติคอร์รัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง : ประสบการณ์จากนักวิจัย”  จากงาน Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 “จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย” ได้ ที่นี่

ชมคลิปความรู้ ‘ทำไมคนไทยขี้โกง ?’ ได้ ที่นี่