ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ เรื่อง
เมื่อโลกเปลี่ยน เมื่อชีวิตถูกท้าทาย
ท่ามกลางแนวโน้มสำคัญ ๆ แห่งศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยพลวัตโลกที่สลับซับซ้อน ส่งผลกระทบสูงต่อคนรุ่นใหม่ตั้งแต่แนวโน้มประชากรที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ บริบทความขัดแย้งทางการเมือง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แนวโน้มภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนแนวโน้มการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามชาติชนกลุ่มน้อย การเรียกร้องสิทธิโอกาส ความเสมอภาค และความเป็นอยู่ที่ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบริบทท้าทายและตั้งคำถามต่อการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ เช่นสังคม ยุคใหม่นี้คนจะอยู่รอดปลอดภัยหรือมีอายุยืนยาวขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคมวัฒนธรรมที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร คนจะมีวิธีการปรับตัว เรียนรู้และอดทนต่อสภาพเศรษฐกิจที่พลิกผันข้ามคืนได้อย่างไร เด็กและผู้คนในยุคสังคมดิจิทัลจะใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์เพื่อตนเองและสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างไร เป็นต้น แนวโน้มเหล่านี้ไม่เพียงแต่ตั้งคำถามต่อชีวิตคนยุคใหม่ แต่ยังผูกโยงกับโจทย์ของการศึกษาที่ต้องต่อสู้กับแนวโน้มใหม่ ๆ และสถานการณ์ปัญหาสืบเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงและแนวโน้มวิกฤตเด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา เด็กด้อยโอกาส และหลุดออกจากระบบโรงเรียน ตัวเลข ผู้ไม่รู้หนังสือ เด็กย้ายถิ่นและคนข้ามชาติ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษา ความอ่อนด้อยของคุณภาพคน ฯลฯ ในประเทศไทย เราไม่เพียงแต่ต้องต่อสู้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับแรงขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ที่พุ่งเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งจะยกระดับคุณภาพการศึกษาไปพร้อม ๆ กับเป้าหมายการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 การปฏิรูประบบการศึกษาด้วยยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีนัยต่อทิศทางของการพัฒนาการศึกษาไทย โดยเฉพาะโจทย์ของการศึกษาที่ต้องสร้างคนยุคใหม่ที่มีทักษะอนาคต โดยไม่จำกัดเพียงแค่กลุ่มวัยเรียนทุกระดับที่มีอยู่ราว 15 ล้านคน แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนนอกวัยเรียนอีก 35 ล้านคน เพื่อการมีชีวิตและการมีงานทำที่มั่นคงในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่กว่าสมรภูมิคำตอบของ O-Net หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) และบนความร่วมมือร่วมพลังของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น เอกชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีร่วมกัน
ความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่ออนาคต
กระแสความเคลื่อนไหวด้านการศึกษาทั่วโลกอยู่ในกระบวนการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเตรียมคนรองรับแนวโน้มที่ท้าทายและความไม่แน่นอนต่าง ๆ งานจับกระแสความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมในการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน (Innovation and Trends in Education and Child Development; INTREND) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในปี 2558 และงานจับกระแสความเคลื่อนไหวและแนวโน้มการพัฒนาเด็กและเยาวชนของสถาบันรามจิตติในปี 2560 ชี้ให้เห็นข้อคิดทางการศึกษาที่น่าสนใจในหลายเรื่อง ตั้งแต่โจทย์สำคัญที่หลายประเทศพยายามขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อปวงชนในนิยามใหม่ ๆ ผ่านแนวคิดปรัชญาที่หลากหลาย ทั้งการศึกษาเพื่ออนาคต (Future-Oriented Education) ที่เน้นการเรียนรู้และออกแบบอนาคต การศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformative Education) เน้นเรื่องแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ (motivation & inspiration) ตลอดจนประเด็นเรื่อง “ศรัทธา” (faith) เพื่อสร้างพลังชีวิตและจิตใจที่มั่นคงไปสู่การเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตที่เชื่อมโยงและบูรณาการการเรียนรู้ไปกับบริบทและชีวิตจริง (lifelong learning & life-wide learning) หรือแม้แต่แนวคิดการศึกษาและการสื่อสาร (Educommunication) ที่กลายเป็นหนึ่งเดียวของโลกการศึกษาและสังคมดิจิทัล ทั้งนี้ ภาพกระแสความเคลื่อนไหวในนานาประเทศได้สะท้อนให้เห็นแนวคิด ทิศทาง และนวัตกรรมทางการศึกษาที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องวิธีวิทยา กระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาสาระวิชา ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเรียนรู้ใหม่ ดังเช่น
