สิ่งที่คนเราคาดหวังเมื่อเริ่มออกท่องเที่ยวหรือเดินทาง น่าจะเป็นความตื่นเต้นพอประมาณ การผจญภัยที่สนุกสนานแต่ไม่ทำให้ถึงกับเสียเลือดเสียเนื้อหรือตาย ลำบากสักนิดเพื่อเข้าถึงบรรยากาศดิบๆ ของท้องถิ่น และสุดท้ายคือขอให้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย
แต่สำหรับคนที่มีเมืองท่องเที่ยวเป็นบ้านและเป็นที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่น พ่อค้าแม่ค้า คนทำงานบริการ ฯลฯ อาจหวังเพียง ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ เหมือนที่ทุกคนหวังว่าสิ่งนั้นจะเกิดกับสถานที่ที่เราต้องใช้ชีวิตทุกวัน
ข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2560 ชี้ว่า การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 361,418 ล้านบาท ชลบุรี 171,609 ล้านบาท เชียงใหม่ 32,719 ล้านบาท ฯลฯ แม้จะมีโอกาสที่ดีกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ใช่ว่าผู้คนในเมืองท่องเที่ยวจะได้ดอกผลจากการท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียมกัน
Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนสำรวจ ‘ใบหน้าของความจน’ ที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยว ผ่านงานวิจัยของ เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์และกฤษณะ แพทย์จะเกร็ง (2560) ใน “โครงการปริทัศน์สถานภาพความรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำในเมืองท่องเที่ยว” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
แผ่นดินราคา 42 ล้านของคนขับวินมอเตอร์ไซค์
พ่อค้า แม่ค้า หมอนวด ในพัทยา
ชาวต่างชาติทะลักสู่พัทยามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ หลายคนไม่เพียงมาเที่ยวแต่ถือครองที่อยู่อาศัย ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเอื้ออาทรซึ่งพบนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและประเทศอื่นๆ ในยุโรปเข้าอยู่ โรงแรมยึดผืนทรายแทบทุกหาด ขณะเดียวกันชาวพัทยาจำนวนมากกลับขาดแคลนที่อยู่
‘เคหสถานบ้านมั่นคงเขาน้อยพัทยา’ อาจเป็นชื่อไม่ค่อยคุ้นหูนักเมื่อเอ่ยถึงที่พักในพัทยา บ้านมั่นคงฯ แห่งนี้ก่อตั้งโดยคนทำงานในภาคการบริการของพัทยา เช่น พ่อค้า แม่ค้า คนขับวินมอเตอร์ไซค์ หมอนวด ฯลฯ ผู้คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวเช่น ผับ บาร์ ร้านอาหารซึ่งบุกรุกที่ดินริมคลองและที่ดินชายทะเล บ้างถูกรัฐไล่รื้อที่อยู่อาศัยเพื่อนำไปสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ พวกเขาจึงรวมเงินกันในรูปแบบสหกรณ์ถึง 42 ล้านบาทเพื่อซื้อที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัย
304 ครัวเรือน หรือราว 1,300 คน คือจำนวนประชากรภาคบริการของพัทยาที่อยู่ในที่ดินที่อยู่นอกใจกลางพัทยาผืนนี้ ซึ่งกว่าจะสร้าง ‘บ้าน’ ได้สำเร็จพวกเขาต้องพบเจออุปสรรคมากมาย สะท้อนถึงการท่องเที่ยวที่เบียดขับคนในพื้นที่ให้หาทางออกด้วยตัวเอง สถานการณ์นี้ไม่ต่างจากเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่แรงงานรายได้น้อยต้องประสบกับความยากลำบากในการเดินชีวิต แม้พวกเขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองก็ตาม
แรงงานทางเพศในเขตเมืองเก่าของเชียงใหม่
ในวันที่มือข้างหนึ่งของระบบทุนด้านการท่องเท่ียวกอบเก็บเงินจากธุรกิจทางเพศ มืออีกข้างหนึ่งได้ผลักให้สถานภาพทางสังคมของคนไทใหญ่ที่ไร้สัญชาติ ต้องทำงานที่ถูกตราหน้าว่าผิดศีลธรรมและถูกเบียดขับเข้าสู่การเป็นชายขอบของสังคมมากย่ิงขึ้น
งานดีๆ คือสิ่งที่คนไทใหญ่วาดหวังก่อนหลบภัยสงครามมาประเทศไทย แต่เมื่อมาถึงกลับพบว่ามีโอกาสในการทำงานไม่มากนัก หนึ่งในแหล่งงานของคนกลุ่มชาติพันธุ์คือย่านช้างเผือก (สันติธรรม) ประตูเมืองท่าแพ และกำแพงดินซึ่งเป็นย่านเมืองเก่า ผู้ชายชาวไทใหญ่จำนวนมากไขว่คว้าโอกาสการทำงานในร้านนวด ผู้หญิงจำนวนมากทำงานในร้านคาราโอเกะ สถานบันเทิงต่างๆ ซึ่งมีการให้บริการทางเพศแอบแฝงและไม่คุ้มครองบริการด้านสุขภาพ การป้องกันโรคติดต่อ อีกทั้งยังเกิดการทำร้ายจิตใจและการดูถูกเหยียดหยามซ้ำซ้อน ทั้งในแง่ของอาชีพและความเป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ ปัญหาแรงงานอพยพถูกกดขี่และไม่ได้รับสิทธิที่พึงได้และมียังเกิดขึ้นอีกในหลายเมืองท่องเที่ยว ทว่าแรงงานเพศหญิงมักถูกเอารัดเอาเปรียบมากกว่าเพศชายด้วยเหตุผลทางเพศสภาพและวัฒนธรรม
ชาวพม่าผู้ขับเคลื่อนป่าตอง
