ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาสังคมไทยทุ่มทรัพยากรอย่างมหาศาลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ยอมจ่ายไม่อั้นแม้ว่าจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและการเมืองมากแค่ไหนก็ตาม ด้วยหวังว่า คอร์รัปชันจะหมดไปจากเมืองไทยเสียที และ ‘คนดี’ จะได้มาบริหารบ้านเมือง
แต่แล้วปัญหาคอร์รัปชันก็ไม่ได้หมดไป ซ้ำร้ายยังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายมิติ
งานวิจัยของผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” พบว่า ในปี 2557 การเรียกเงินสินบนในโรงเรียนรัฐบาลมีมูลค่าเฉลี่ย 11,796 บาท สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ทั้งที่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 ไม่ได้ติดอันดับแต่อย่างใด ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ งานวิจัยยังพบด้วยว่า ครัวเรือนรายได้สูงจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะมากกว่าครัวเรือนรายได้ต่ำเฉลี่ยแล้ว 10,000 บาท ในแง่นี้ คอร์รัปชันในแวดวงการศึกษาดูเหมือนจะมีความร้ายแรงที่สุดในปัจจุบัน
นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่บอกกับเราว่าสังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนความรู้ ตั้งคำถาม และมองหาแนวทางใหม่เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับ ‘ธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน’ มาอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาส่วนหนึ่งได้ถูกนำเสนอผ่าน ‘ทอล์คความรู้’ ของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงาน SHIFT HAPPENS : พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ จัดโดยดีแทค และ The 101 Percent เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
Knowledge Farm : ฟาร์มรู้ สู่สังคม ชวนอ่านบทสรุปทอล์คของ ‘ธานี’ และ ‘ประจักษ์’ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการต่อต้านคอร์รัปชันกันอีกครั้ง
เมื่อบ้าน วัด โรงเรียน หล่อหลอมความโกง : ถอดรหัสพฤติโกงกับธานี ชัยวัฒน์
เมื่อพูดถึงเรื่องของการโกง สิ่งที่เรามักให้ความสนใจคือ ‘ปริมาณ’ ของการโกง ไม่ว่าจะมูลค่าที่สูญเสียไป หรืออันดับการโกงในโลกว่าประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ หรือกระทั่งหาว่า ‘ใคร’ กันแน่ที่เป็นคนโกง ชื่อของนักการเมือง ข้าราชการคนไหนที่ทำผิดจริยธรรมสมควรถูกลงโทษ
คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ‘ทำไม’ คนในสังคมไทยถึงชอบโกง
และนักการเมืองและข้าราชการ ‘เท่านั้น’ หรือเปล่าที่เป็นคนโกง
ความดี คนดี และความขี้โกง
“ในสถานการณ์ที่ฝนตกและสถานการณ์ที่ฝนไม่ตก ทุกท่านคิดว่าสถานการณ์ไหนคนโกงเยอะกว่ากันครับ…..คำตอบคือ สถานการณ์ที่ฝนตกครับ”
ธานี เริ่มต้น ‘ถอดรหัสพฤติโกง’ ด้วยคำถามชวนฉงน แต่น่าสนุก ก่อนที่จะเริ่มแนะนำผู้ชมให้รู้จักกับแว่นตาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ในแง่มุมที่สดใหม่และน่าสนใจ
“คำพูดหนึ่งที่เราพูดกันบ่อยๆ ในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็คือ ‘เราไม่ได้เป็นเจ้าของวิธีคิดของเรา เราเกิดมาพร้อมความว่างเปล่า แต่เราถูกหล่อหลอมบางอย่างจนมาเป็นตัวเราในทุกวันนี้’ ฉะนั้นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์สถาบัน โดยเฉพาะอย่างหลัง จึงอธิบายว่าการหล่อหลอมพฤติกรรม วิธีคิด และทัศนคติของเรามีที่มาจากสถาบันทางสังคมอะไร” ธานีเริ่มต้นอธิบาย
แล้วอะไรล่ะที่ผูกโยงเป็นเนื้อเดียวกับพฤติกรรมการโกงในสังคมของเรา? ธานีตอบคำถามนี้ด้วยการย้อนกลับไปที่คอนเซ็ปต์ของ ความดี และ คนดี แบบไทยๆ ที่แม้ว่าจะเป็นเรื่อง ‘ดี’ เหมือนกัน แต่คนไทยกลับให้ความหมายและคุณค่าแตกต่างกันจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน และนี่คือสาเหตุที่พฤติกรรมการโกงถูกฝังรากลึกอยู่ในดีเอ็นเอของความเป็นไทยจนเรารู้สึกชินชาเป็นเรื่องปกติ และไม่รู้ตัว