(1) แนวคิดวิธีวิทยาและการจัดการเรียนรู้ นับตั้งแต่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) ที่กลายเป็นฐานในการพัฒนามนุษย์ ส่งผลต่อการปฏิรูปกระบวนทัศน์เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมาก ทั้งในเชิงการเปลี่ยน “Pedagogy” วิธีวิทยาการสอน สำหรับเด็กวัยเรียน “Andragogy” สำหรับการศึกษาวัยผู้ใหญ่ ไปจนถึงเรื่อง “Gerontology and geriatrics Education” เพื่อการส่งเสริมการศึกษาสำหรับผู้สูงวัย โดยกระบวนการเรียนรู้ใหม่ไม่เพียงแต่ต้องสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 (21st century skills) ที่ประกอบด้วยทักษะพื้นฐานที่สำคัญอย่าง “3R 7C 2L” “อ่าน เขียน คิดคำนวณ” และ “กลุ่มทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต อนาคต” และ “การเรียนรู้และความเป็นผู้นำ” ตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ทั่วโลกยังตื่นตัวต่อการพัฒนาทักษะอนาคต (future work skills) หลากหลายทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ให้มีความฉลาดในการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงวัยและความพร้อมเข้าสู่โลกการทำงานที่เป็นพลวัตมากขึ้น ตลอดจนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนได้ตลอดในทุกช่วงวัยของชีวิต
ในแง่ของการจัดการเรียนรู้สำหรับคนวัยเรียน นานาประเทศต่างปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและทรัพยากร รวมถึงระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ที่เปลี่ยน “ห้องเรียน” ไปสู่ “แหล่งเรียนรู้และพื้นที่การเรียนรู้” หลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีการเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ โดยหัวใจของการเรียนรู้คือการเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการลงมือปฏิบัติ (interactive learning through action) ซึ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ (action learning) และการเรียนรู้เป็นกลุ่ม (team learning) ฯลฯ ออกแบบให้เหมาะสมกับเด็กเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคลไปพร้อม ๆ กับแรงจูงใจในการเรียนรู้ (learning motivation) และจิตใจที่ใฝ่รู้ (inquiry mind) และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-directed learning) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนได้พัฒนาตนเอง (self development) ผ่านเครื่องมือของการเรียนรู้ ทรัพยากร และบริบทสังคมแห่งการเรียนรู้ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ก็มีการขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ การเรียนรู้บนฐานวิจัย (Research-Based Learning; RBL) เพื่อกระตุ้นความใฝ่รู้และทักษะการเรียนรู้ การเรียนบนฐานปัญหา (Problem-Based Learning; PBL) เพื่อเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา การเรียนรู้คู่การทำงาน (Web-Based Learning; WBL) เพื่อเสริมทักษะความพร้อมด้านอาชีพไปจนถึงการเรียนรู้คู่การบริการ (service learning) เพื่อสร้างทั้งทักษะชีวิตและจิตสำนึกในหน้าที่ต่อสังคม ไปจนถึงการเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้บนฐานชุมชน (Community-Based Learning; CBL) การเรียนรู้บนฐานบ้าน (Home-Based Learning; HBL) ในกระบวนการเรียนรู้ใหม่นี้ ระบบการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน (formative assessment) ได้รับความสำคัญมากขึ้นเพื่อช่วยในการดูพัฒนาการและการเติบโตของการเรียนรู้ รวมถึงการเชื่อมโยงการศึกษาทางเลือกหลากหลายรูปแบบ (alternative education) ที่ยืดหยุ่น เชื่อมโยง และสามารถเทียบโอนการศึกษาได้อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย เนเธอร์แลนด์ เพื่อกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนที่หลากหลายและการเตรียมผู้เรียนสู่อนาคตการมีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี
ขณะที่คนนอกวัยเรียนนั้น การทำงานและการใช้ชีวิตจริงเป็นสนามแห่งการเรียนรู้ “งาน (work)” คือโลกของการเรียนรู้ที่จะสร้างทั้ง “ความรู้” “ทักษะ” และ “เจตคติ” ให้กับคนนอกวัยเรียนโดยเฉพาะคนวัยทำงาน การเรียนรู้ในที่ทำงาน (workplace learning) คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาชีวิตและความสามารถของการทำงาน (work ability) จุดเน้นคือการเชื่อมโยงโลกการทำงานไปกับการเรียนรู้เพื่อชีวิต (Life-Based Learning) และทักษะอนาคต ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้บนฐาน การทำงาน (Work-Based Learning) จึงเน้นประสบการณ์ตรงเป็นหลักสำคัญ (70%) ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ผ่านการได้รับการสอนงาน