รายงานสกว.: การใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะ…ต้นแบบระบบการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ผลิตผัก จังหวัดอ่างทอง

ดร.ชวนพิศ อรุณรังสิกุล และคณะ เรื่อง

โครงการวิจัยนี้เกิดจากการที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต้องการทดลองนำร่องปรับใช้มาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน (Primary GAP) ในพื้นที่ภาคกลางที่เป็นแหล่งผลิตผักขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่ดำเนินการศึกษานำร่องไปแล้วเมื่อปี 2555 โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เกิดกระบวนการผลิตตามข้อแนะนำตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยเบื้องต้นในระดับแปลงผลิตที่เชื่อมโยงถึงเกษตรกร ผู้รวบรวม ผู้ประกอบการ และตลาด โดยอาศัยกลไกความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และผู้ผลิต เพื่อยกระดับความสามารถและเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชผักสำหรับผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้อง

สำหรับงานวิจัยนี้ ดร.ชวนพิศ อรุณรังสิกุล สังกัดศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และคณะ ได้มุ่งเน้นกลไกการดำเนินงานร่วมกับหลายภาคส่วน อาทิ หอการค้าจังหวัดอ่างทอง สหกรณ์การบริการตลาดและสินค้าเกษตรปลอดภัยชาวอ่างทอง จำกัด สำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง และบริษัท 108 เทคโนฟาร์ม ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมผลิตผลและนำส่งตลาดในเบื้องต้น โดยได้จัดอบรมเกษตรกร ผู้รวบรวม ผู้ซื้อ เจ้าหน้าที่ของภาครัฐและเอกชน ให้เข้าใจเนื้อหาของมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน การสร้างความเข้าใจในการใช้เอกสารบันทึก รายการตรวจ ระบบการควบคุมภายในกลุ่ม ระบบการตรวจสอบภายในกลุ่มเกษตรกร และการตรวจประเมินรับรองก่อนจะนำไปปฏิบัติจริง รวมทั้งจัดอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสำหรับนักศึกษาและบุคลากรของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิศูนย์หันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและสามารถพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นหน่วยรับรองในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ยังศึกษาผลลัพธ์ ผลกระทบ และอุปสรรคของการใช้มาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่มีต่อระบบผลิต ระบบตรวจประเมินรับรอง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในคุณภาพความปลอดภัยของพืชผักหลังการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งวิเคราะห์และสรุปผล พร้อมกับการจัดเวทีเสวนาวิชาการระหว่างผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติที่สามารถให้การสนับสนุนความปลอดภัยของพืชผักในพื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไป ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรในจังหวัดอ่างทองมีความสนใจและเข้าใจในความสำคัญของการผลิตที่ต้องมีความปลอดภัยด้านอาหารโดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการวิจัยทั้งหมดจำนวน 37 ราย สามารถดำเนินการผ่านการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน 100% ซึ่งเกษตรกรทุกรายสามารถทำตามข้อกำหนดได้ แต่ต้องมีผู้ให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการและอาจารย์จากสถาบันศึกษาเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การอบรมให้ความรู้ การพัฒนาพื้นที่ผลิตและข้อมูลที่จำเป็น เป็นต้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของจังหวัดอ่างทองมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ทั้งนี้ ราคาผลผลิตของเกษตรกรที่สามารถผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานความปลอดภัย ผู้รวบรวมอย่างสหกรณ์ฯ จะมีการพิจารณาปรับราคาเพิ่มขึ้น 10 – 15%

ในส่วนของผู้รวบรวมถือเป็นผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญ เนื่องจากเป็นผู้เชื่อมโยงผลผลิตสู่ตลาดจึงต้องมีความตระหนัก รับผิดชอบต่อการผลิต และพัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดเวลาโดยความช่วยเหลือภายใต้ภารกิจรัฐร่วมกับเอกชนหรือ “ประชารัฐ” สำหรับนักศึกษาและบุคลากรผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อการประเมินรับรองพบว่า ยังมีอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่การตรวจสอบระบบการผลิตในแปลงเกษตรกร เนื่องจากเป็นบทบาทใหม่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน จึงต้องอาศัยการทำความเข้าใจและหาประสบการณ์มากขึ้น แต่เป็นภารกิจที่อาจารย์และนักศึกษาส่วนหนึ่งให้ความสนใจและเข้าร่วมการปฏิบัติภารกิจการตรวจจำนวน 20 คน นอกจากนั้นควรมีการบรรจุเนื้อหาและความรู้ด้านการตรวจสอบระบบการผลิตในระดับฟาร์มในหลักสูตรการศึกษาต่อไป

ภาพรวมของการดำเนินงานวิจัยนี้ทำให้ได้แนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในห่วงโซ่การผลิตระดับชุมชน เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานแบบประชารัฐที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ชุมชนผู้ผลิตผักปลอดภัย โดยความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา เอกชน ผู้ผลิต ผู้รวบรวม และผู้จำหน่ายพืชผักผลไม้ที่มีความปลอดภัยในจังหวัดอ่างทอง เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร อีกทั้งสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยของพื้นที่จังหวัดภาคกลางตอนบน ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรีและลพบุรี ได้ต่อไปในอนาคต ในส่วนของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์คณะนักวิจัยได้นำผลงานวิจัยไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ เช่น มีการทำระบบผลิตตามมาตรฐานฯ โดยการประสานงานของสถาบันคุณภาพเกษตรไทย (ThaiGAP Institute) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และมีการเปลี่ยนชื่อมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐานเป็น “มาตรฐาน primaryThaiGAP” ด้วย การอบรมให้ความรู้และวิธีการปฏิบัติในภารกิจของที่ปรึกษาให้กับอาจารย์และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร สนับสนุนการพัฒนาให้กับเกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพริกบ้านหนองหอยใหม่ จังหวัดสกลนคร จนได้รับการรับรองมาตรฐานฯ นี้จากหน่วยรับรองเอกชนที่ได้รับการรับรองระบบงานสากลซึ่งเป็นการดำเนินการแบบรัฐร่วมกับเอกชน และมีวิสาหกิจฯ ลงทุนค่าตรวจประเมินรับรองด้วยตนเอง


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 136 ปีที่ 23 เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 ในชื่อ การใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะ…ต้นแบบระบบการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ผลิตผัก จังหวัดอ่างทอง