สัมภาษณ์: สังคมไทยที่ซ่อนอยู่ในการค้าข้างทาง – นฤมล นิราทร

คงไม่เกินจริงนัก ถ้าจะบอกว่าการค้าข้างทางเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสินค้าในหมวดหมู่อาหาร จนทำให้กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองอาหารริมทางที่ดีที่สุดในโลก’

แต่ในหลายกรณี ‘เสน่ห์ของกรุงเทพฯ’ ได้ลุกล้ำเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรไปมา กระทั่งสร้างเสียงด่าและก่อดราม่ากันในโซเชียลมีเดีย

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากคนที่ชื่นชอบและสนุกกับการซื้อสินค้าข้างทางกับคนที่โพสต์วิจารณ์การค้าข้างทางจะเป็นคนเดียวกัน เพราะปัญหาเรื่องการค้าข้างทางมีความซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องถูก-ผิด ขาว-ดำ สวนทางกับวิธีการแก้ปัญหาแบบไทยๆ ที่มักลงเอยด้วยการ ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’

นับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2557 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของชาวกรุงเทพฯ ได้ตัดสินใจดำเนินนโยบาย ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ซึ่งมีสาระสำคัญคือการเข้ามาควบคุมการใช้พื้นที่ทางเท้าอย่างเข้มงวด

เหตุการณ์ที่เกิดผลักดันให้ รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ทำงานวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์ และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น (2560) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.) งานวิจัยชิ้นนี้เป็นภาคต่อของงานวิจัยเกี่ยวกับการค้าข้างทางที่อาจารย์นฤมลเคยทำไว้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้ สู่สังคม ชวนอาจารย์นฤมลคุยถึงปัญหาว่าด้วยการจัดการการค้าข้างทางในกรุงเทพมหานคร เราควรมองเรื่องนี้อย่างไร อะไรคือความยุ่งยากและซับซ้อนของปัญหา ทางออกที่เป็นไปได้มีหรือไม่  และถึงที่สุดการค้าข้างทางสะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมไทย

ปัญหาสำคัญของการจัดการการค้าข้างทางคือ ความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ซึ่งเมื่อฟังเหตุผลของแต่ละฝ่ายแล้วก็ล้วนน่ารับฟังไม่น้อย  อันที่จริงแล้ว เราควรมองเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องนี้มองได้จากหลากหลายมุมขึ้นอยู่กับว่า ‘เราเป็นใคร’ ถ้ามองจากมุมรัฐบาลหรือผู้บริหารเมืองก็จะให้เหตุผลเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด หรือถ้ามองจากมุมผู้ค้าก็เป็นเรื่องการดำรงชีวิตและการอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปก็อาจมองจากมุมความสะดวกสบาย ทั้งในแง่ของการเป็นผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ หรือคนที่ต้องใช้ทางแล้วรู้สึกว่าตัวเองลำบาก นี่ยังไม่นับรวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งนำเสนอประเด็นเฉพาะ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และสิทธิ เป็นต้น

ในฐานะนักวิชาการ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ภายใต้เหตุผลทั้งหมดที่ต่างฝ่ายต่างยกมา สรุปแล้วเราจะเอาอย่างไรกันแน่ และเอาภายใต้กลไกและกระบวนการแบบไหน ที่ผ่านมา รัฐก็มีความไม่คงเส้นคงวาทางนโยบาย เดี๋ยวบอกให้อยู่ เดี๋ยวบอกให้ไป ถ้าจะให้อยู่ ไม่เคยบอกว่าอยู่อย่างไร ถ้าให้ไปก็มักไม่คิดถึงมาตรการช่วยเหลือ เวลาสั่งก็เป็นคำสั่งเด็ดขาดเหมารวม ในส่วนของผู้ค้าก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น เวลารัฐสั่งให้ไป แต่พวกเขากลับยังอยู่

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า เราไม่มีกลไกการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

การมองจากมุมของนักวิจัยก็เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งมุมมองหรือเปล่า