“จากการสอบถามคนไทยกว่า 4,000 คนว่า ความดี คืออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าความดีคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง แต่เมื่อถามต่อว่า คนดี คือคนแบบไหน ส่วนใหญ่ตอบว่าคนดีคือคนที่กตัญญู เชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่ กลายเป็นว่าการทำความดีกับการเป็นคนดีไม่เหมือนกัน การทำความดีพูดถึงผลประโยชน์สาธารณะ แต่คุณจะเป็นคนดีเมื่อทำประโยชน์บางอย่างให้กับคนใกล้ชิดของคุณ และบ่อยครั้ง เราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าระหว่างความดีกับคนดี เราจะเป็นแบบไหน”
ธานีขยายความต่อว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความหมายของคนดีแบบที่สังคมไทยให้คุณค่าคือ แนวคิดที่เรียกว่า Familism หรือความรู้สึกของความเป็นครอบครัว ซึ่งอาจเกี่ยวพันหรือไม่เกี่ยวพันกันโดยสายเลือดก็ได้ เมื่อเรานับถือเอาคนที่มีบุญคุณ เป็นเพื่อนในกลุ่ม หรือรุ่นพี่ที่นับถือเข้ามาเสมือนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัว ทำให้เรารู้สึกที่จะ ‘เลือกปฏิบัติ’ ให้ความสัมพันธ์กับคนที่รู้สึกเป็นครอบครัวมากกว่า
ในขณะที่เราสร้างความสัมพันธ์แบบ Familism กับคนกลุ่มหนึ่ง นั่นหมายความว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นจะไม่มีความสำคัญกับเรา ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่ากระบวนการ Alienation หรือการทำให้เป็นอื่น ทั้งสองกระบวนการนี้มีส่วนให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นในสังคม
“การที่สังคมไทยมีแนวคิดเรื่อง Familism เป็นหลัก ช่วยให้การโกงหรือคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น พ่ออาจยอมติดสินบนช่วยให้ลูกที่ขับรถชนคนตายพ้นจากคดีความ โดยไม่สนใจว่าจะทำลายกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และไม่สนใจว่าความอยุติธรรมจะสร้างความเจ็บปวดให้ครอบครัวอื่นมากแค่ไหน เพียงแค่ขอให้ลูกตัวเองรอด ที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นลูก แต่เป็นเพื่อนสนิทหรือผู้มีพระคุณก็ได้เช่นกัน” ธานีเล่า
คำถามที่ตามมาคือ การเป็นคนดีแบบไทยๆ ถูกหล่อหลอมขึ้นมาได้อย่างไร?
บ้าน โรงเรียน วัด: สถาบันที่หล่อหลอมพฤติโกง (โดยไม่รู้ตัว)
เศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ ‘สถาบัน’ หรือกติกาในสังคมในฐานะสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ บอกเอาไว้ว่าความเป็น ‘คนดี’ ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่วัยเด็กผ่านสถาบัน ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’ ซึ่งผูกผันกับชีวิตของทุกคน
ในการสำรวจทัศนคติและค่านิยมที่มีชื่อว่า World Value Survey ที่ทำการสำรวจในหลายประเทศทั่วโลก มีคำถามหนึ่งที่ถามว่าอะไรเป็น ‘คุณธรรมสำคัญ’ ที่ผู้คนในแต่ละประเทศจะสอนให้กับลูกของพวกเขา
ผลสำรวจพบว่า ในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง คุณธรรมที่พ่อแม่ตั้งใจจะสอนเด็กๆ คือ การเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความเห็นผู้อื่น และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า
ในขณะที่คุณธรรมของประเทศไทยที่มีคนตอบมากที่สุด คือ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีระเบียบวินัย และต้องเรียนหนังสือสูงๆ
นอกจากคำสอนของพ่อแม่ ‘นิทาน’ พื้นบ้านไทยที่อยู่กับเด็กๆ มานาน ก็ปลูกฝังชุดคุณธรรมแบบฉลาดแกมโกงให้กับเยาวชนจนกลายเป็นว่าพวกเขารู้สึกว่านี่คือวิถีของสังคมแบบไทยๆ
“ลองนึกถึงตัวละครในนิทานหรือนิทานสักเรื่องของไทยที่สะท้อนถึงความซื่อสัตย์ เราจะนึกถึงเรื่องอะไรครับ? ถ้านึกไม่ออกก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะว่าคนเกือบทั้งหมดนึกไม่ออก แต่เรื่องที่เราจะนึกออกจากคำถามนี้คือ ศรีธนญชัย ที่สอนเรื่องของการ ‘รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’
