รายงาน: เขียนข่าวอย่างไร ไม่ทำให้คอร์รัปชันน่ารัก

เพราะอะไร?

คอร์รัปชันครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะจุดความโกรธเกรี้ยวของคนไทยให้ระเบิดได้ แต่ไม่สามารถนำไปสู่จุดเปลี่ยนเชิงระบบหรือนำตัวผู้คอร์รัปชันมาลงโทษได้สักที หากลงโทษได้ผู้รับโทษก็มักรับสถานะ ‘ปีศาจ’ น่ารังเกียจและถูกเขี่ยออกจากสังคมเงียบๆ เพียงผู้เดียว แล้วอีกไม่นานก็มีผู้สร้างความโกรธเกรี้ยวรายใหม่แจ้งเกิดทดแทนไม่รู้จบ

‘ภาษาข่าว’ มีผลต่อปรากฏการณ์คอร์รัปชันมากกว่าที่คิด นักวิจัยจาก SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism design Lab) นำทีมโดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในงานเสวนา Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 ‘จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย’ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ SIAM Lab เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

 

ภาษาดรามา Vs ภาษาเชิงระบบ

 

ท่ามกลางข่าวสารการคอร์รัปชันที่เปรียบเสมือนภูเขาลูกใหญ่ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยจาก SIAM Lab ใช้วิธี ‘ขุดเหมืองถ้อยคำ’ (text mining) นำข่าวคอร์รัปชันจากสื่ออินโดนีเซียและไทยเปรียบเทียบกัน เพื่อไขปริศนาว่าเพราะเหตุใด การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของไทยจึงแน่นิ่ง ขณะที่อินโดนีเซียมีชีวิตชีวาจนสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแล้วมากมาย

 

ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย SIAM Lab
ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย SIAM Lab

 

“อินโดนีเซียเคยมีดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) อยู่ในลำดับที่เรามองว่าสู้เราไม่ได้หรอก ประเทศไทยเจ๋งกว่าเยอะมาก แต่เขากวดมาจนทุกวันนี้อยู่อันดับเดียวกับประเทศไทยและมีองค์กรทำงานต้านคอร์รัปชันที่ช่วยสร้างธรรมาภิบาลขยันขันแข็งนับร้อยองค์กร ปี 2556 ประชาชนโหวตให้ KPK (Komisi Pemberantasan Korupsi ในภาษาอินโดนีเซีย หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Corruption Eradication Commission) ซึ่งคล้ายๆ ป.ป.ช. ของบ้านเรา เป็นองค์กรสาธารณะที่น่าเชื่อถือศรัทธามากที่สุด ครั้งหนึ่งรัฐตัดงบของ KPK ประชาชนถึงกับรวมตัวกันเรี่ยไรเงินเพื่อให้ KPK ได้ทำงานต่อไป”

ต่อภัสสร์ใช้ระบบ AI ดึงคำในข่าวคอร์รัปชันจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทยคือ BangkokPost  และหนังสือพิมพ์อินโดนีเซียคือ The Jakarta Post ย้อนกลับไป 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2560 แล้วดูว่าหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับใช้โวหารอุปลักษณ์ (Metaphor) เปรียบเปรยการคอร์รัปชันอย่างไร

การทดลองครั้งนี้ใช้ศาสตร์ด้านภาษาศาสตร์คลังข้อมูล (Corpus Linguistics) ผ่านมุมมองภาษาศาสตร์ปริชาน (Cognitive Linguistics) จากนั้นจึงใช้วิธีวาทกรรมวิเคราะห์ (Discourse Analysis) เพื่อศึกษากระบวนการใช้เหตุผลและอุดมการณ์ที่แฝงฝังอยู่ในภาษาข่าวของสื่อทั้งสองประเทศ

ต่อภัสสร์กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการสนใจวิเคราะห์อุปลักษณ์ในข่าว เกิดจากความร่วมมือของอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นฤดล จันทร์จารุ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่แฝงอยู่ในข่าวและทำให้ผู้อ่านรู้สึกกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเข้มข้นหรือเบาบางคืออุปลักษณ์หรือการเปรียบเปรยสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ทั้งที่สองสิ่งนั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้

