รายงานสกว.: ทางเลือกการเรียนรู้ การศึกษาที่เลือกได้สำหรับเด็กนอกระบบ

จิรศักดิ์ อุดหนุน เรื่อง

เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาของไทยเรายังคงเป็นเรื่องที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี เอาแค่ชีวิตของผู้เขียนเองก็มีเพื่อนพี่น้องที่หลุดหายไปหลายคนระหว่างเส้นทางเดินในระบบการศึกษาที่ต่างคนต่างมุ่งมั่นที่จะเรียนให้จบ และเรียนต่อไปให้สำเร็จตามศักยภาพที่ตนมี บ้างก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะติด 0 ติด ร บ้างก็ต้องออกเพราะที่บ้านไม่มีเงิน บ้างก็ต้องออกเพราะเสพยาเสพติด ฯลฯ

จากการทำงานกว่าสิบห้าปีของผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และการศึกษาในพื้นที่เกือบทั่วประเทศ จากการสัมผัสและรับฟังปัญหา หรือจุดที่ตัดสินใจหันหลังให้กับระบบการศึกษาของเด็ก ๆ และเยาวชนบ้านเรา นอกจากเรื่องผลการเรียน ยาเสพติด และฐานะทางบ้าน ซึ่งมองแล้วเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดจากตัวเด็กและครอบครัวเองเป็นหลัก หากแต่แท้จริงแล้ว ยังมีเหตุผลอีกหลายเหตุผลซึ่งคนทั่วไปคงมองว่าไร้สาระอย่างการโดนกล้อนผม การโดนประจานเรื่องมาสายหรือโดดเรียน หรือแม้แต่คำด่าว่ากล่าวที่รุนแรง ก็ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กบางคนเลือกที่จะทิ้งทุกอย่างและเดินออกจากโรงเรียนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยที่สำคัญมากประการหนึ่งคือ “ครอบครัว” จากความจำเป็นของหลาย ๆ ครอบครัวที่ต้องหารายได้มาใช้จ่ายทำให้หลาย ๆ ครอบครัวไม่มีแม้แต่เวลาที่จะพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวที่ลูกต้องพบเจอในแต่ละวัน ด้วยเพียงความคาดหวังให้การดูแลลูกเป็นภาระและหน้าที่ของโรงเรียน ลูกตื่นมาไม่เจอพ่อแม่ กลับบ้านไม่พบเจอใคร สุดท้ายเมื่อถึงวันที่เด็กทนไม่ไหวและเลือกหันหลังให้โรงเรียนและเข้าหากลุ่มเพื่อน เมื่อนั้น พ่อแม่จะพูดอะไรก็ไม่มีผลเสียแล้ว เพราะที่ผ่านมา “ครอบครัว” ไม่ได้เคยทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่สักที แล้วเมื่อเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วเขาจะไปไหน เราจะพาเขาเดินไปข้างหน้าได้อย่างไรในเมื่อการศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตเด็ก ๆ เหล่านี้…

ข้อค้นพบจากงานชิ้นหนึ่งคือการวิจัยศึกษาสภาวการณ์เด็กและเยาวชนนอกระบบชายแดนใต้เมื่อปี พ.ศ. 2558 – 2559 ภายใต้งาน “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบมีส่วนร่วม” โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการทำงานขับเคลื่อนการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยความร่วมมือระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและภาคีขับเคลื่อน ปัจจัยสำคัญที่เด็กและเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ต้องการมากคือเรื่องการส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ โดยพบว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบเมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพในพื้นที่หรือชุมชนได้จะหันหลังให้ชุมชนและออกไปหางานทำนอกพื้นที่ โดยเฉพาะไปเป็นแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน อีกกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตไปวัน ๆ อยู่กับการจับกลุ่มกันเสพยาเสพติดโดยเฉพาะน้ำกระท่อม โดยจะรวมกลุ่มตามพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน กลุ่มนี้จะเป็นที่รู้จักกันในนาม “ฉก.” และรวมกลุ่มกันต้มน้ำกระท่อมโดยหาเงินมาจากการรับจ้างทำงานรายวัน