“ทำไมป่าตองเดี๋ยวนี้ถึงดูน่ากลัวจัง ดูมีแต่คนโหดๆ” คือหนึ่งในกระทู้พันทิป ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจของการไหลบ่าเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวพม่าซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีสัดส่วนมากที่สุดในภาคการบริการของหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ปัจจุบันนี้
ชุมชนชาวพม่ารวมตัวกันหนาแน่นแถวบ้านต้นทราย นาใน ซอย 2 แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานบริการด้านโรงแรม ตั้งแต่คนสวน พนักงานทำความสะอาด พนักงานยกกระเป๋า พนักงานต้อนรับ คนทำอาหาร เป็นกลุ่มคนที่สูบฉีดความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยไปหล่อเลี้ยงเมือง
เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติในหลายเมืองท่องเที่ยว พวกเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก มีที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีความเสี่ยงด้านอาชญากรรม และต้องเผชิญกับปัญหาการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคม แม้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องการแรงงานราคาต่ำไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการแหล่งวัตถุดิบและแรงงานค่าแรงต่ำเช่นกัน
เกาะล้านกับความปั่นป่วนของสาธารณูปโภค
ยังมีอีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยว เช่น คนท้องถิ่นดั้งเดิมเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ ขาดโอกาสเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และมีอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือนโยบายในการพัฒนาเมืองของรัฐออกแบบมาสำหรับผู้ที่มาใช้บริการจากเมืองแต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถขายแรงงานได้ ขาดสวัสดิการ และมักมีปัญหากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วของเมืองท่องเที่ยว
เกาะล้าน เป็นอีกที่หนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบนี้ ระบบการขนส่ง ระบบการจัดส่งน้ำประปา ไฟฟ้าและพลังงาน ระบบกำจัดสิ่งปฎิกูล การไปรษณีย์และการโทรคมนาคม กลไกในการควบคุมมลภาวะ เป็นสิ่งที่กำลังปั่นป่วนในเกาะล้าน
อีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเกาะล้าน จะขยายตัวเพิ่มเป็นเกือบ 2 ล้านคนต่อปี เมื่อรวมกับเกาะล้านซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3,000 คน และประชากรแฝงอีกกว่า 2,000 คน หลายพื้นที่จะมีการจราจรหนาแน่นขึ้น ขณะนี้มีบางชุมชนเริ่มประสบปัญหาแล้ว เช่นชุมชนท่าหน้าบ้าน การจราจรคับคั่งมากกว่าบริเวณอื่นเนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนและเป็นจุดเชื่อมต่อกับท่าเรือท่าหน้าบ้าน และบางชุมชนเริ่มประสบปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ เพราะ ร้านสะดวกซื้อซึ่งเปิด 24 ชั่วโมงเริ่มส่งผลให้ไฟไม่เพียงพอหรือไฟตก
คนกลับบ้าน-คนอยู่บ้าน
การพัฒนาด้านการท่องเท่ียวส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับด้านรายได้และเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำทางด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดการสิ่งแวดล้อม แรงงาน ฯลฯ ความเหลื่อมล้ำทางด้านแรงงานส่วนหน่ึงยังส่งผลต่อเนื่องไปยังความเท่าเทียมทางเพศและศิลปวัฒนธรรม เช่น โอกาสการจ้างงาน และการดำเนินกิจกรรมตามวิถีชีวิตของแรงงานต่างถิ่นท่ีย้ายถิ่นฐานเข้าในเมืองท่องเที่ยว การพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นได้รับจากการท่องเท่ียว เป็นต้น
หลังจากเที่ยวอย่างเพลิดเพลินใจ หลายคนคงได้กลับบ้าน แต่สำหรับคนที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยว พวกเขาต้องพบเจอกับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ความเหลื่อมล้ำ อคติทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเกินขนาด สาธารณูปโภคที่สร้างไม่ทันรองรับปริมาณมหาศาลของนักท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คืออีกด้านของเมืองท่องเที่ยว และเบื้องหลังความสนุก การผจญภัยเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเราทุกคน
ที่มา: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น “โครงการปริทัศน์สถานภาพความรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำในเมืองท่องเที่ยว” โดย ผศ.ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ และดร.กฤษณะ แพทย์จะเกร็ง (2560) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)