ใช่ การมองในฐานะนักวิชาการก็เป็นอีกเพียงมุมมองหนึ่งซึ่งมีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง จุดแข็งคือการมองของเราเป็นการมองจากวงนอกในระดับหนึ่ง พยายามมองอย่างรอบด้าน และพอจะพูดได้ว่าไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง แต่ก็มีจุดอ่อนสำคัญคือการไม่ได้สัมผัสกับเบื้องลึกบางเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์จริง

มุมมองของนักวิชาการจะช่วยให้มองเห็นความซับซ้อนของปัญหา และช่วยคลี่ให้เห็นว่าภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ มีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้และดีกว่านั้นหรือไม่

 

งานวิจัยพอให้คำตอบได้หรือไม่ว่า ในการจัดการการค้าข้างทาง เราควรจะเอาแบบไหน และจัดการอย่างไร

งานวิจัยบอกชัดว่า การค้าข้างทางควรจะอยู่ เพราะตอบโจทย์ได้หลากหลาย หนึ่งในโจทย์สำคัญที่สุดที่การค้าข้างทางตอบได้คือ การเป็น ‘ทางเลือก’ ของผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนมากและผู้บริโภคที่มองหาของที่อยู่นอกการจัดการของทุนขนาดใหญ่

ในมิติประวัติศาสตร์และทฤษฎีการพัฒนา แต่เดิมเราหวังว่า กระบวนการพัฒนาจะทำให้กลุ่มคนที่อยู่ภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ (informal sector) หมดไป เมื่อเมืองขยายตัว คนจะเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการทั้งหมด แต่ในความเป็นจริง กระบวนการพัฒนาของไทยและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงแบบนั้น มีคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการพัฒนาเท่าที่ควรและไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทางการได้ พวกเขาพยายามอยู่รอดภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้

ถ้ามองจากฐานความคิดแบบนี้ การค้าข้างทางจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ต้องย้ำว่า ‘ทางเลือก’ เป็นคนละเรื่องกับ ‘ทางออก’ แต่ทางเลือกสามารถกลายเป็นทางออกได้ เพราะอย่างน้อยมันเปิดโอกาสให้คนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถเป็นลูกจ้างในระบบอยู่รอดในทางเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ การค้าข้างทางยังตอบโจทย์เรื่องสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ในประเทศที่โครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจบิดเบี้ยวแบบไทย การที่คนกลุ่มใหญ่สามารถมีอาชีพ มีรายได้ พอช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ภาระด้านสังคมสงเคราะห์ของรัฐบาลน้อยลงมาก ถ้าคนกลุ่มนี้ได้ใช้ศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ พวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้ดีระดับหนึ่งเลยทีเดียว

 

แต่เสียงจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยก็น่ารับฟังเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องเดินบนทางเท้าแล้วไม่มีที่เดิน อาจารย์จะอธิบายให้คนที่ไม่เห็นด้วยฟังอย่างไร

ต้องยอมรับว่ามีเสียงอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เอาเรื่องนี้เลย แต่ก็ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ซึ่งก็ต้องว่าไปเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มคนเมืองที่ไม่เห็นด้วยเพราะพวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากการใช้พื้นที่ แต่การจัดระเบียบจะช่วยบรรเทาเรื่องนี้ได้

ปัญหาที่จัดการได้ยากกว่าคือการขัดกันของผลประโยชน์ระหว่างผู้ค้าข้างทางกับกลุ่มของธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น บริเวณประตูน้ำสมัยก่อนจะมีการขายเสื้อผ้า ซึ่งต่อมาถูกไล่หมดแล้ว ตรงนี้ชัดเจนว่า เป็นการขัดกันระหว่างคนขายของหน้าตึกกับคนขายของบนตึก ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน

เรื่องนี้ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อนำผลประโยชน์ของภาครัฐมาคิดด้วย บางคนบอกว่า การให้ผู้ค้าในตึกได้ขายเป็นเรื่องเป็นราว รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งถึงที่สุดก็ต้องว่ากันไปเป็นพื้นที่ เป็นกรณีๆ ไป โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

 

