สัมภาษณ์: ภูเบศร์ สมุทรจักร “เพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป เราจึงเปลี่ยนแปลง”

การศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่อง “สังคมสูงวัย” เท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับ “คนทุกช่วงวัย” ซึ่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมในทุกมิติของชีวิต จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวน ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ และผู้ประสานชุดโครงการวิจัย “ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยในมิติที่กว้างขึ้น

แท้จริงแล้ว “จำนวนประชากรที่ลดลง” เกิดจากอะไรกันแน่? “การศึกษาของผู้หญิง” มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร? การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่? และสังคมควรเตรียมตัวรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร?

หาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

 

ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อาจารย์ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมาพักใหญ่ อะไรคือข้อเสนอและข้อค้นพบที่สำคัญ 

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จำนวนการเกิดลดลง โดยภาวะที่การเกิดลดลงเริ่มตั้งแต่รุ่นที่อาจารย์ปราโมทย์ ประสาทกุล แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเปรยไว้ว่าเป็น “รุ่นเกิดล้าน” กล่าวคือเป็นรุ่นที่ประชากรเกิดปีหนึ่งมากกว่าหนึ่งล้านคน และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สึนามิประชากร” แต่พอมาถึงตอนนี้เหลือปีละหกแสนถึงเจ็ดแสนคน จำนวนประชากรที่น้อยลงจะส่งผลให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรขนานใหญ่” (Demographic Change) ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทยอย่างมาก

ประเด็นใหญ่ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ คือ โอกาสที่จะทำให้คนมีลูกมากขึ้นเป็นไปได้ยากมาก ทุกวันนี้ อัตราการเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate: TFR) อยู่ที่ 1.6 และคาดว่าจะลดลงไปถึง 1.3 ในอีก 20 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า สุภาพสตรีที่สามารถมีบุตรได้ จะมีบุตรประมาณ 1.6 คน ซึ่งต่ำกว่า 2 คน ขณะที่เมื่อก่อนมีลูกเกิน 2 คน ถ้ามีลูก 2 คน เราถือว่าอยู่ในระดับทดแทน นั่นคือ ทดแทนพ่อหนึ่งคน และทดแทนแม่หนึ่งคน แต่ตอนนี้มันตกลงอยู่ต่ำกว่าระดับทดแทน

งานวิจัยของผมแสดงให้เห็นว่ามีการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้โอกาสที่ TFR จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นไปได้น้อยมาก

 

ทำไมอัตราการเจริญพันธุ์ถึงลดลง และเราจำเป็นต้องเพิ่มมันหรือไม่ โดยทำอย่างไร 

นโยบายหรือวาระสำคัญในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่การเพิ่ม TFR แต่อยู่ที่ทำอย่างไรไม่ให้ TFR ต่ำกว่า 1.6 นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญด้วย นั่นคือ ในจำนวนคนที่เกิดขึ้นมาน้อยขณะนี้ ซึ่งในอีก 20-30 ปีข้างหน้ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นประชากรวัยแรงงาน เป็นคนที่ผลิตจีดีพีและพยุงสังคมอยู่ทั้งหมด ถ้าประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพมาก ในอีก 20 ปีข้างหน้า สถานการณ์ในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่รวมถึงเรื่องสังคมด้วย จะอยู่ในภาวะที่ “ไม่น่าไว้วางใจ”

อีกประเด็นสำคัญก็คือว่า ทำไมคนยุคหลังๆ ถึงมีอัตราการเกิดน้อยลง ถ้าจะพูดไป สุภาพสตรีอาจจะไม่พอใจ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งอยู่ที่สุภาพสตรีนะครับ โดยผมได้เขียนประเด็นนี้ไว้ในบทความหนึ่งที่แตกมาจากงานวิจัยที่ทำให้กับ สกว. บทความนั้นชื่อว่า “นางเปลี่ยนไป ครอบครัวไทยจึงเปลี่ยนแปลง” ประเด็นก็คือ อัตราการมีลูกของไทยน้อยลงตั้งแต่สุภาพสตรีไทยเริ่มมีการศึกษามากขึ้น แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะห้ามผู้หญิงไม่ให้มีการศึกษานะครับ

