รายงาน: วิธีคิดของกระบวนการยุติธรรมต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

‘ความยุติธรรมคืออะไร ?’ อาจเป็นคำถามเชิงนามธรรมที่มนุษย์เฝ้าถามกันตั้งแต่อดีตและพยายามนิยามความหมายของความยุติธรรมมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่เป็นที่ชัดแจ้งว่า ณ ปัจจุบัน ‘กระบวนการยุติธรรม’ ของรัฐได้สถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จในการธำรงและอำนวยซึ่งความยุติธรรมผ่านการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ กล่าวคือ รัฐเป็นผู้มีอำนาจในความเป็นจริงที่จะบอกว่าสิ่งใดคือความยุติธรรม ศาลในฐานะหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทของผู้คนเพื่อให้ได้ ‘ข้อยุติที่เป็นธรรม’ แก่กรณีพิพาทต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจของสังคมที่มีต่อความยุติธรรมจึงเป็นไปในความหมายอย่างแคบ เป็นความยุติธรรมที่อยู่ภายใต้บทบาทของรัฐผ่านการใช้อำนาจตุลาการเท่านั้น ในขณะที่ ‘กระบวนการยุติธรรม’ ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปก้าวก่ายเว้นแต่เมื่อตนเข้าไปเป็นคู่ความในคดี อย่างไรก็ตาม ‘กระบวนการยุติธรรม’ โดยรัฐกำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า สามารถสร้าง ‘ข้อยุติที่เป็นธรรม’ ให้กับคนในสังคมได้จริงหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะที่ความเหลื่อมล้ำ (inequality) ค่อยๆ สะสมและทวีความรุนแรงมากขึ้น

อาจถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีวิธีคิดต่อความเหลื่อมล้ำอย่างไรและมีส่วนในการแก้ไขหรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน?

Knowledge Farm- ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการยุติธรรมไทยกับความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านงานวิจัยของไพสิฐ พาณิชย์กุล และคณะ (2560) ในชุดโครงการ “การลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านกระบวนการยุติธรรม” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

 

ความคิดของกระบวนการยุติธรรมไทยต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

ในระดับวิธีคิด กระบวนการยุติธรรมไทยเชื่อว่า กฎหมายมีหลักการที่รับรองสิทธิให้ทุกคนเท่าเทียมกันและเสนอภาคกันในทางกฎหมายอยู่แล้ว กล่าวคือ ทุกคนล้วนอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันอย่างเสมอภาคและยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ ในขณะที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับทุกๆ คนได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยนั้นไม่เคยตั้งคำถามหรือหาคำตอบถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้อำนาจตามระบบกฎหมายที่มีต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เนื่องจากการใช้กฎหมายถูกมองเป็นหน้าที่การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองและตุลาการ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ใช้เป็นกรณีๆ ดังนั้นการใช้กฎหมายเข้าไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเหมือนการใช้ ‘อำนาจที่เล็กกว่า’ ไปต่อสู้กับ ‘อำนาจที่ใหญ่กว่า’ หากกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติมาเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น โดยธรรมชาติของตัวเอง กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

เมื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการใช้อำนาจตามกฎหมาย วิธีการหนึ่งที่อาจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็คือการออกกฎหมายที่มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาของโครงสร้างระบบ ผ่านการปฏิรูปกฎหมายและการปฏิรูปให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยเห็นว่า ด้วยกลไกการทำงานของรัฐแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การปฏิรูปของหน่วยงานรัฐ เป็นงานเสริมของระบบราชการ ไม่ใช่งานหลักที่จะได้รับการพิจารณาสม่ำเสมอ  จึงเป็นการยากที่จะทำให้เกิดการนำเอาระบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อมาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

ความพยายามของกระบวนการยุติธรรมไทยในการลดความเหลื่อมล้ำ

 

เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมในความหมายอย่างแคบคือการแก้ปัญหาข้อพิพาทของประชาชน และกระบวนการยุติธรรมเป็นเพียงหนึ่งในบรรดากลไกของรัฐที่ทำหน้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันและไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำมากเท่าไหร่นัก ในขณะที่ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำพึ่งพาการทำงานของกลไกรัฐส่วนอื่นเป็นหลัก เช่น การหาทางเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นกลไกที่มองผ่านมิติเศรษฐกิจเป็นหลัก

อันที่จริง ความพยายามของกระบวนการยุติธรรมไทยในการช่วยเหลือประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นยังมีอยู่บ้าง แต่ปรากฎในรูปแบบของสิทธิสวัสดิการของเด็ก คนชรา หรือบรรดาผู้ยากไร้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาโดยเน้นที่ตัวบุคคลมากกว่า ไม่ใช่การดึงบุคคลให้หลุดไปจากโครงสร้างความความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด ที่ผ่านมารัฐไทยไม่มีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขโครงสร้างอันเป็นรากฐานของปัญหา เช่น การแก้ปัญหาความยากจนผ่านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือ ปฏิรูปกลไกของรัฐที่เป็นศูนย์รวมของอำนาจ เป็นต้น