รัฐมองเห็นข้อดีข้อเสียตรงนี้บ้างไหม 

ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่แผนของกรุงเทพมหานคร คุณจะพบเลยว่าภาครัฐคิดกลับไปกลับมา ถ้าจะใช้คำที่สวยหรูหน่อยอาจบอกว่าเป็นวิธีการที่ยืดหยุ่นก็ได้นะ (หัวเราะ)

ผู้บริหารเมืองเจอข้อจำกัดมากขึ้น รัฐรู้ว่าการค้าข้างทางช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคน แต่ในยุคหนึ่ง คนสัญจรยังไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะจำนวนผู้ค้าไม่ได้เยอะเหมือนในปัจจุบัน ที่สำคัญคือคนกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยได้เดินถนนมากนัก แต่ทุกวันนี้คนลงมาเดินบนถนนกันเยอะขึ้น มีรถไฟฟ้า รถใต้ดิน รวมทั้งจักรยานเข้ามาแชร์พื้นที่ จึงเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็สะสมมา เพราะรัฐจัดการแบบไม่จัดการ

 

“การจัดการแบบไม่จัดการ” หมายความว่าอย่างไร

ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและไม่มีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวด เช่น ถ้ามีการควบคุมบอกว่าตรงนี้ตั้งไม่ได้โดยเด็ดขาด ให้ตั้งได้เฉพาะในเขตที่ตีเส้นเท่านั้น เรื่องนี้ก็จบ แต่ในความเป็นจริง การบังคับใช้ไม่ได้ชัดเจนตรงไปตรงมาแบบนั้น พื้นที่การค้าข้างทางกลายเป็นพื้นที่สีเทา มีคนเข้ามาหาผลประโยชน์เต็มไปหมด ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองท้องถิ่น และมาเฟีย

การมีนโยบายที่ไม่ต่อเนื่องก็เป็นปัญหาสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะรัฐบาลและผู้บริหารเมืองมีการเปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนรัฐบาลที นโยบายก็เปลี่ยนที ข้าราชการก็ต้องทำตามนโยบายที่ถูกสั่งมา ในขณะที่ผู้ค้าอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่ได้เปลี่ยนตามรัฐบาล

 

พื้นที่สีเทาเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมเมืองไทยไม่สามารถแยกระบบที่เป็นทางการกับพื้นที่ไม่เป็นทางการออกจากกันได้

ในกรณีการจัดการทางเท้า มีกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดที่เป็นทางการอยู่แล้ว ซึ่งถ้าบังคับใช้อย่างจริงจังก็มีโอกาสที่จะสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานได้ แต่ก็เป็นกฎหมายอีกนั่นแหละ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการกำหนดจุดผ่อนผันได้

แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีคนต้องการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ผลประโยชน์มากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถรักษามาตรฐานในการทำงานได้ ระบบก็ไม่ใช่ระบบอีกต่อไป กลายเป็นเรื่องของดุลยพินิจและการขีดตีเส้น งานวิจัยพบว่า หน้างานเทศกิจเป็นคนรักษากฎดีมาก แต่เมื่อต้องเจอแรงกดดันจากฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ในที่สุดก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

กลไกของกระบวนการต่อรองเรื่องการค้าข้างทางทำงานอย่างไร บทบาทของตัวละครต่างๆ เป็นอย่างไร

 

ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การเมืองมีผลเยอะมาก โดยเฉพาะรัฐบาลจากรัฐประหาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทหารลงพื้นที่มาขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง

แต่ในกระบวนการต่อรอง ใครคุมสื่อได้มากกว่าจะสร้างแรงกดดันได้มากกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เสียงของคนเมืองในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเสียงดังกว่าเสียงของกลุ่มผู้ค้ามาก คุณจะเห็นการด่าทอการค้าข้างทางแบบสาดเสียเทเสียในโซเชียลมีเดียเยอะไปหมด

ในเชิงกฎหมาย กทม.มีอำนาจมากที่สุด โดยสามารถบอกได้เลยด้วยซ้ำว่า ตรงไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ กฎหมายให้อำนาจไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ใช้อำนาจไปถึงที่สุด เพราะกลุ่มผลประโยชน์และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ก็ทำการต่อรองกันตลอดเวลา