ปรากฏการณ์นี้เริ่มเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาสตรีเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่ามันอาจเริ่มมาจากศึกษาของสตรีในรั้วในวัง ไม่ใช่ครับ การศึกษาที่ผมให้ความสำคัญและเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้ผู้หญิงออกจากบ้านมาทำงานข้างนอก มาทำงานแบบเป็นวิชาชีพ คือ การเรียนในวิทยาลัยพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งวันนี้คือคณะพยาบาลศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยผดุงครรภ์ถือเป็นจุดเริ่มจุดแรก ส่วนวิทยาลัยการเรือนต่างๆ ที่ภายหลังได้พัฒนาเป็นวิทยาลัยครู แล้วก็เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ยังไม่มีบทบาทในการดึงผู้หญิงออกจากบ้านมาที่ทำงาน เพราะวิชาที่เล่าเรียนในตอนนั้น สุดท้ายก็เป็นวิชาการเรือน เช่น การเป็นลูกสาวที่ดี การเป็นภรรยาที่ดี และการเป็นแม่ที่ดี หลักสูตรที่ทำให้ผู้หญิงเกิดอาชีพเป็นครั้งแรกคือหลักสูตรพยาบาลต่างหาก เพราะผู้หญิงต้องเปลี่ยนที่ทำงานจากบ้านมาอยู่โรงพยาบาลแทนเพื่อดูแลผู้ป่วย แล้วหลังจากนั้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลลูก ดูแลผู้สูงอายุ สุดท้ายก็คือครู

จาก 100 ปีที่แล้วที่ผู้หญิงได้เริ่มออกจากบ้านมาทำงาน และมีอาชีพ วันนี้ผู้หญิงไม่เคยกลับบ้านเลย

 

การที่ผู้หญิงออกจากบ้านไปทำงานถือว่าเป็นปัญหาหรือ

มันไม่เป็นปัญหา แต่เป็นต้นเหตุ ถ้าอยู่ที่บ้านก็มีเวลาดูแลลูกอย่างสบายใจและมีประสิทธิภาพ

ในแง่นี้เราไม่ได้โทษสุภาพสตรีนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตอนนี้สามีเพียงคนเดียวไม่สามารถจะรับภาระดูแลบ้านทั้งหมดได้ ภรรยาต้องออกมาช่วยกันทำงาน ประกอบกับในระยะหลัง เกิดการชะลอเวลาการแต่งงาน เมื่อก่อนสุภาพสตรีสามารถมีลูกจำนวนมากได้ เพราะเริ่มมีลูกกันตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่กลับมาดูปัจจุบัน หากใครมีลูกหรือใครตั้งท้องตอนอายุ 15 ปี จะเป็นแม่วัยใส กลายเป็นคนมีลูกตอนไม่พร้อมขึ้นมา

วันนี้อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่จะแต่งงานอยู่ที่ประมาณ 27-28 ปี ส่วนผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 30-34 ปี ซึ่งระยะเวลาที่นานยาวขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา แล้วตอนหลังโดยเฉพาะสังคมไทย ไม่รู้ว่าเป็นอะไรกับปริญญาโท พอเรียนจบปริญญาตรีปุ๊บ ก็ต้องเรียนปริญญาโทต่อเลย ซึ่งพอเรียนปริญญาโท สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระยะเวลาเจริญพันธุ์หายไปแล้วครึ่งหนึ่ง

 

แล้วเราเรียนไปด้วย มีครอบครัวมีลูกไปด้วยไม่ได้หรือ 

อันนี้คือประเด็นที่ผมตั้งไว้เสมอ ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ เรากำลังทำกรณีศึกษา เพื่อนผมที่เป็นชาวฟิลิปปินส์ก็เข็นลูกมานั่งประชุมกับพวกเราไปด้วย พวกเรายังช่วยกันเลี้ยงลูกของเพื่อน แต่เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับสังคมไทย เหมือนสังคมไทยยังไม่พร้อม มีสายตาแปลกๆ ที่มองลงไป แล้วมีความรู้สึกว่านี่ยังไม่ถึงเวลานะ อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมไทยอาจยังเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นนี้ที่จะมีชีวิตลำบากลำบนขนาดนั้นไม่ได้

 

 