งานวิจัย “โครงการศึกษาคุณค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นบนฐานทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้” โดยสถาบันรามจิตติ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เกิดขึ้นโดยหวังที่จะใช้งาน “Craft หรือ งานหัตถกรรม” ที่ใช้ทุนวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีรากทางวัฒนธรรมที่ยาวนานในพื้นที่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงเด็กและเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ให้หันกลับมามองรากของตนเอง ให้เห็นถึงคุณค่าและความงามในบ้านของตนเองที่สามารถใช้เป็นทุนเปลี่ยนเป็นอาชีพ เพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิตโดยไม่ทิ้งบ้านเกิดเพื่อไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ หรือใช้ชีวิตวันๆ วนเวียนอยู่กับการต้มน้ำกระท่อมและจมอยู่กับสภาพที่ไร้ซึ่งอนาคต

งานวิจัยเริ่มด้วยการค้นหาทุนวัฒนธรรมในพื้นที่และกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรวมกลุ่มเยาวชนนอกระบบ จนพบกลุ่มที่มีศักยภาพในการทำงานพร้อมด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วย กลุ่มกรงนกคุ้ม กลุ่มกริชรามันห์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านกูบังบาเดาะ กลุ่มรักษ์กะลาและลวดลายกอ กลุ่มแกะสลักว่าววาบูแล และกลุ่มแกะสลักไม้ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติขุนละหาร เมื่อได้กลุ่มแล้วจึงได้พาพวกเขาลงลึกไปถึงรากทางวัฒนธรรมมลายูที่อยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานผ่านการศึกษาและสืบค้นจากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน องค์ความรู้ที่ได้รับการสืบทอดจากครูภูมิปัญญา และเพิ่มเติมความรู้เรื่องลวดลายมลายูผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการโดย USTAZ JAMAL ALIAS บรมครูด้านการแกะลวดลายมลายูจากประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและความงามของงาน “หัตถศิลป์” ที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษา พัฒนา และต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังได้รับการแนะนำการออกแบบอย่างใกล้ชิดจากคุณ Sri นักออกแบบจาก Lotus Arts De Vivre เพื่อให้น้อง ๆ เยาวชนทุกกลุ่มได้มีไอเดียในการพัฒนางานผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ร่วมสมัย โดยไม่ทิ้งตัวตนและรากวัฒนธรรมของตนเอง

ทำแล้วต้องได้ขาย… ประสบการณ์มีค่ามากกว่าคำสอนเป็นคำที่ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ การที่จะให้น้อง ๆ เยาวชนทุกกลุ่มได้เข้าใจถึงคุณค่า ความสามารถ และจุดที่ตัวเองยืนอยู่ในขณะนั้นได้ดีที่สุด คือการให้ทุกคนได้ไปลองตลาดจริง ได้นำของ นำงาน ที่พัฒนาจริง ๆ ไปวางขายจริง ๆ และด้วยความอนุเคราะห์ประสานงานจากคุณพิมรา อินทรวิทยนันท์ บริษัท ขจีชีวิตพอเพียง จำกัด ศรัทธา กล้าศิลป์ “อาเนาะกายู” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาและพางานของทุก ๆ คนไปลองตลาดที่ใหญ่มากจากความอนุเคราะห์ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในงานเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2560 (International Innovation Craft Fair 2017) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ช่วงระหว่างวันที่ 23 – 26 มีนาคม 2560 น้อง ๆ เยาวชนได้ประสบการณ์ที่มีค่ามากมายมหาศาลจากการได้มาออกร้านครั้งนี้ เนื่องจากทุกกลุ่มต้องทำทุกอย่างและเตรียมการทุกอย่างเองหมด ไม่ว่าจะเป็นรายงานสินค้าที่จะนำไปออกร้าน การขนส่งสินค้า การออกแบบตกแต่งร้าน ให้น่าสนใจ ฯลฯ