 

ส่องกระบวนการยุติธรรมที่ขยายความเหลื่อมล้ำเสียเอง

 

คณะผู้วิจัยยกตัวอย่างหลายประการที่สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายไปที่การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และต้องการจะควบคุมความประพฤติของประชาชนและพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะเป็นหลักจึงมักกำหนดโทษอาญาไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืน แต่ในสังคมที่ความไม่เท่าเทียมกันมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า คนที่อยู่ในลำดับชั้นล่างสุดของห่วงโซ่จึงมีโอกาสเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายมากที่สุด เช่นคนรายได้น้อยซึ่งอาจกระทำความผิดเล็กๆน้อย ถ้าหากต้องเป็นคู่ความในคดีก็ต้องเสียทุนทรัพย์ประกันตัว ในอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของตนเอง

นอกจากนี้การวัดประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเป็นความท้าทายสำคัญ ตัวอย่างคำถามสำคัญในเรื่องนี้ เช่น “ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะวัดจากอะไรจึงจะเป็นธรรมที่สุด?” ซึ่งสามารถมองได้จากหลายมุม ไม่ว่าจะเป็น จำนวนการจับกุมผู้กระทำความผิด อัตราการเกิดอาชญากรรมร้ายแรง ความสามารถในการดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างถูกต้องแม่นยำ เป็นต้น ซึ่งคณะผู้วิจัยเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีปัญหาความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอยู่มากมาย แม้จะการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากก็ตาม

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรม ยังปรากฎเป็นรูปธรรมในปัญหานักโทษล้นคุก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่กระบวนการยุติธรมของไทยยังใช้วิธีการลงโทษแบบเดิม ไม่เข้าใจถึงปัญหาและไม่ได้แยกแยะถึงพฤติการณ์ของผู้กระทำผิด ตามทฤษฎีสมัยใหม่มาตรการที่จะใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะเป็นต้องมีความหลากหลายมากกว่าการจำคุก หมายความว่ากระบวนการยุติธรรมต้องทำความเข้าใจถึงพฤติการณ์ประกอบของผู้กระทำผิดต่างๆมากขึ้นเพื่อให้การลงโทษเพื่อป้องปราบการทำผิดได้ส่งไปถึงคนที่สมควรได้รับโทษเช่นนั้น แต่สำหรับคนที่ตกเป็นเหยื่อของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำจึงทำผิดกฎหมายอาจต้องมีการพิจารณาให้ถี่ถ้วนมากขึ้นว่าการลงโทษผ่านกลไกของกฎหมายอย่างเดียวจะช่วยให้คนเหล่านั้นไม่กลับมาทำผิดซ้ำอีกได้หรือไม่ เพราะในสังคมไทยการจำคุกเท่ากับเป็นการตัดโอกาสที่นักโทษจะได้โอกาสกลับเข้าสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี การพิจารณาลดความผิดบางชนิดประกอบกับพฤติการณ์ต่างๆของจำเลยจึงควรนำมาใช้เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมเข้าไปขยายความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

เปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมลดความเหลื่อมล้ำ

 

หากต้องการที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรม เป็นทางออกหรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมลล้ำ สังคมไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและตั้งคำถามใหม่กับกระบวนการยุติธรรมในหลายประการ

ประการแรก ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดภายใต้ความรู้ในทางกฎหมายแบบเดิมไปสู่โลกทัศน์ใหม่ ทางกฎหมายที่เชื่อมโยงอยู่กับปัญหาพื้นฐานทางสังคม ต้องทำให้ทัศนะเดิมๆ ในทางกฎหมายที่ครอบงำแวดวงวิชาการกฎหมายและสถาบันต่างๆ ในทางกฎหมายคลี่คลายลง

ประการที่สอง ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนะ (mind set) ของบุคลากรที่อยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรมซึ่งถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ เป้าหมาย ไว้โดยกฎระเบียบต่างๆ ให้มองเห็นปัญหาความเหลื่อมที่เชื่อมอยู่กับกฎระเบียบต่างๆ ที่พวกเขาปฏิบัติตามอยู่

ประการที่สาม ต้องพัฒนาแนวคิดของระบบกฎหมายใหม่ๆ ให้เห็นหน้าที่และความเชื่อมโยง ระหว่างเป้าหมายของกฎหมาย หน้าที่ของนักกฎหมาย และกลไกของกระบวนการยุติธรรมในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม


ที่มา: ชุดโครงการ “การลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านกระบวนการยุติธรรม”  โดยไพสิฐ พาณิชย์กุล และคณะ (2560) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)