ทางออกของการมีลูกน้อยอยู่ตรงไหน ถ้าเรามีสถานดูแลเด็กที่ดี หรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กในที่ทำงาน หรือนโยบายด้านการทำงานของบริษัทมีความยืดหยุ่นขึ้น มีทางเลือกสำหรับการหยุดงานมากขึ้น จะช่วยให้คนหันมามีลูกได้ง่ายขึ้นไหม

ข้อสรุปจากงานวิจัยบอกว่าช่วยได้มากเลยครับ แต่สิ่งที่หนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเก็บข้อมูล ผู้หญิงมักสะท้อนอยู่เสมอคือ อยากได้การสนับสนุนจากสามีมากขึ้น

 

ที่ผ่านมาบทบาทฝ่ายชายไทยเป็นอย่างไร สามีไม่ค่อยช่วยแบ่งเบาภาระของภรรยาหรือ

ชายไทยอาจจะยังไม่ได้ถูกฝึกหรือเห็นตัวอย่างการแสดงความเอื้อเฟื้อโดยเข้าไปช่วยเหลือภรรยามากพอ แม้ว่าช่วงหลัง บทบาทของผู้ชายอาจจะดีขึ้นก็ตาม

ในแง่นี้ ผู้ชายก็ต้องได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เพราะว่าผู้หญิงจะมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ฉันตั้งท้องมา 9 เดือนนะ แล้วยังไม่พอ ในกระบวนการการคลอดก็เสี่ยงภัยด้วย และหลังจากนั้นลูกก็จะถูกเลี้ยงดูด้วยนมแม่ ต้องอยู่กับอกแม่ตลอดอีก ผู้ชายไทยหลายคนอาจจะมีความรู้สึกว่าฉันทำเต็มที่แล้วนะ แต่มันยังไม่พอ ผมอยากจะบอกว่าถ้าผู้ชายช่วยอีกนิด เช่น การลางานมาช่วยดูลูก ผู้หญิงจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

เสริมประเด็นเรื่องการลาเลี้ยงลูกไปอีกสักนิด จากงานวิจัยที่ได้เก็บข้อมูลมา คุณแม่บอกว่าระยะเวลาการลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกยังไม่พอ การให้ระยะเวลาการลาเลี้ยงลูกแค่ 3 เดือนของบริษัททั่วไป หรือบางบริษัทที่ให้ต่ำกว่านั้น ลูกยังไม่ทันจะหย่านมแม่ได้ด้วยซ้ำ แม่ก็ต้องกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง

คราวนี้มันเป็นไปได้ไหมที่สามีจะช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูก ปัจจุบันที่ทำงานบางแห่งอนุญาตให้ผู้ชายเข้ามาช่วยดูแลลูกได้แล้ว หรือในบางกรณีที่เลยกำหนดลาคลอดแล้ว บางที่ก็เปิดโอกาสให้ผู้ชายและผู้หญิงสลับกันลาเพื่อเลี้ยงลูกจนพ้นช่วงวัยแบเบาะหรือวัยที่ต้องพึ่งสถานเลี้ยงลูกได้

 

ในแง่สถานเลี้ยงลูก อาจารย์เห็นว่ามีความพร้อมที่เข้ามาช่วยเหลือพ่อแม่มากแค่ไหน 

งานวิจัยชี้ค่อนข้างชัดมากว่าสถานเลี้ยงลูกในปัจจุบันมีปริมาณไม่มากพอ โดยเฉพาะในแง่การกระจายตัวของสถานเลี้ยงลูก เพราะมีความแตกต่างของความต้องการ บางกลุ่มอาจจะต้องการสถานเลี้ยงลูกที่อยู่ใกล้บ้าน บางกลุ่มอยากจะมีสถานเลี้ยงลูกที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน

ในแง่คุณภาพ สถานเลี้ยงลูกก็ยังไม่เป็นที่ไว้ใจของบรรดาผู้ปกครอง โดยจากการประเมินสถานเลี้ยงลูกภาครัฐทุกครั้ง จะพบว่าคะแนนความพึงพอใจจะได้ไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี สถานรับเลี้ยงลูกเอกชนก็จะมีราคาค่าบริการแพงมาก

วันนี้สำหรับคนที่มีลูก และต้องการหาสถานเลี้ยงลูก ความไว้วางใจต่อสถานเลี้ยงลูกมีความสำคัญอย่างมาก แน่นอนว่าพวกเขาต้องแลกความไว้วางใจมาด้วยราคาที่แพงมาก ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ ถ้าบ้านใดเป็นครอบครัวขยายที่ต้องดูแลลูกโดยจ้างคนเลี้ยงลูกเป็นหมื่น พร้อมกับมีพ่อแม่วัยเลย 65 ปี ที่จะต้องดูแลด้วยเงินอีกหมื่นกว่าบาท รวมแล้วจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