“อุปลักษณ์แสดงความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ระบบความคิดมนุษย์ การเมืองและวัฒนธรรมของคนพูด อุปลักษณ์ที่ปรากฏในสื่อไทยอย่าง BangkokPost คำที่มากกว่า Jakatar Post อย่างมีนัยยะสำคัญ ได้แก่คำว่า สงคราม กองทัพ อาวุธ ความตาย สีเหลือง สีแดง หลากสี มีคำเกี่ยวกับการบริโภค ใช้คำว่ากินอิฐ หิน ปูน ทราย มีคำเกี่ยวกับเกม เช่น การคอร์รัปชันเป็นเหมือนการเล่นหมากรุกทางการเมือง”

ต่อภัสสร์กล่าวว่าวัฒนธรรมการเปรียบเปรยในหนังสือพิมพ์ไทยมักกระตุ้นดรามา ทำให้คนเสพดรามาแล้วชอบ ตื่นเต้นอยากมีส่วนร่วมทันที แต่ข้อเสียคือข่าวเป็นกระแสขึ้นมาวูบวาบแล้วหายไป ส่วนปัญหาเชิงระบบไม่ถูกแก้ไข ในขณะที่หนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซียมีการใช้ ‘ภาษาข่าว’ ต่างออกไป

“คำที่เจอในสื่ออินโดนีเซีย มีคำว่ากฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ การสร้างอาชญากรรม เสียหาย ทำลาย การกระทำ การสร้าง การมีส่วนร่วม ดูเป็นเรื่องใหญ่ กล่าวถึงเรื่องเชิงระบบมาก และไม่ใช่เป็นการเล่นงานเจาะจงเฉพาะกรณีไป ซึ่งช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในความใกล้ชิดทางมโนทัศน์ (conceptual proximity) ของคำในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันได้ และที่สำคัญที่สุด มีการพูดคำว่าการมีส่วนร่วมมากกว่าสื่อไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งช่วยกระตุ้นทั้งทางความคิดและทางพฤติกรรมให้คนจับตาการทุจริตคอร์รัปชัน”

 

คำเคยชินที่ทำให้คนชินชา

 

ไม่เพียงแต่ถ้อยคำเร้าอารมณ์และการใช้คำที่ทำให้รู้สึกว่าการคอร์รัปชันเป็น ‘เกม’ ที่ประชาชนไม่ใช่ผู้เล่น ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันไม่ไปไกลเกินกว่าความรู้สึกโกรธแค้น ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาลัย ผู้อำนวยการ SIAM Lab ชี้ว่าถึงคำใกล้ตัวคนไทยอย่างคำว่า “กิน” ยังช่วยทำให้คอร์รัปชันน่ารักมากขึ้นกว่าที่คิด

“ภาษาคือสิ่งที่สัมพันธ์กับระบบความคิดมนุษย์ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของคนที่พูดภาษานั้น ในสังคมไทยเมื่อพูดถึงคอร์รัปชันจะผูกกับวัฒนธรรมการกิน (eating culture) ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่ผูกเรื่องการคอร์รัปชันกับวัฒนธรรมการกินอย่างนี้ เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกาบางกลุ่ม

ในข่าวคอร์รัปชันของเราจะพูดถึงการโกงกิน กินสินบาทคาดสินบน กินหิน กินปูน กินทราย กินถนน นี่คือปัญหาใหญ่มาก เพราะพอเป็นการกิน ทุกคนรู้สึกว่าการกินเป็นเรื่องธรรมดา  กินแล้วอ้วน น่ารักดีด้วย ไม่ได้เลวร้ายมาก ในหลายประเทศเวลาเขาใช้คำว่า ‘คอร์รัปชัน’ เขาเปรียบเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษ คำที่เราคิดว่าไม่ได้มีผลอะไรมีความหมายมากกว่าที่เราคิด”

 

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ SIAM Lab

 