“เราเอาความขี้โกง ความเอาเปรียบเพื่อเอาตัวรอดไปผูกโยงกับความฉลาด เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นคนถูกโกง ถูกเอาเปรียบ หรือคนที่ซื่อตรงกลับต้องเจ็บปวด คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าคนพวกนี้ ‘โง่’ ที่เอาตัวรอดไม่ได้ กลายเป็นว่าเรากลับเอาการเอาเปรียบ การเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่แสดงถึงความฉลาด และเอาความซื่อตรงที่ทำให้หลายคนต้องเจ็บปวดกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นคนโง่” ธานีย้ำให้เราฟัง
ขยับมาที่โรงเรียน เราคาดหวังให้โรงเรียนมีหน้าที่ให้ความรู้กับเด็ก แต่ที่นี่กลับเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่หล่อหลอมแนวคิด Familism แบบไทยๆ ให้เกิดขึ้น ทั้งการจ่ายเงินสินบนเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดีๆ ที่สูงขึ้นกว่า 10 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และการเลือกปฏิบัติของครูที่มีต่อเด็กเก่งและไม่เก่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ
“เมื่อเด็กๆ ถูกหล่อหลอมด้วยการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน เขาจะรู้สึกว่าการเลือกปฏิบัติระหว่างคนเก่งและคนไม่เก่งเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อวันหนึ่งที่เขามีอำนาจอย่างที่ครูมี เด็กๆ ที่โตขึ้นก็จะ ‘เลือกปฏิบัติ’ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายความว่าเด็กจะไม่มีความรู้สึกต่อต้านการเลือกปฏิบัติเมื่อเติบโตขึ้น
“นั่นหมายถึงทั้งสถาบันครอบครัวและโรงเรียน มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความรู้สึก ‘ยอมรับ’ ความไม่เป็นธรรมและการโกงไปโดยปริยาย” ธานีกล่าวสรุป
สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นในการศึกษาของธานีคือ สถานที่อย่าง ‘วัด’ ที่น่าจะเป็นที่สั่งสอนคุณธรรมให้กับผู้คน กลับกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมพฤติกรรมโกงด้วยอีกทางหนึ่ง
“วัดกลายเป็นที่ทิ้งความรู้สึกผิดของคนโกง การเข้าวัดทำให้พวกเขาสบายใจขึ้น ทั้งที่ไม่ได้แก้ปัญหาหรือทำให้การโกงลดลงเลย” ธานีเริ่มต้นเล่า
คนแต่ละคนจะยอมรับการทำชั่วในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับบางคน หากทำดีมาเยอะๆ เขาอาจจะคิดว่าทำชั่วนิดหน่อยก็ไม่เป็นอะไร เพราะการทำดีสามารถไป ‘ชดเชย’ ความชั่วนั้นได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกสิ่งนี้ว่า Moral Licensing หรือใบอนุญาตทำชั่ว
ในสังคมไทย การเข้าวัดไปทำบุญเป็นการทำบุญทำความดีในรูปแบบหนึ่ง วัดเลยกลายเป็นสถาบันที่ทำให้การโกงดำรงอยู่โดยไม่ตั้งใจ เราจะได้เห็นคนที่โกงเงินจากคนอื่นที่เจียดเงินนั้นไปทำบุญให้วัด หรือเห็นคนที่ขับรถชนคนตายเอาเงินไปทำบุญ แทนที่จะจ่ายค่าสินไหมให้อีกครอบครัว
“เรามีสถานที่ไว้แก้ปัญหาความรู้สึกผิดต่างๆ มากมาย เมื่อสังคมมีการโกงสูง เราจะเห็นมูลค่าการทำบุญสูง ดังนั้นถ้าเรามองเห็นการทำบุญในศาสนาที่สูงขึ้น ก็น่าจะกลับมาตั้งคำถามว่าสังคมนั้นคือสังคมที่ความดีเยอะ หรือความเลวเยอะกันแน่” ธานีตั้งคำถามชวนคิด
นอกจากวัด การออกแบบทางเลือกของสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคน หรือ Choice Architecture ในสังคมไทย ก็ถูกออกแบบมาให้การโกงเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น การขับรถฝ่าไฟแดงหนึ่งครั้ง ตัวเลือกระหว่างการยอมจ่ายสินบนให้ตำรวจเพื่อไม่ต้องรับใบสั่ง กับการรับใบสั่งแล้วไปจ่ายที่สถานีตำรวจ รวมถึงการทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการแจ้งพฤติกรรมคอร์รัปชันของตำรวจที่เรียกสินบน ทั้งสองทางมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน และเรามักจะเลือกทางเลือกที่ง่ายกว่า (นั่นคือการจ่ายเงินสินบน) เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