ข้อสรุปในเบื้องต้นคือ คนที่ตัดสินว่าตรงไหนขายได้ หรือขายไม่ได้ ไม่ใช่ผู้ซื้อหรือผู้ขาย แต่มันไปเหนือกว่านั้น

 

ในทางปฏิบัติมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมจากงานวิจัยบ้างไหม

 

อย่างน้อยที่สุด การค้าข้างทางมีระเบียบที่บังคับใช้อยู่ ซึ่งบอกไว้หมดว่า ถ้าจะตั้งแผงได้ ทางเท้าต้องกว้างเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้พื้นที่ ต้องเคารพตรงนี้ นอกจากนี้ ในแต่ละเขตควรมีการจัดการแตกต่างกัน เพราะโอกาสในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน สีลม สยามสแควร์ ประตูน้ำ เป็นทำเลทอง การจัดการควรจะลงไปดูในรายละเอียด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน ต้องมีกฎกติกาให้ชัด ตรงไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ขายหมด หรือสั่งให้เลิกหมด ต้องมีการวางแผน

พื้นที่สีลมเป็นตัวอย่างของการจัดการที่ดี เป็นพื้นที่ที่เข้มแข็ง ผู้ค้าก็เข้มแข็งที่จะต่อรองกับภาครัฐ ส่วนชุมชนเองก็เห็นประโยชน์จากการค้าข้างทาง ยอมให้ใช้พื้นที่ รัฐเองเห็นว่าการให้ชุมชนจัดการเองพอไปได้ก็ปล่อยให้จัดการ ซึ่งก็ไปได้ดีในระดับหนึ่งเลย เพราะทุกคนยอมรับกติกา

ที่สำคัญคือ กฎกติกาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ไม่ใช่ว่าถ้าจัดการแบบนี้แล้วจะต้องเป็นแบบนี้ตลอดชีวิต ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน บริบทเปลี่ยน โมเดลแบบเก่าใช้ไม่ได้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยน

 

ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันเยอะมากคือ ผู้ค้าข้างทางไม่ได้เป็นคนจนหรือคนด้อยโอกาสอย่างที่ว่ากัน แต่เป็นชนชั้นกลางในเมืองต่างหาก การวิจัยพบบ้างไหมว่า คนกลุ่มนี้เป็นใครกันแน่

งานวิจัยที่เคยศึกษาไม่ได้ทำทั้งกรุงเทพฯ งานวิจัยเมื่อปี 2548-49 ศึกษาในเขตพื้นที่สองเขต ได้แก่ คลองเตยและดินแดง ส่วนงานวิจัยในปี 2559-60 ทำการศึกษาในพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ สัมพันธวงค์ พระนคร ปทุมวัน บางรัก ซึ่งพบว่าผู้ค้าข้างทางมีทั้งคนจนและคนรวย

ประเด็นคือ เรากำลังพูดถึงความหลากหลายของกลุ่มคน ดังนั้น การจัดการจะต้องมีข้อมูลให้มากที่สุด ไม่เหมารวมว่า คนกลุ่มนี้จนหมด หรือรวยหมด ในพื้นที่หนึ่งๆ ต้องลงไปดูว่า พวกเขาเป็นใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจเชิงนโยบายหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เทศกิจรู้ดีที่สุด พวกเขารู้หมดว่า ตรงไหนที่แม่ค้าอยู่ในกลุ่มรวย และตรงไหนแม่ค้าอยู่ในกลุ่มจน

อย่างไรก็ตาม เวลาที่พูดถึงเรื่องฐานะของผู้ค้าข้างทาง เรื่องหนึ่งที่ได้ข้อสรุปค่อนข้างชัดคือ กลุ่มคนจนที่สุดไม่สามารถเข้าสู่อาชีพนี้ได้ เพราะอย่างน้อยคนที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ต้องมีทุนก้อนหนึ่ง จะมากจะน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง

การจัดการผู้ค้ารวยและผู้ค้าจนควรแตกต่างกันหรือไม่ หรือว่ามีวิธีการจัดการอย่างไรให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

การจัดการให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายเป็นไปได้ยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทุกคนมีจุดเริ่มต้นที่ไม่เท่ากัน เวลาเถียงกันเรื่องความเป็นธรรมจึงขึ้นอยู่กับว่า นิยามความเป็นธรรมอย่างไร