 

งานวิจัยพบข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูสมาชิกในครัวเรือนโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ

หากเป็นผู้สูงอายุในครอบครัวฐานะกลางๆ ค่าใช้จ่ายอาจสูง โดยทั่วไปอาจจะอยู่ที่เดือนละ 15,000 – 20,000 บาท ต่อ 1 คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ แต่ถ้าเป็นลูก ตัวเลขค่าใช้จ่ายจะมีความหลากหลายโดยขึ้นกับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว ส่วนสถานรับเลี้ยง ถ้าผู้ปกครองต้องการสถานรับเลี้ยงที่มีคุณภาพสูงและสามารถจ่ายได้ ผู้ปกครองจะต้องเสียค่าบริการประมาณ 15,000 – 20,000 บาทต่อเดือน

ฉะนั้น ลองคิดดูแล้วกันว่าประชาชนฐานะระดับกลางๆ จะมีลูกกันได้สักกี่คน คิดคำนวณแล้วก็มักบอกว่าเอาคนเดียวพอแล้วกัน (หัวเราะ)

ในระยะหลังผมก็ไม่กล้ายืนยันว่าคนรุ่นใหม่จะอยากมีลูกถึง 2 คนกันอยู่ไหม แต่มีลูก 1 คนนี่เป็นพื้น ส่วนหนึ่งเพราะสาเหตุหรือความจำเป็นในการมีลูกในวันนี้กับเมื่อ 30-40 ปีก่อนนั้นต่างกัน ตอนนี้เราไม่ได้มีลูกเพื่อสืบสกุล หรือเพื่อหวังให้ลูกดูแลตอนแก่เฒ่า ตอนเก็บข้อมูล คนก็มักจะบอกว่ามีลูกให้ครบๆ ไป ถ้าจะมีให้เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีคนเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องมี 2 คน

ที่น่าเศร้าคือ หลายครอบครัวเมื่อแต่งงานแล้วก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะมีลูก แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะกว่าจะพร้อมมีลูก พ่อแม่ก็อายุ 30 กว่าปีกันแล้ว โอกาสที่จะตั้งครรภ์ก็ยากขึ้น คุณหมอก็ต้องพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ทางการเจริญพันธุ์เพื่อมาช่วยทำกิ๊ฟท์ ค่าใช้จ่ายก็แพงอีก วันนี้การมีลูกมีราคาแพงมาก

 

 

กลับมาเรื่องผู้สูงอายุ อาจารย์มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายยืดอายุเกษียณ

เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันไม่สิ้นสุด เมื่อก่อนอาจารย์ปราโมทย์เคยยกประเด็นแค่ว่าไม่ให้เรียกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปว่า “วัยเกษียณ” อาจารย์ปราโมทย์ขอให้ขยับการใช้คำว่า “ผู้สูงอายุ” หรือ “วัยเกษียณ” สำหรับคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปแทน แต่เรื่องนี้ก็โยนกันไปมาเพราะส่งผลกระทบมาก นี่แค่จะขอเปลี่ยนคำเรียกเพื่อไม่ให้สะเทือนใจเท่านั้น และไม่ได้กระทบต่อสวัสดิการใดๆ ก็ยังไม่มีข้อยุติ สุดท้ายประเด็นนี้จึงยังไม่ได้ถูกพูดคุยกันต่อ แต่หลายหน่วยงานก็พยายามเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่เลยวัย 60 ปีแล้วได้ทำงานต่ออย่างไม่เป็นทางการ

มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าประทับใจมาก คือเรื่อง “The Intern” เป็นเรื่องที่ใครดูก็สนุก ไม่ว่าจะมองประเด็นไหนก็ตาม เมื่อนักประชากรศาสตร์ได้ดูก็มองว่ามันเป็นเรื่องประชากรมากๆ ในเรื่องมีซีอีโอของออฟฟิศหนึ่ง วันหนึ่งเกษียณและต้องอยู่บ้านแบบเหงามาก ในที่สุดก็กลับมาสมัครงานอีกครั้งเพราะว่าบริษัทนี้จะทำ CSR โดยรับผู้สูงอายุเข้ามาเป็นเด็กฝึกงาน (intern)