เมื่อทางเลือกที่ง่ายกว่า มารวมกับความรู้สึกที่ ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ และการมีวัดเป็นสถานที่ให้ทำบุญเพื่อชดเชยความผิดที่ก่อ (แต่ไม่ได้รู้สึกผิดจริงๆ แค่โชคร้ายที่โดนตำรวจจับได้และต้องจ่ายเงินให้) ก็ทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับการโกงที่เกิดจากสถาบันทางสังคมต่างๆ อยู่ใน ‘ดุลยภาพ’ ที่เท่ากัน
ลูกเต๋า การทดลอง และสภาพแวดล้อมในการโกง
ธานีเริ่มต้นเล่าถึงงานวิจัยของเขาเพื่อหาว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะโกงหรือไม่โกง ในการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้ลูกเต๋าคนละหนึ่งลูกและกระดาษที่เขียนตัวเลข 1-6 ไว้แล้วจำนวน 18 ข้อ ผู้เข้าร่วมทดลองจะโยนลูกเต๋าและรายงานว่า ในการทอยแต่ละครั้ง พวกเขาได้หน้าเต๋าที่ตรงกับตัวเลขในกระดาษที่ให้ไปหรือไม่ หากตรงจะได้คะแนนตามจำนวนหน้าลูกเต๋า และได้เงินไปตามจำนวนคะแนนที่ได้
ผลปรากฏว่าแทบทุกคนเมื่อส่งกระดาษคืนเพื่อขึ้นเงิน ค่าเฉลี่ยของการโยนแล้วตรงอยู่ที่ 6 ครั้ง ทั้งที่ในทางสถิติควรจะถูกแค่ 3 ครั้งในการโยน 18 ครั้งที่กำหนด และหน้าเต๋าที่คนติ๊กว่าโยนได้มากที่สุดคือหน้าที่มีเลข 6 เพราะเป็นหน้าที่มีโอกาสได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งทำให้พวกเขาได้เงินมากขึ้น ข้อสรุปจากเรื่องนี้คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับ ทำให้การตัดสินใจโกงเพิ่มขึ้น
“สถานที่หนึ่งที่เราไปทำการทดลองคือที่วัดหลังเสร็จจากการทำบุญใหญ่ ทุกคนที่มาทำการทดลองกับเราเป็นคนที่มาร่วมทำบุญ เชื่อไหมครับค่าเฉลี่ยของการทอยลูกเต๋าที่ได้หน้าถูกต้องที่สุดคือในวัด! ซึ่งพวกเขาตอบเหมือนกันว่า ‘เพิ่งทำบุญมา คงโชคดีที่ได้คะแนนเยอะ’
“เขาอาจจะโชคดีจริงๆ ก็ได้นะครับ หรือไม่เขาก็โกง และโกงภายใต้คอนเซ็ปต์ Moral Licensing”
และเชื่อไหมว่า สภาพแวดล้อมก็มีผลกับการโกงของคนเราด้วยเหมือนกัน!?
ในการทดลองแบบเดียวกันในที่ที่มีเสียงดังจอแจ เช่น ริมถนน ผู้เข้าร่วมการทดลองจะโกงมาขึ้น ที่น่าสนใจคือ เวลาทดลองเสียงลูกเต๋าจะดังตลอดเวลา และแต่ละคนใช้เวลาในการทอยถึง 18 นาที เพราะคนจะพยายามทอยเต๋าไปเรื่อยๆ ให้ตรงกับเลขบนกระดาษ (ไม่ติ๊กโกงโดยตรง) เพื่อต่อสู้กับความรู้สึกผิดในใจให้น้อยลง แต่ในที่เงียบสนิท คนจะโกงน้อยลง เพราะเสียงลูกเต๋าที่กระทบลงพื้นทำให้ผู้ร่วมทดลองต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดในใจเมื่อเลขบนลูกเต๋าไม่ตรงกับในกระดาษ (พวกเขาโยนใหม่ไม่ได้ เสียงจะออกไปด้านนอก)
ในขณะที่การทดลองในสถานที่ที่มีเสียงดังมากๆ อย่างศาลาสังกะสีที่มีฝนตกลงมา ผู้ร่วมการทดลองใช้เวลาเพียงครึ่งนาทีในการทอยลูกเต๋าแล้วเอากระดาษมาคืน โดยไม่มีเสียงโยนลูกเต๋าเลย เพราะโยนไปก็ไม่มีใครได้ยิน ทุกคนจึงติ๊กตัวเลขตามที่อยากได้โดยไม่ต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดใดๆ
“เรากำลังจะบอกว่าในสภาพอากาศที่ไม่เหมือนกัน การโกงของคนก็เกิดขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ใช่เพราะตัวสภาพอากาศ แต่เป็นเพราะสภาพอากาศสร้าง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่ทำให้คนรู้สึกผิดไม่เท่ากัน ถ้าลองถอยไปหนึ่งขั้น แล้วคิดดูว่าเพียงแค่สภาพอากาศก็สร้างความรู้สึกผิดไม่เท่ากันจนคนโกงมากขึ้น แล้วในสังคมที่เราอยู่ล่ะ มันสร้างระบบที่ทำให้คนรู้สึกผิดกับการโกงมากแค่ไหนกัน”
“ดังนั้นไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นหรอกครับที่โกง เราทุกคนก็มีส่วนคนละเล็กละน้อย เราสร้างทั้งทัศนคติและระบบที่ทำให้การโกงมันดำรงอยู่ได้ และทำได้ง่ายในสังคม”
นี่คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบนเวทีทิ้งท้ายไว้ให้คิด
ท่ามกลางสังคมไทยที่ดูเหมือนจะมีเมฆฝนสีดำพร้อมตกลงมาอยู่ตลอดเวลา
แก้เกมโกง กับ ประจักษ์ ก้องกีรติ