อย่างไรก็ตาม การจัดการให้ทุกฝ่ายพอยอมรับได้ มีความเป็นไปได้อยู่  ตอนทำวิจัยเคยลงไปคุยกับทางเทศกิจว่า ให้ลองทำสำรวจสำมะโนผู้ค้าในพื้นที่ว่าเป็นใครบ้าง ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้ว่าใครจน ใครรวยแล้ว ยังทำให้มองเห็นด้วยว่ามีทางเลือกในการจัดการอย่างไรบ้าง

ตรงนี้มันเป็นเรื่องของการทำงานที่จะต้องลงลึก ซึ่งจริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่เทศกิจถูกฝึกมาให้ทำงานตรงนี้ โดยพื้นฐานแล้ว เทศกิจไม่ได้ทำงานในการจัดการเชิงพื้นที่อย่างเดียว แต่มีบทบาทในฐานะหน่วยสวัสดิการสังคมและพัฒนาชุมชนด้วย เรื่องที่เทศกิจดูแล ไม่ว่าจะเป็นสุขอนามัย ความสะอาด และการดูแลความเรียบร้อย ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

อาจารย์ทำงานวิจัยเรื่องการค้าข้างทางสองชิ้น ห่างกัน 10 ปี การค้าข้างทางของไทยมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจหรือไม่

การค้าข้างทางส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่อาหารเป็นหลัก แต่ข้อสังเกตคือ การกินในที่สาธารณะ (public eating) ของคนไทยแพร่หลายและเข้มข้นขึ้นมาก สมัยก่อนไม่ค่อยเห็นคนกินตามถนน หรือบนรถเมล์ แต่เดี๋ยวนี้กินกันเป็นปกติเลย ถ้าจะมีเดินกิน แต่ก่อนก็มักเป็นอาหารกลุ่มลูกชิ้นปิ้ง แต่ตอนทำวิจัยเห็นเดินกินมาม่า หรือยำมาม่ากันเป็นถ้วยเลย ในด้านหนึ่ง บางคนอาจจะบอกว่า คนไทยมักง่ายขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้สะท้อนความเร่งรีบของชีวิตเมือง

ลักษณะของผู้ค้าข้างทางก็มีความเปลี่ยนแปลงด้วยเหมือนกัน แต่เดิมผู้ประกอบการชาวอีสานจะค่อนข้างเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นผู้ค้า เช่น เด็กรุ่นใหม่ที่มาทำร้านของตัวเอง หรือกลุ่มแรงงานต่างด้าวก็เห็นมากขึ้น

คำถามนี้ชวนให้ฉุกคิดต่อว่า การค้าข้างทางไม่ได้ตอบโจทย์แค่เรื่องความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่สำหรับคนบางกลุ่ม มันเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกทักษะเป็นผู้ประกอบการ เป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้คนเข้ามาทดลองทำธุรกิจ

การค้าข้างทางสะท้อนให้เห็นสังคมไทยในภาพใหญ่อย่างไรบ้าง

หนึ่ง ความมักง่าย ไม่เคารพกฎเกณฑ์ ทั้งฝั่งผู้ค้า ผู้ซื้อ เจ้าหน้าที่ ล้วนแต่มีส่วนในความมักง่ายนี้ด้วยกันหมด ในภาพใหญ่ของสังคมไทยก็ไม่ได้ต่างกัน การไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพสิทธิของคนอื่น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

สอง การไม่มีวิสัยทัศน์ แม้จะมีนโยบาย ก็เป็นไปแบบสะเปะสะปะ

มีข้อดีบ้างไหม?

คนไทยเป็นคนสนุกสนานเข้ากับคนง่ายมาก เพราะฉะนั้นบุคลิกของการค้าข้างทางจึงมีความสนุกและความน่ารักอยู่ด้วย

 


หมายเหตุ:

อ่านรายงาน: จัดการ “การค้าข้างทาง” อย่างไร ให้สร้างประโยชน์แก่ “คน-เมือง”  ที่นี่

อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น (2560) โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร  ที่นี่