ประเด็นที่ดีของหนังเรื่องนี้คือ ผู้สูงอายุคนนี้กลับเข้ามาทำงาน แล้วได้ปรับวิธีคิดและทัศนคติในการทำงาน เพราะว่าโดยทั่วไปบางคนคิดว่าเป็นผู้สูงอายุ จะเกิดความรู้สึกขลังขึ้นมา ผู้คนจะต้องฟังฉัน และหลายคนก็ทำตัวเป็นมนุษย์ป้ามนุษย์ลุง จนไม่มีใครกล้าก้าวล่วง แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้สูงอายุคนนี้วางตัวได้ดี นั่นคือ มีลิมิตในการเสนอความคิด รวมถึงการแสดงบทบาทเป็นผู้คอยแนะนำ (mentor) ที่ค่อยๆ พูด โดยให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงบทบาท ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็มีความรู้ดีและข้อมูลมาก แต่อาจยังขาดประสบการณ์ โดยเฉพาะประสบการณ์ทางด้านการใช้ชีวิต

ฉะนั้น ผมคิดว่าในอนาคตเราต้องส่งเสริมการทำงานรูปแบบนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะต้องได้ทำแน่ๆ เพราะเราต้องการแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากผู้สูงอายุในปัจจุบันนี้ที่มีสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุในสมัยก่อนมาก

 

ในต่างประเทศ เขาเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบ “รวยก่อนแก่” แต่ของไทย เราจะ “แก่ก่อนรวย” อาจารย์มีข้อแนะนำอะไรบ้าง 

ที่บอกว่า “แก่ก่อนรวย” ตอนหลังเขาเริ่มพูดเรื่อง “เงินหมดก่อนตาย” ด้วยนะครับ รู้ไหมว่าช่วงเวลาที่กำลังพะงาบๆ ไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของผู้สูงอายุจะเป็นช่วงที่ใช้เงินออมสูงมากในการต่อสู้เพื่อลมหายใจสุดท้ายของคนที่คุณรัก อาจจะใช้เงินสูงถึง 60-70% ของเงินออมทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการพยาบาลปัจจุบันก็สูงขึ้น สังคมสูงวัยจึงเป็นสังคมที่จะต้องเตรียมตัวรองรับในหลายมิติ ในแง่นี้ ผู้สูงวัยต้องพร้อมรับการตายอย่างมีคุณภาพด้วย

 

อะไรคือโจทย์สำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ 

ประเด็นแรกคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าอยากให้สังคมเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ผมไม่อยากให้สังคมไทยยอมรับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะส่งผลในระยะยาวต่อความเหลื่อมล้ำทุกอย่างในสังคมไทย  ถึงจุดหนึ่ง คนถูกลิดรอนโอกาสในการเติบโต เขาจะทนไม่ได้ และลุกขึ้นมาทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งเหล่านี้คือเสียงร้องและภาพที่มาจากความอัดอั้นตันใจของความเหลื่อมล้ำ

 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องการเกิดน้อย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของสังคมที่มีราคาแพงขึ้น วันนี้ถ้าหากถามคนในประเทศที่เคยนิยมการมีลูกมาก ยกตัวอย่างเช่นในอินเดียหรือตะวันออกกลาง ทุกคนแทบจะพูดไปในทางเดียวกันคือ “มีลูกแล้วแพง” วันนี้ความแพงในการเลี้ยงลูกที่เกิดจากการศึกษาหรือการกินอยู่ก็ดี เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าทรัพยากรมีจำกัด

ในปัจจุบัน ประเทศไทยทำทุกอย่างที่ส่งผลให้ทรัพยากรของประเทศแพงขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูลูกให้มีมากพอให้ได้ และไม่ใช่เพื่อ “ลูกของครอบครัว” แต่เป็นเพื่อ “ลูกของชาติ” เพราะในอนาคตถ้ามีลูกไม่พอ คนไม่พอ เราจะพยุงชาติกันไม่ได้ สิ่งที่ผมเสนอยังเป็นแค่แนวคิดมากๆ ในทางปฏิบัติเราต้องหาทางคิดและทำกันต่อ