หลายคนอาจสิ้นหวังว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร พวกเราก็ไม่มีวันแก้ไขคอร์รัปชันได้ เพราะคอร์รัปชันฝังรากลึกในสังคมราวกับว่าต้นตอของมันมาจากพันธุกรรมหรือธรรมชาติของมนุษย์ เช่นนั้นแล้ว กฎหมายหรือมาตรการใดๆ ก็ยากที่จะกำจัดคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไปอยู่ดี
แต่นั่นอาจเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักคิดนักเขียนผู้สนใจติดตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของไทยและโลก ชี้ให้เห็นอีกมุมว่า “ไม่มีสังคมไหนถูกสาปให้ต้องมีคอร์รัปชันตลอดไป และคอร์รัปชันไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอ”
ประจักษ์มองว่าเรายังมีพอมีหนทางที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อยู่ สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนระบบและวิธีคิดของสังคม ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยในงานนี้ เขาได้พาผู้ฟังออกไปสำรวจตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ อิตาลี อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่ต่างเคยประสบปัญหาคอร์รัปชันอย่างหนักหน่วงไม่แพ้ประเทศไทย โดยบางประเทศยังเคยประสบปัญหาคอร์รัปชันหนักว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถ ‘พลิกสังคม’ ขึ้นมาเพื่อต่อกรและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างน่าชื่นชม และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก
อิตาลี : ลาก่อน ‘ค่าคุ้มครอง’
ประจักษ์เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของเมืองปาแลร์โม ดินแดนอันสวยงามในแคว้นซิซิลี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี หนุ่มสาว 7 คนอยากเปิดบาร์เป็นของตัวเอง พวกเขามีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน แผนธุรกิจ และทำเลร้าน แต่หนึ่งในปัญหาที่พวกเขาคิดไม่ตกคือ พวกเขาจะเอาอย่างไรกับการจ่าย ‘ค่าคุ้มครอง’ ให้มาเฟียท้องถิ่น
“มีสถิติบอกว่าผู้ประกอบการประมาณ 80% ที่อยากจะทำธุรกิจในเมืองนี้ ล้วนต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้มาเฟีย มาเฟียพวกนี้มีรายได้จากการเก็บค่าคุ้มครองต่อปีมากกว่า 3 หมื่นล้านยูโร ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาสำคัญที่กวนใจนักธุรกิจทุกคนที่มีฝันอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง”
หนุ่มสาวทั้ง 7 คน จึงปรึกษากันอย่างเคร่งเครียด จนเกิดข้อตกลงกันว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อสร้างธุรกิจในฝันของพวกเขาให้เป็นจริงโดยไม่ต้องจำนนต่อวัฒนธรรมการจ่ายค่าคุ้มครอง พวกเขาจึงริเริ่มทำแคมเปญ ‘AddioPizzo’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘Goodbye Pizzo’ ซึ่งแปลว่า ‘ลาก่อนค่าคุ้มครอง’
‘คนที่จ่ายค่าคุ้มครองคือ คนไร้ศักดิ์ศรี’ นี่คือข้อความในใบปลิวที่วัยรุ่นทั้ง 7 คนแอบเอาไปติดทั่วเมืองในตอนกลางคืน วันรุ่งขึ้นเมื่อชาวเมืองตื่นขึ้นมาและเขียนใบปลิวดังกล่าวติดอยู่ทั่วเมือง มีคนให้ความสนใจมากมายและอยากรู้คนที่ติดใบปลิวนี้เป็นใคร และต้องการจะทำอะไร
ในที่สุดหนุ่มสาวทั้ง 7 คน จึงเปิดเว็บไซต์ของแคมเปญอย่างเป็นทางการ มีแบบฟอร์มให้ผู้บริโภคและเจ้าของร้านค้าในเมืองมาลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้ อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกชาวบ้านยังไม่กล้ามาร่วมสักเท่าไหร่ เพราะยังกลัวพวกมาเฟียอยู่ พวกเขาเกรงว่าหากเข้ามาร่วมแคมเปญจะโดนเล่นงาน
“ปรากฏว่ามีคนโดนจริงๆ ในบรรดาร้านค้าร้อยกว่าร้านที่เข้ามาร่วมในตอนแรก มีอยู่ร้านหนึ่งถูกสั่งสอนจากมาเฟีย คือร้านของมิสเตอร์กราซี่ ซึ่งมาเฟียส่งลูกน้องไปเผาโกดังสินค้าของร้าน เพื่อสั่งสอนและข่มขู่ให้คนอื่นหวาดกลัว ไม่กล้ามาร่วมแคมเปญนี้” ประจักษ์ยกตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่เกิดเรื่องขึ้น กลุ่มผู้ปฏิบัติการและชาวบ้านกลับไม่ได้หวาดกลัวหรือเลิกล้มแคมเปญ แต่พวกเขาสู้กลับโดยการช่วยกันลงขันบริจาคเงิน ซ่อมแซมโกดังสินค้าของมิสเตอร์กราซี่ที่ถูกเผาจนสามารถกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นการปลุกพลังของชาวเมืองและผู้ประกอบการอย่างมีนัยยะสำคัญ
