อินโฟกราฟิก: เปิดงานวิจัยดีเด่น สกว. ตอบโจทย์สำคัญ…ความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรม คอร์รัปชัน ความยั่งยืน และนวัตกรรม

ความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรม คอร์รัปชัน ความยั่งยืน และการสร้างนวัตกรรม ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยในยุคศตวรรษที่ 21 บางประเด็นเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานและไม่มีท่าทีว่าจะถูกแก้ได้ง่ายๆ บางประเด็นก็ถูกพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้

แล้วเราจะมีส่วนร่วมในการเข้าใจและแก้ปัญหาโจทย์สำคัญของประเทศได้อย่างไร ?

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวคือการนำเอางานวิจัยมาใช้เป็นฐานในการทำความเข้าใจโจทย์สำคัญของประเทศ Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนคุณร่วมพิจารณาประเด็นเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่เรื่องความไม่เป็นธรรมที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่ดูธรรมดาอย่าง ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ ไปจนถึงนวัตกรรมการจับเอาหุ่นยนต์ที่คุ้นตาผู้ใช้รถใช้ถนนกันดีอย่าง ‘จ่าเฉย’ มาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรตำรวจจราจร ผ่านงานวิจัยดีเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม นอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ให้กับรัฐบาลในการดำเนินนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานับว่าเป็นภาษีที่เก็บรายได้ให้รัฐภายใต้หลักของ “ความเป็นธรรม” กล่าวคือ ผู้มีเงินได้เท่ากันก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเท่ากันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งโดยทั่วไปยึดหลักการจ่ายตามความสามารถ กล่าวคือ ผู้มีรายได้สูงต้องเสียภาษีในอัตราภาษีสูงกว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่า

งานวิจัยมุ่งศึกษาระบบภาษีเงินได้ของไทยที่ยังมีช่องโหว่ ไม่ครอบคลุมฐานรายได้ทั้งหมด รวมถึงศึกษาผลกระทบของมาตรการลดหย่อนต่างๆ เช่น LTF ประกันชีวิต มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ฯลฯ ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี เพราะในทางปฏิบัติผู้มีรายได้สูงย่อมได้ประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่า

งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังมีช่องว่างให้ปฏิรูปได้อีกมาก โดยการปฏิรูปนั้นสามารถตอบโจทย์ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมได้พร้อมกัน

 

โดย พัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์

ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาคนพิการคือ คือ ทัศนคติที่ไม่ค่อยเชื่อศักยภาพคนพิการ มองว่าคนพิการต้องอยู่ติด ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้

งานวิจัยมุ่งผลักดัน ‘วิธีคิดใหม่’ (mind set)  โดยมองว่า คนพิการมีศักยภาพเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เหมือนคนปกติ การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาคนพิการจะต้องทำบนฐานของการสร้างความเข้าใจเพื่อทำงานร่วมกัน สนับสนุนตัวตน และคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม

ผู้วิจัยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) โดยใช้พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่วิจัย รูปแบบในการทำงานประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1. คนพิการ 2. ครอบครัว 3. องค์กรคนพิการ และ 4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การสร้าง ‘องค์ความรู้ใหม่’ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ การดูแลสุขภาพ สร้างอาชีพ มีการรวมกลุ่มและการทำงานแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจ และความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง ชุมชน และสังคมมากขึ้น นำไปสู่ความเชื่อมั่นในการสร้างงานแก่ผู้พิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดย อุดม รัฐอมฤตและคณะ

การทุจริตเชิงนโยบายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และบุคคล ไม่ใช่การกระทำความผิดแบบทั่วไป หากแต่เป็นการกระทำอย่างมีความรู้ในเรื่องที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ (Systematic Corruption) ดังจะเห็นว่า การคอร์รัปชันของ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ จะทำผ่านการกำหนดนโยบายและตรากฎหมายต่างๆ ใช้ความรู้เฉพาะทางเป็นเครื่องมือในสร้างความชอบธรรมในการแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง ที่ผ่านมา การตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายจึงทำได้ยาก ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคและการเข้าถึงพยานหลักฐานที่ชี้ชัดเพียงพอต่อการพิสูจน์

คณะผู้วิจัยยังพบด้วยว่า ประเทศไทยยังไม่มีกลไกควบคุมตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล โดยเสนอให้ในการดำเนินนโยบายหนึ่งๆ จำเป็นต้องมี 1. การประเมินความเป็นไปได้ก่อนดำเนินโครงการ 2. ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ 3. วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคม

