รายงาน: จากคะแนน PISA ถึงวิกฤตความสามารถในการคิดวิเคราะห์เด็กไทย

การสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือที่รู้จักกันในชื่อ PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นการสอบเพื่อใช้วัดระดับการเรียนรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก โดยการสอบ PISA มีการวัดระดับความรู้ใน 3 วิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน จัดสอบทุก 3 ปี และดำเนินการต่อเนื่องมา 15 ปีแล้ว การสอบ PISA ขึ้นชื่อว่าเป็นการทดสอบที่มีมาตรฐานสูง และผลสอบ PISA มักถูกใช้ในการเปรียบเทียบระดับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนแต่ละประเทศ

เมื่อเดือนธันวาคม 2559 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ได้เผยแพร่ผลสอบ PISA ของปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดสอบล่าสุดออกมา การสอบครั้งนี้มีเด็กนักเรียนเข้าร่วมสอบจาก 72 ประเทศ จำนวนกว่า 540,000 คน ปรากฏว่าผลสอบของเด็กนักเรียนไทยไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นจากปีก่อนๆ โดยในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ไทยอยู่อันดับ 52 54 และ 57 ตามลำดับ ขณะที่เด็กนักเรียนเวียดนามสอบได้อันดับ 8 ในวิชาวิทยาศาสตร์ อันดับ 22 ในวิชาคณิตศาสตร์ และอันดับ 32 ในวิชาการอ่าน แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยมีทักษะด้านการวิเคราะห์ต่ำอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างเวียดนาม

ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงตั้งคำถามกับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กไทยในเชิงลึกมากขึ้น เหตุใดทำไมเด็กไทยถึงมีระดับการเรียนรู้ที่ต่ำเช่นนี้ ทั้งที่มีความพยายามในการพัฒนาระบบการศึกษามาหลายสิบปี

งานวิจัยเรื่อง การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย (2559) โดย อาจารย์ดวงจันทร์ วรคามิน รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พยายามศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนไทย

คณะผู้วิจัยได้สร้างตัวชี้วัดระดับการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียน ผ่านแบบทดสอบ โดยอิงโครงสร้างมาจากข้อสอบระดับนานาชาติอย่างเช่น PISA ที่เน้นการวัดทักษะการวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ จากนั้นได้นำตัวชี้วัดนั้นไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 4 และ ปวช.1 จากทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ จำนวน 6,235 คน เพื่อค้นหาว่าสถานการณ์การคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของเด็กไทยเป็นอย่างไร และมีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อความคิดวิเคราะห์ของเด็ก

ในการวัดความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ผ่านวิชาการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาชี้ว่า หากใช้เกณฑ์คะแนนร้อยละ 60 เป็นเกณฑ์ผ่าน มีนักเรียนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ โดยร้อยละ 1.07 ของเด็ก ป.6 เท่านั้นที่สอบผ่าน ส่วนเด็ก ม.4 ก็มีเพียงร้อยละ 4.16 ที่สอบผ่าน และสำหรับเด็กอาชีวะมีแค่ร้อยละ 0.29 ที่สอบผ่าน สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนไทยมีความสามารถการคิดวิเคราะห์ที่ต่ำจริง สอดคล้องกับผลคะแนน PISA ของนักเรียนไทย

ทั้งนี้ งานวิจัยได้วิเคราะห์เชิงลึกเพื่อค้นหาว่า ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทย และมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้

ปัจจัยด้านบุคคล

จากการศึกษา ในส่วนของปัจจัยด้านเพศ นักเรียนหญิงจะมีความสามารถในการวิเคราะห์มากกว่านักเรียนชาย ส่วนปัจจัยด้านผลการเรียนเฉลี่ย นักเรียนที่มีผลการเรียนเฉลี่ยมากกว่า  2.50 จะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่านักเรียนที่มีผลการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00