ปฏิบัติการต่อมาคือการแจกจ่ายสติกเกอร์ที่มีข้อความว่า “ร้านนี้ไม่จ่ายส่วย” ให้ร้านค้าต่างๆ นำไปติดไว้หน้าร้าน ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการสนใจร่วมแคมเปญและติดสติกเกอร์ไว้หน้าร้านของตนกันอย่างล้นหลาม ปัจจุบันมีมากกว่าหนึ่งพันร้านในเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย AddioPizzo
ผลของแคมเปญนี้ส่งผลให้กลุ่มมาเฟียไม่กล้าเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากร้านที่ติดสติกเกอร์ เพราะรู้ว่าร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย AddioPizzo ที่มีผู้สนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก
“กลุ่ม AddioPizzo มีสโลแกนง่ายๆ ว่า ‘consume critically, shop ethically’ สิ่งที่เขาเรียกร้องคือถ้าคุณเป็นผู้บริโภค ขอให้สนับสนุนกิจการที่ไม่จ่ายค่าคุ้มครอง แล้วก็บอยคอตร้านที่ยังยอมจำนนและจ่ายค่าคุ้มครอง เพื่อไม่ให้ระบบมาเฟียดำรงอยู่ได้”
ปฏิบัติการของ AddioPizzo สร้างผลสะเทือนต่อสังคมอย่างมาก มีการเปลี่ยนกฎหมายที่ส่งผลให้รัฐสามารถยึดทรัพย์สินจากเจ้าของที่ดำเนินธุรกิจไม่โปร่งใส ขณะเดียวกันก็สร้างความกดดันต่อพวกมาเฟียอย่างหนัก จนถึงขั้นที่หัวหน้ามาเฟียอิตาลีชื่อดังต้องออกมายอมรับว่าแคมเปญนี้เป็น “fucking disaster” สำหรับธุรกิจมาเฟีย
ประจักษ์สรุปบทเรียนจากการต่อสู้คอร์รัปชันของชาวเมืองปาแลร์โมไว้ 2 ข้อ ข้อแรกคือ “คอร์รัปชันไม่ได้ถูกฟังไว้อยู่ใน DNA และไม่มีสังคมหรือประเทศไหนที่ถูกสาปให้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชันตลอดไป” และข้อสอง “ผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถเป็นพลังในการสู้กับคอร์รัปชันได้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่รัฐหรือ NGO เท่านั้น”
อินเดีย : เมื่อ ‘สินบน’ กลายเป็นเรื่องเปิดเผย
จากอิตาลี ประจักษ์ชวนผู้ฟังไปรู้เรียนรู้การต่อสู้คอร์รัปชันในประเทศอินเดีย ประเทศที่ว่ากันว่าเป็นประเทศที่ประชาชน ‘ต้องจ่ายสินบนให้แก่ข้าราชการตั้งแต่เกิดจนตาย’ (A lifetime of bribes)
“แค่จะไปขอใบสูติบัตรก็ต้องจ่ายสินบนให้ได้มา ลูกจะเข้าโรงเรียน มหาวิทยาลัย ใบขับขี่ พาสปอร์ต แต่งงาน ทุกจังหวะของชีวิตต้องมีสินบนเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้บริการจากรัฐ ทั้งๆ ที่ไม่ควรมีค่าใช้จ่าย กระทั่งตอนที่พ่อแม่ตายแล้ว จะไปขอใบมรณบัตร ยังต้องจ่ายสินบนเพื่อให้หน่วยงานรัฐออกใบมรณบัตรให้เรา”
ประจักษ์เล่าต่อว่า จุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับปัญหานี้ มาจากสองสามีภรรยาชาวอินเดียคู่หนึ่งที่ไปทำงานต่างประเทศมานาน และอยากกลับมาเปิดมูลนิธิที่มีชื่อว่า ‘Janaagraha’ แปลว่า ‘พลังของพลเมือง’ โดยในตอนแรกเป้าหมายของมูลนิธิคือ พัฒนาเมืองในอินเดียให้น่าอยู่ ปรับปรุงที่พักอาศัย จัดสรรที่พักราคาถูกให้คนจน รวมถึงจัดการศึกษาให้เด็กยากไร้ แต่พวกเขากลับพบปัญหากวนใจบางอย่าง
“เรื่องที่ตลกร้ายและกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้สองคนนี้หันมาสนใจคอร์รัปชัน คือเขาจะไปจดทะเบียนมูลนิธิเพื่อทำงานด้านสังคมที่ไม่แสวงหากำไร ปรากฏว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตการจัดตั้งมูลนิธิ เรียกเงินสินบนจากเขา เขาเลยตระหนักว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ร้ายแรง กัดกินสังคม ทำให้สังคมอินเดียไม่พัฒนา”
จากเหตุการณ์นี้ สองสามีภรรยาจึงลุกขึ้นมาทำแคมเปญหนึ่งชื่อว่า “I Paid a Bribe – IPAB” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ฉันจ่ายสินบน” เริ่มต้นจากการเปิดเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา เพื่อให้ชาวอินเดียที่ถูกเรียกสินบนเขียนรายงานเข้ามา โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง หลังจากได้ข้อมูลมา เจ้าหน้าที่ดูเว็บไซต์จะรวบรวมมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ให้คนอื่นๆ เห็น