ถ้อยคำมีผลต่อการคอร์รัปชันมากขนาดนี้เชียวหรือ? อาจฟังดูให้ค่ากับถ้อยคำมากไปสักหน่อย ธานีจึงนำทุกคนเข้าสู่การทดลองหนึ่ง โดยแบ่งกลุ่มผู้ทดลองเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้อ่านเอกสารเกี่ยวกับคอร์รัปชันและเปรียบคอร์รัปชันเป็น ‘เชื้อโรค’ ที่ระบาดรุนแรงในสังคม อีกกลุ่มหนึ่งอ่านเอกสารแล้วเปรียบคอร์รัปชันเป็น ‘สัตว์ร้าย’ ที่ทำลายสังคม แล้วให้แต่ละกลุ่มเสนอวิธีแก้ปัญหาคอร์รัปชันจากอุปลักษณ์ของคอร์รัปชันที่แตกต่างกันนี้ ซึ่งทำให้ได้ผลการทดลองที่ชวนตื่นตะลึง

“กลุ่มที่มองคอร์รัปชันเป็นเหมือนเชื้อโรคจะหาสาเหตุว่าเชื้อโรคนี้เกิดจากอะไร  และจะเสนอวิธีแก้ปัญหาว่าจะแก้ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องแก้ด้วยสังคม ต้องช่วยกันด้วยการทำตัวเราให้แข็งแรง และยินดีที่จะปฏิรูปสังคม เช่น ปรับมาตรฐานของคนให้อยู่ในสังคมได้ สร้างจิตสำนึก ปลูกจิตสำนึก จะมองเชิงระบบมากกว่า

ส่วนกลุ่มที่มองคอร์รัปชันเป็นปีศาจ แนวทางการแก้ปัญหาคือการสร้างกระบวนการยุติธรรมให้เข้มแข็ง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปราบปรามคอร์รัปชัน และมองว่าเราต้องช่วยกันกำจัดปีศาจ ปราบปรามคนเลว ดูราวกับเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับตัวเรา เพราะเขาจะรู้สึกว่าสังคมดีอยู่แล้ว คนเลวนี่ล่ะที่เข้ามาอยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นกระทืบมันให้ตายก็จบ จะมองการแก้ปัญหาเป็นเชิงการปราบปรามตัวบุคคล”

 

สองนาทีมีค่าในวรรณกรรมเร่งรีบ

 

ต่อภัสสร์ นำหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวว่า ‘เอาแล้ว ทุจริตไทยพุ่ง’ มาถามความรู้สึกของผู้เข้าร่วมฟังเสวนาว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร หลายคนบอกว่ารู้สึกปลง ไม่อยากอ่านอีกแล้ว บางคนบอกว่าเป็นที่ประเด็นข่าวหรือเปล่า บางประเด็นไม่น่าสนใจก็พาดหัวข่าวได้แค่นี้ล่ะ

“เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่จับต้องยาก เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เพราะมีความซับซ้อนมาก เพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ภายใน 1-2 นาที หนังสือพิมพ์จึงใช้อุปลักษณ์มาเปรียบเทียบ” ต่อภัสสร์กล่าว

เป้าหมายต่อไปที่ต่อภัสสร์ ธานี และนักวิจัยใน SIAM Lab ตั้งใจทำต่อไปเกี่ยวกับภาษาข่าวและการคอร์รัปชัน คือการวิจัยและทดลองต่อจนได้ผลผลิตเป็นหนังสือชื่อว่า คู่มือสื่อสารเรื่องคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาชนทำงานประสานกับสื่อจนสื่อสามารถออกแบบวิธีรายงานข่าวต่างๆ จนช่วยลดการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ระหว่างหนังสือยังไม่เสร็จ การใคร่ครวญก่อนใช้ถ้อยคำตามความเคยชิน เพื่อให้ถ้อยคำที่จะผ่านตาคนในชั่ว 1-2 นาทีนี้เป็นการปรากฏตัวที่มีค่าต่อวงจรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้มากที่สุดก็น่าจะดีไม่น้อย


ชมคลิปงานเสวนา: Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 “จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย” ได้ ที่นี่