นอกจากนี้การได้เห็น ได้สัมผัสสินค้า จากร้านระดับแนวหน้าที่มาออกร้านนั้น ทำให้ทุกคนตระหนักถึงจุดยืนของตนเองว่า ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกมากทั้งความประณีตในการผลิต การประเมินกำลังการผลิตเพื่อรองรับการสั่งของจำนวนมาก ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเติบโตและเห็นทิศทางที่ควรจะมุ่งหน้าไปจากการกลับมาถอดบทเรียนจากการออกร้านในงานใหญ่ครั้งนี้ ว่าแบรนด์ที่ทุกคนร่วมกันสร้างนั้นมีจุดแข็งและจุดด้อยอะไรที่ต้องพัฒนาต่อไป

จะเห็นได้ว่าจากงานวิจัยชิ้นนี้ “เด็กนอกระบบ” ที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นพวกเกเร ไร้อนาคต หมดทางเยียวยา พวกเขาพร้อมที่จะเริ่มต้นเรียนรู้และพัฒนาตนเองหากเรื่องเหล่านั้นมันตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต จากเด็กที่วัน ๆ เอาแต่จับกลุ่มต้มน้ำกระท่อม หันมาสนใจเรื่องราววัฒนธรรมในท้องถิ่นบ้านตน หันมาใส่ใจความเป็นมาและลวดลายมลายูที่แท้จริง และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ รู้จักมองตลาด มองเห็นโอกาสในการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างคุณค่าให้เปลี่ยนเป็นมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ที่สำคัญเด็กนอกระบบที่ว่านี้ยังสามารถถ่ายทอดความรู้และจับกลุ่มชักชวนเพื่อน ๆ ที่อยู่ในชุมชนให้หันมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มตนเอง เห็นโอกาสและหนทางมากกว่าการทิ้งถิ่นไปรับจ้าง หรือใช้ชีวิตไปวัน ๆ กับการต้มน้ำกระท่อมและเสพยา

ที่กล่าวมาเป็นเพียงโมเดลหรือวิธีการหนึ่งที่เราไม่ปิดกั้น หากแต่สร้างและหยิบยื่นโอกาสให้กับพวกเขาได้มีโอกาส ได้มีทางเลือก พร้อมทั้งสนับสนุนพวกเขาให้ใช้ศักยภาพที่ตนเองมีได้อย่างเต็มความสามารถ ที่สำคัญมันจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย หากเราหรือสังคมมองไม่เห็นโอกาสในตัวพวกเขา และไม่เชื่อมั่นในศักยภาพที่เด็ก ๆ ทุกคนมี อีกทั้งยังดันพวกเขาให้ออกห่างจากสังคม จนถึงวันนี้น้อง ๆ เยาวชนจากทั้ง 6 กลุ่มยังคงรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น พัฒนางานของตนเองอย่างต่อเนื่อง และเปิดตัวแสดงให้พื้นที่สามจังหวัดได้สัมผัสกับงานหัตถกรรมที่เต็มไปด้วยรากทางวัฒนธรรม และความงดงามอ่อนช้อยของลวดลายมลายู และลวดลายโบราณที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

…ต้นกล้าต้นนี้ยังรวมตัวกัน กล้าที่จะแสดง กล้าที่จะนำเสนอ กล้าที่จะเติบโตในงานศิลป์บนเส้นทางวัฒนธรรมมลายูที่งดงาม พร้อมทั้งขยายกล้าพันธุ์ที่งดงามทางศิลป์นี้ ต่อไปตราบที่ลมหายใจยังมีด้วย ศรัทธา กล้าศิลป์ “อาเนาะกายู”


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 137 ปีที่ 23 เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 ในชื่อ ทางเลือกการเรียนรู้ การศึกษาที่เลือกได้สำหรับเด็กนอกระบบ