“ปรากฏว่าภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากเปิดเว็บ มีเรื่องรายงานเข้าไปเป็นหมื่นเรื่อง ครอบคลุมทั้งประเทศ เกี่ยวพันกับหน่วยงานรัฐ 19 แห่ง ที่น่าสนใจคือในเว็บไซต์นี้ จะมีแผนที่เปิดเผยว่าเมืองไหนเรียกรับสินบนเท่าไร และเมืองไหนมีอัตราการรับสินบนสูงที่สุด”
การเปิดเผยข้อมูลการติดสินบนในลักษณะนี้ ทำให้ประชาชนอินเดียเห็นว่าคนอื่นๆ ก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกับตนอย่างไรบ้าง และมันช่วยตอกย้ำว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การติดสินบนของหน่วยงานราชการเป็นเรื่อง ‘เปิดเผย’ จากที่เคยเป็นเรื่องมืดดำมานาน
“สิ่งที่เขากำลังทำคือเอากลไกของตลาดมาสู้กับคอร์รัปชัน ตอนนี้คนอินเดียเห็นแล้วว่าราคากลางของการจ่ายสินบนอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น ราคากลางสำหรับได้ใบขับขี่อยู่ที่ 500 บาท และสมมติว่าคนในนิวเดลีจ่าย 1000 บาท เขาจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมของเราเยอะขนาดนี้” ประจักษ์เล่าถึงกลไกการทำงานของเว็บอย่างติดตลก
การเปิดเผยข้อมูลสินบนทำให้ประชาชนรู้สึกอัดอั้น และลุกขึ้นมากดดันหน่วยงานราชการในเมืองที่ตนเองอาศัยจนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น เจ้าที่รัฐที่โดนร้องเรียนได้รับการสอบสวนมากขึ้น และคนที่ตรวจสอบแล้วว่าทำผิดโดนพักงานหรือถูกไล่ออกมากกว่าแต่ก่อน รวมถึงคุณภาพของบริการภาครัฐก็ได้รับการยกระดับ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อย เกิดอาการ ‘เกร็ง’ เมื่อประชาชนมาขอรับบริการ เพราะไม่รู้ว่าถ้าเรียกสินบนแล้ว จะโดนแฉหรือหัวหน้าจะเรียกไปสอบสวนหรือไม่
จากผลดังกล่าว ประจักษ์ชี้ว่าเว็บไซต์ I Paid a Bribe ได้กลายเป็น ‘Online Crowd-Source’ ที่ต่อสู้คอร์รัปชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะว่ามันช่วย ‘เพิ่มต้นทุนของผู้เรียกสินบน’ และ ‘ลดต้นทุนของประชาชนที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลการโกง’
“แคมเปญนี้ทำให้การสู้คอร์รัปชันมีต้นทุนที่ถูกลงอย่างมากสำหรับประชาชน แค่มีสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต เราก็คลิกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิต”
ประจักษ์สรุปบทเรียนที่ได้จากกรณีนี้ว่า “หากต้องการสู้กับคอร์รัปชัน ต้องทำให้มันโปร่งใส” โดยใช้ความได้เปรียบของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน และหากเราต้องต่อสู้คอร์รัปชันในระบบและสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หนทางเดียวที่ทำได้คือ “ประชาชนต้องรวมพลังกัน เพื่อไม่ให้เราโดดเดี่ยว ที่สำคัญคือแก้ที่ตัวคุณอย่างเดียวไม่พอ ต้องแก้ที่ระบบให้ได้”
อินโดนีเซีย : ปลอดคอร์รัปชันด้วยวิธีคิดใหม่
จากอินเดีย ประจักษ์ชวนผู้ฟังมาเรียนรู้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในอินโดนีเซีย ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การ ‘พลิกวิธีคิด’ หรือ ‘Shifting Paradigm’
ประเทศอินโดนีเซียเคยเป็นประเทศหนึ่งที่มีคอร์รัปชันมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะช่วง 1965-1998 ซึ่งเป็นช่วงที่นายพลซูฮาร์โตยังเรืองอำนาจอยู่ ต่อมาเมื่อระบอบซูฮาร์โตสิ้นสุดลงในปี 1998 ปัญหาคอร์รัปชันก็ค่อยๆ คลี่คลาย อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ในปี 2016 ของอินโดนิเซียอยู่อันดับที่ 90 ส่วนไทยอยู่ที่ 101
ประจักษ์เล่าว่าภายหลังที่ซูฮาร์โต้ลงจากอำนาจ บรรยากาศประชาธิปไตยก็เริ่มเบ่งบานมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ประชาชนในประเทศก็ตระหนักดีว่า ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบไหน หากไม่มีระบบการตรวจสอบจากประชาชนและสื่อที่ดี คอร์รัปชันก็คงเกิดขึ้นอยู่ดี