ปัจจัยด้านครอบครัว

สำหรับปัจจัยด้านครอบครัวพบว่า รูปแบบของครอบครัว เช่น พ่อแม่อยู่ด้วยกัน หรือแยกกันอยู่ ไม่มีผลต่อระดับความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เช่นเดียวกับการศึกษาของพ่อแม่ในภาพรวม ส่วนด้านรายได้นั้น นักเรียนในครอบครัวที่มีรายได้เกิน 40,000 บาทต่อเดือน จะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์สูงกว่านักเรียนในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ความเพียงพอของรายได้ (มีเงินเก็บหรือไม่) ไม่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ปัจจัยสำคัญด้านครอบครัวที่มีผลสำคัญต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนคือการถูกอบรมเลี้ยงดูแบบดูแลเอาใจใส่

ปัจจัยด้านโรงเรียน 

หากพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กับระดับคะแนนคิดวิเคราะห์ของนักเรียน พบว่า นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ จะมีคะแนนคิดวิเคราะห์มากกว่านักเรียนที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่นักเรียนจากโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนความคิดวิเคราะห์ต่ำที่สุด นอกจากนี้ นักเรียนที่เรียนอยู่นอกเขตเทศบาลจะมีคะแนนคิดวิเคราะห์น้อยกว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนอยู่ในเขตเทศบาล

ในส่วนมิติการบริหารจัดการโรงเรียน งานวิจัยได้ชี้ว่า นักเรียนของโรงเรียนเอกชน (สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน) และโรงเรียนอาชีวะ (สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา) จะมีคะแนนวิเคราะห์น้อยกว่านักเรียนของโรงเรียนรัฐ (สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ปัจจัยด้านการใช้เวลา 

เมื่อพิจารณาการใช้เวลาของนักเรียน พบว่า เมื่อนักเรียนดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้น คะแนนคิดวิเคราะห์จะลดลง และเมื่อดูการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หากนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ จะทำให้นักเรียนมีคะแนนคิดวิเคราะห์มากขึ้นกว่านักเรียนที่ไม่เข้าร่วม ในขณะที่การเรียนพิเศษทางวิชาการ เช่น การไปติวตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ นักเรียนที่ไปเรียนพิเศษจะมีคะแนนคิดวิเคราะห์มากกว่านักเรียนที่ไม่ได้ไปเรียน

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเก่งหรือทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยมีหลายประการ ซึ่งมีทั้งส่งผลทางบวกและทางลบต่อความเก่งของเด็ก ทั้งนี้ ผลคะแนนสอบ PISA ของเด็กไทยและผลการศึกษาของงานวิจัย ได้สะท้อนว่าสถานการณ์การคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต และมีปัจจัยมากมายที่ต้องได้รับการแก้ไข งานวิจัยจึงได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนไทยไว้ดังนี้

  1. ให้หน่วยงานด้านการศึกษาในไทยพัฒนาแบบทดสอบการวัดความสามารถด้านการวิเคราะห์เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์การคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยอาศัยความร่วมมือของนักวิชาการที่มีอยู่แล้วในประเทศ
  2. ให้หน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องสร้างแบบทดสอบด้านความสามารถการคิดวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทุกสาระในทุกช่วงชั้น เพราะแบบทดสอบที่ใช้ในการวิจัยยังครอบคลุมแค่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน เท่านั้น
  3. ให้มีการจัดทดสอบด้านการคิดวิเคราะห์แก่นักเรียนทุกๆ 2 ปี เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ระดับการเรียนรู้ของเด็กอย่างต่อเนื่อง
  4. ให้ออกแบบข้อสอบเพื่อวัดความสามารถการวิเคราะห์โดยเน้นการประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ประกอบกับลดข้อสอบที่เน้นการท่องจำลง
  5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เน้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อให้นักเรียนเห็นประโยชน์จากการเรียนในห้องเรียนว่าสามารถยกระดับการคิดวิเคราะห์ได้
  6. ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมเสริมให้หลากหลายทั้งทางด้านวิชาการ ศิลปะ กีฬา และดนตรี ให้กับนักเรียนทุกคนตามความถนัด
  7. ให้ครอบครัวมีบทบาทนำในการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานมากขึ้น โดยพยายามสนับสนุนทางด้านต่างๆ แก่ตัวนักเรียน

 ที่มา: งานวิจัยเรื่อง การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคเก่งของนักเรียนไทย (2559) โดย อาจารย์ ดวงจันทร์ วรคามิน และคณะ