 

ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี เป็นชุมชนที่วิถีชีวิตต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาทรัพยากรประมงเสื่อมโทรมซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายสูง ชุมชนเผชิญความอดอยาก แร้นแค้น การประมงไม่เพียงพอต่อการยังชีพ จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมารวมตัวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลด้วยพลังของตัวเอง ธรรมชาติค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น แต่รายได้ชาวบ้านกลับไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

งานวิจัยชุดนี้เกิดขึ้นจากชุมชนเอง โดยชาวบ้านใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) เป็นวิธีในการวิจัย ผลลัพธ์สำคัญของงานวิจัยคือ ชาวบ้านกลับไปค้นหาต้นทุนและทรัพยากรของชุมชน ซึ่งมีรูปธรรมคือ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสดและแปรรูปที่ใช้วิธีการจับแบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม (Environmental friendly fishing tools) และงานวิจัยยังได้ต่อยอดพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจชุมชนประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี คือ การจับปลากุเลาโดยใช้วิธีการแบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม นำมาทำปลากุเลาเค็ม เมื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาด ทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40% จากราคาปกติ

 

โดย รศ.มงคล เอกปัญญาพงศ์ และวรลักษณ์ คงเด่นฟ้า

นวัตกรรม ‘จ่าเฉยอัจฉริยะ’ เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทรัพยากรของตำรวจจราจร ซึ่งไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการแจกใบสั่งแก่ผู้กระทำความผิดบนท้องถนนและการเข้าถึงพื้นที่การกระทำผิดในช่วงเวลาเร่งด่วน เพราะในช่วงเวลาเร่งด่วนยากแก่การดำเนินการหยุดรถที่กระทำความผิดเพื่อออกใบสั่ง เนื่องจากจะส่งผลกระทบให้สภาพการจราจรแย่ลงกว่าเดิม

คณะผู้วิจัยได้นำเอาระบบ Computer Vision และ Machine Learning มาติดตั้งให้กับ ‘จ่าเฉย’ ซึ่งตำรวจจราจรใช้ในการเตือนผู้ขับขี่อยู่แล้ว โดย ‘จ่าเฉยอัจฉริยะ’จะสามารถอ่านป้ายทะเบียน สามารถส่งใบสั่งไปที่บ้านแบบอัตโนมัติ และสามารถระบุชนิดรถ สี ยี่ห้อ สามารถแยกแยะได้ในทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ระบุได้ในทุกสภาวะอากาศมีฝนหรือหมอก

การใช้ระบบ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้และมีความแม่นยำ 80% เทียบเท่าหรือดีกว่าต่างประเทศ ทำให้โครงการจ่าเฉยอัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบ รวมทั้งสนับสนุนศักยภาพของคนไทย โดยไม่ต้องนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ปัจจุบัน ‘จ่าเฉยอัจฉริยะ’ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่จริงแล้ว และคาดว่าจะมีการขยายต่อไป

 

โดย ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล และคณะ

สถานการณ์หมอกฝุ่นควันในภาคเหนือเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เป็นกังวลมาตลอด โดยเฉพาะฝุ่นมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ทั้งฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในการแก้ไขปัญหา ‘ฝุ่น’ การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองกระจายทุกพื้นที่เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะการสร้างระบบติดตามที่กว้างขวางจะช่วยให้เฝ้าระวังและสามารถออกแบบวิธีการรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

คณะผู้วิจัยจึงออกแบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับปริมาณฝุ่นในอากาศครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดน่าน (เป็นจังหวัดพื้นที่นำร่อง) โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกระจายไปทุกพื้นที่ของชุมชน โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดถึง 95 ตำบล บวกกับ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ที่บินสำรวจในอากาศ ทำให้อัพเดทข้อมูลฝุ่นควันได้ทุกๆ 5 นาที จนเป็นแกนหลักในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกฝุ่นควัน

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยยังถูกนำไปต่อยอดเพื่อวิเคราะห์สภาพอุตุนิยมวิทยาเพื่อแก้ปัญหาอื่น เช่น น้ำฝน ภัยแล้ง ภัยหนาว และน้ำท่วม ทำให้ลดการใช้กำลังคนลงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