จากความตระหนักดังกล่าว ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากรวมกลุ่มกันอย่างกว้างขวาง เพื่อพยายามเปลี่ยนกระบวนทัศน์หลายๆ อย่างที่จะเอื้อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
สิ่งที่ภาคประชาสังคมในอินโดนีเซียทำ ณ เวลานั้นคือ การสร้างความเข้าใจใหม่ว่า พลังทางสังคมใดบ้างที่มีส่วนสร้างและทำลายคอร์รัปชันกันบ้าง ในอินโดนีเซีย ประชาชนบอกว่ามีสิ่งที่เรียกว่า 3 ประสานคอร์รัปชันที่ทำให้มันฝังลึก คือ ข้าราชการ นักการเมือง และภาคเอกชน นักการเมืองเป็นกองหน้า ข้าราชการเป็นกองกลาง และภาคเอกชนเป็นกองหลัง 3 ประสานนี้ทำให้ระบบคอร์รัปชันมันถูกหล่อเลี้ยงในสังคมอินโดนีเซีย แต่เขาสู้ด้วยพวกมากกว่าคือ 4 ประสานสู้คอร์รัปชัน มีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ภาคธุรกิจ สื่อ และภาคประชาสังคม
หัวหอกสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันในอินโดนีเซียคือ องค์กร ‘Komsit Pemberantasan Korupsi’ (KPK) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทย KPK เป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2003 แต่ก็สามารถทำงานได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ โดยปัจจัยที่ทำให้ KPK ทำงานได้ดีนั้น ไม่ใช่เพราะตัวองค์กรเพียงอย่างเดียว หากขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของประชาชน ภาคธุรกิจ สื่อ นักวิชาการ รวมถึงเหล่าดาราอีกด้วย เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลพยายามตัดงบประมาณของ KPK ประชาชนรวมถึงดารานักร้องก็ออกมาทำแคมเปญ ‘Save KPK’ เพื่อลงขันกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือองค์กรอย่างแข็งขัน
มีกรณีที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง คือ ญาติของอดีตประธานาธิบดียูโดโยโน ที่ใช้อำนาจยักยอกเงิน กระทั่งผันงบประมาณไปให้นักการเมือง แล้วโดนจับได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงถูกโอบอุ้ม ปกป้องด้วยประธานาธิบดี แต่ปรากฏว่าประธานาธิบดีไม่สามารถทำยังนั้นได้ เพราะประชาชนจับตามองอย่างเข้มข้น ในที่สุด เขาต้องยอมให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปอย่างปกติ ญาติของประธานาธิบดีถูกตัดสินจำคุก 4 ปี
“ผลของการต่อสู้จากภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ก็คือการเปลี่ยนจินตนาการใหม่ คือต่อให้คุณมีอำนาจ มีเส้นสายมากมายขนาดไหน ถ้าคุณทำผิด โกง คุณสามารถถูกนำตัวมาลงโทษได้ มีข้าราชการมากมายโดนจับ หลายอาชีพที่เป็นชนชั้นนำก็พาเหรดเข้าคุกกันเป็นแถว”
บทเรียนสำคัญอีก 2 ข้อจากอินโดนีเซีย คือ ข้อแรก การต่อสู้คอร์รัปชันต้องเกิดจากความร่วมมือขององค์กรข้างบนซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐ กับองค์กรข้างล่างซึ่งก็คือภาคประชาชน ข้อสอง การสร้างประชาธิปไตยกับสังคมปลอดคอร์รัปชันคือเรื่องเดียวกัน เราไม่สามารถละเลยอีกสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เพราะแท้จริงแล้วการสร้างทั้งสองสิ่ง ก็คือการสร้างระบบที่ไม่ให้ใครมาผูกขาดทั้งในการเมืองและเศรษฐกิจ และเป็นระบบที่ผู้มีอำนาจทุกคนต้องถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน
สิ่งที่เราเรียนรู้จากการต่อสู้กับคอร์รัปชันจากทั่วโลกคือ การต่อสู้กับคอร์รัปชันไม่มีคำว่าสายเกินไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน การต่อสู้ต้องใช้เวลา และที่สำคัญคือ อย่าคิดว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ผูกติดอยู่กับความเป็นชาติ แต่เป็นผลผลิตของระบบที่ไม่ดีซึ่งผลิตพฤติกรรมที่ไม่ดีต่างหาก
“กลับมาที่ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา พร้อมแล้วหรือยังที่จะลุกขึ้นมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง” ประจักษ์ทิ้งท้าย