พี่เลี้ยงที่ปรึกษา และเครือข่าย แบ่งปัน ฯลฯ (20%) ไปจนถึงการเรียนรู้อย่างเป็นทางการจากการฝึกอบรมต่อเนื่อง (10%) ที่สร้างให้คนวัยทำงานได้สร้าง career path เพื่อการเติบโตทางวิชาชีพและวิชาชีวิตโดยอาศัยทรัพยากรและปัจจัยที่มีอยู่ในชุมชน แหล่งทำงาน สภาพแวดล้อม ฯลฯ รอบตัวผู้เรียนมารองรับได้ทั้งสิ้น และใช้ทรัพยากรบุคคลเข้ามาร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อีกด้วย จุดเน้นร่วมของทั่วโลกในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ทุกช่วงวัยคือการผลักดันให้เกิด “การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่” ให้เป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ที่พุ่งเป้าไปสู่คนทั้งสังคมทุกช่วงวัย
(2) ชุดความรู้ใหม่ ในหลายประเทศมีความพยายามพัฒนาและสร้างความรู้หรือชุดความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต โดยชุดความรู้ที่น่าสนใจ อาทิ ในกลุ่มวัยเรียน พบชุดความรู้ 3 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ ความรู้ใหม่เพื่อการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น วิชาอนาคตศึกษา (future study) การวางแผนอนาคต (scenario planning) พลังงานทางเลือก (alternative energy) วิชาภัยพิบัติศึกษา (disaster education) ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น กลุ่ม STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Maths) ที่ถูกผลักดันเป็นชุดวิชาสำคัญมากกว่าแค่ STEM ในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศตะวันตก ลักษณะที่สองคือ ชุดความรู้ที่เน้นการเสริมสร้างทักษะชีวิต (life skills) ให้ผู้เรียน เช่น เพศศึกษา (sex education) สื่อศึกษา (media education) การแก้ปัญหาความขัดแย้ง (conflict resolution) ที่ได้รับการเสริมสาระให้ครอบคลุมความต้องการหรือปัญหาของผู้เรียนยุคใหม่มากขึ้น รวมถึงหน้าที่พลเมือง (citizenship education) ประชาสังคมศึกษา (civic education) และประวัติศาสตร์ (history) ที่ได้รับความสำคัญเชิงสาระความรู้มากยิ่งขึ้นในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป ส่วนลักษณะที่สาม มุ่งเน้นการสร้างทักษะการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การประกอบอาชีพในลักษณะ “career – oriented curriculum” ที่เรียนรู้อาชีพสำคัญ ๆ ที่เชื่อมโยงกับตลาดและความต้องการด้านกำลังคนในแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่เน้นการ “เรียนรู้คู่ปฏิบัติ” (Work-Based Learning & Experiences) เพื่อสร้างทักษะการทำงานให้กับผู้เรียนตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงวัยทำงาน อาทิ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ในชีวิต การเงินการลงทุน หลักสูตรเทคโนโลยีและการสื่อสาร หลักสูตรการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชันที่เรียนรู้ผ่านห้องเรียนโฉมใหม่แบบ studio classroom กลุ่มวิชาด้านการออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรม กลุ่มวิชาช่างที่มักอิงฐานโรงงานในการจัดการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้บนฐานพื้นที่การเกษตรจริงที่เรียกว่า “Farm-Based Learning” หรือเรียนผ่านป่า “Wild-Based Learning” ซึ่งโดยมากจะเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในท้องถิ่น มักมีการบูรณาการเป็นองค์รวมไปพร้อม ๆ กับการสร้าง “pathway” ของการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ภายใต้กระบวนการและชุดความรู้ใหม่ ๆ สิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ การมีครูดีมีคุณภาพที่เป็น “ครูนักจัดกระบวนการ” และ “ครูนักสร้างแรงบันดาลใจ” ที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้สอนแต่ยังเป็นผู้บุกเบิกและเชื่อมโยงความรู้ความร่วมมือจากชุมชน รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมสร้างการเรียนรู้ ครูที่ว่านี้ยังเชื่อมโยงไปถึง “ครูนอกระบบ” ในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย โดยมีการส่งเสริมและการพัฒนาครูอย่างจริงจัง ทั้งการมีระบบ coaching หรือการหนุนเสริมจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพครูควบคู่ไปกับการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทางเลือกเพื่อตอบสนองผู้เรียนที่แตกต่างกัน
นอกจากเด็กในวัยเรียนแล้ว ปรากฏการณ์การขยายตัวของชุดความรู้ใหม่ ๆ สำหรับคนกลุ่มนอกวัยเรียนก็มาแรงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดความรู้ที่หลากหลาย ตอบโจทย์โลกการทำงานจริงในมิติต่างๆ อาทิ หลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามสายงาน ตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะพื้นฐานไปจนถึงยกระดับความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งการจัดการผ่านสถานประกอบการโดยตรง สถาบันพัฒนาอาชีพ องค์กร หรือหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development; HRD) ที่เกิดขึ้นมากมาย ไปจนถึงรูปแบบเครือข่ายงานสร้างการเรียนรู้ผ่าน platform หรือ learning space ที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนการเติบโตของชุดความรู้วิชาชีวิตเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณ ทั้งในลักษณะในห้องเรียนแบบตลาดวิชา การเรียนรู้บนโลกออนไลน์ จนถึงการเรียนรู้จากแหล่งประสบการณ์ตรงในชุมชนและแหล่งสร้างงานในโลกกว้าง ทั้งนี้ความท้าทายของชุดความรู้สำหรับคนนอกวัยเรียนกว่า 35 ล้านคนนั้น 2 ใน 3 ที่ยังอยู่ในบริบทด้อยโอกาสและขาดการเรียนรู้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การขับเคลื่อนการเรียนรู้จึงมิใช่เพียงในระดับปัจเจกบุคคล แต่ทำอย่างไรที่จะสร้างความรู้และการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์คนนอกวัยเรียนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงประชากรก่อนวัยชราและวัยชรา ตลอดจนชุดความรู้ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เกิดแต่น่าจะต้องมีด้วยแนวโน้มที่กำลังจะมาถึง เช่น แนวโน้มประชากรผู้สูงอายุที่ยังทำงาน หลังพ้นวัยเกษียณอายุงานด้วยขนาดของประชากรที่มีมากขึ้น ไปจนถึงการคาดการณ์ที่ว่า AI (Artificial Intelligence) จะ เข้ามาแทนที่ระบบงานอีกจำนวนมาก ที่คาดว่าในปี 2030 คนรุ่นใหม่ราว 13 ล้านคนจะเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างเนื่องจาก AI เข้ามาแทน และมีเพียงร้อยละ 19 ที่จะเปลี่ยนหรือสร้างอาชีพใหม่ได้หลังเสียงานให้กับหุ่นยนต์ ดังนั้นชุดความรู้ใหม่ ๆ สำหรับคนนอกวัยเรียนจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายการขับเคลื่อนในทั่วโลก
(3) ข้อความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการใหม่ เป็นข้อความรู้ที่โดดเด่นอีกข้อหนึ่งจากประสบการณ์หลายประเทศที่พยายามขับเคลื่อนการปฏิรูประบบบริหารจัดการศึกษาใหม่อย่างจริงจัง โดยเน้นหนักที่การกระจายอำนาจการศึกษา (education decentralization) การปฏิรูประบบบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงการลดขนาดการจัดการภาครัฐ (government reform and downsizing) สู่การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education) ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้นทั้งในมิติของโอกาสและความเท่าเทียม ควบคู่มิติของคุณภาพและการใช้ประโยชน์ได้ของการศึกษา นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการร่วมวิพากษ์การจัดสรรงบประมาณการศึกษาเพื่อถ่วงดุลวิธีจัดสรรงบประมาณภาครัฐ
หลายประเทศยังมีการลงทุนศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทุนค่าใช้จ่ายต่อหัวทางการศึกษา (education unit cost) เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดสรรงบประมาณเพื่อความเท่าเทียมเป็นธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายพื้นที่ยากจนและกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ตลอดจนการสร้างกลไกส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกิจกรรมวิพากษ์นโยบายการศึกษาในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมทางการศึกษาทั้งในมิติการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้มีความหลากหลายในกลุ่มเป้าหมาย รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ ไปจนถึงวิธีการวัดประเมินและผลที่เชื่อในศักยภาพของคนทุกคนที่จะค้นหาและพัฒนาตนเองได้ ในกระบวนการเรียนรู้จึงย่อมไม่มี “สูตรสำเร็จรูป” ตายตัว หากแต่แปรผันและปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ตามสภาพบุคคล บริบทเศรษฐกิจ และภูมิสังคม บนฐานการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนในพื้นที่และชุมชน
ที่สำคัญคือ ข้อคิดและบทเรียนจากประชาคมโลกเน้นย้ำว่า การรับมือกับความท้าทายที่ถาโถมมาเหล่านี้ต้องอาศัย “พลังชุมชน พลังคน” ที่มีความสามารถในการรับมือของระบบสังคม (capacity of societal system) ที่เท่าทันแนวโน้มและความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยความร่วมมือและความเข้มแข็งของการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างการศึกษาที่ดีสำหรับคนในสังคมอนาคตได้
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องท้าทายต่อการศึกษาและโจทย์วิจัยในทศวรรษหน้าที่จะใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างองค์ความรู้และขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาต่อไปในอนาคต
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 137 ปีที่ 23 เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 ในชื่อ ความท้าทายของศตวรรษที่ 21 กับการเรียนรู้ยุคใหม่