ประเทศไทยมีนโยบายเฝ้าระวัง “สารเร่งเนื้อแดง” อย่างเข้มข้นมากว่าทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2546 มีการใช้มาตรการตรวจจับและควบคุมคุณภาพเนื้อสัตว์ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศไม่ให้มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่คุณรู้ไหมว่า ในบางประเทศสารเร่งเนื้อแดงไม่ใช่สารต้องห้าม และสามารถใช้ในอาหารสัตว์ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสุกรอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้แสดงความพยายามหลายต่อหลายครั้งให้รัฐบาลไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรจากสหรัฐฯ ผ่านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะลงนามถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับการเปิดเสรีตลาดเนื้อสุกรของไทยลงไปได้บ้าง
แต่คำถามก็คือ จริงๆ แล้วไทยควรมีจุดยืนอย่างไรต่อการเปิดเสรีการนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างถูกกฎหมาย เราควรจะต่อต้านการนำเข้าหรือผ่อนปรนนโยบายที่มีอยู่ตามแบบประเทศอื่นกันแน่ หากเปิดตลาดเสรีให้มีการนำเข้ามาได้จริง ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบไหม และควรมีกรอบหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทยไม่ให้แย่ลงกว่าเดิม
รู้จักสารเร่งเนื้อแดง
“แรคโตพามีน” เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) หรือเรียกกันว่า “สารเร่งเนื้อแดง” แต่เดิมเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดในคนและสัตว์ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ หอบหืด ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และเป็นยายับยั้งการหดตัวของมดลูกในสัตว์ ต่อมามีการวิจัยและพัฒนามาใช้เร่งการเจริญเติบโตในสัตว์เลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อหลายชนิดรวมทั้งสุกร โดยแรคโตพามีนมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันและสร้างโปรตีนให้เพิ่มขึ้น
สุกรที่ได้รับแรคโตพามีนในอาหารจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 60 กิโลกรัมเป็น 100 กิโลกรัมได้เร็วกว่าสุกรทั่วไป 4 วัน ในขณะที่ต้องการอาหารน้อยกว่า 18.5 กิโลกรัม และมีน้ำหนักซากที่ชำแหละสูงกว่าถึง 4.5 กิโลกรัม จึงมีการนำสารในกลุ่มนี้มาใช้ผสมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ชอบเนื้อแดงไขมันน้อย
แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์แล้ว แรคโตพามีนจะไม่สลายหายไปไหน มันสามารถตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคได้และมีคุณสมบัติทนต่อความร้อนในการประกอบอาหาร
ข้อมูลทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าหากร่างกายได้รับสารกลุ่มนี้เข้าไปในปริมาณสูงจะส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นต้น โดยจะมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดลม และกระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายอาจเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการทางจิตประสาทได้[1]
สารเร่งเนื้อแดง สารต้องห้ามในประเทศไทย
ในประเทศไทยแรคโตพามีนเป็นสารต้องห้าม โดยจัดเป็นสารเคมีอันตราย ห้ามไม่ให้มีการตกค้างในเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ที่ใช้ในการบริโภค ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 พ.ศ.2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งกำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องไม่ตรวจพบสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและทำลายสารดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้แรคโตพามีนในอาหารเลี้ยงสัตว์อีกด้วย โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[2] ห้ามการใช้สารเคมีกลุ่มดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามยังมีการอนุญาตให้ใช้แรคโตพามีนเป็นส่วนประกอบในยาสำหรับรักษาสัตว์ได้ แต่เป็นยาควบคุมพิเศษและต้องสั่งจ่ายโดยสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งเท่านั้น[3]
นอกจากการควบคุมโดยกฎหมายแล้วยังมีการรณรงค์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรูปถึงอันตรายจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษ ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสุกรที่มีความเสี่ยงได้อย่างค่อนข้างประสบความสำเร็จ
มาตรฐานการใช้สารเร่งเนื้อแดงในระดับโลก
ถึงแม้ว่าไทยจะห้ามการใช้สารแรคโตพามีนโดยเด็ดขาด แต่ปัจจุบันมีบางประเทศที่อนุญาตให้ใช้ผสมอาหารเพื่อแรงการสร้างกล้ามเนื้อในทั้งสุกรและโคได้ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก แคนาดา บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริกา โดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เปรู เวเนซูเอลา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เกาหลี ฟิลิปินส์ เวียดนาม และแอฟริกาใต้
ประเด็นการอนุญาตให้ใช้สารแรคโตพามีนในการเลี้ยงสัตว์ได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันในระดับสากลมายาวนานนับสิบปี จนกระทั่งในปี 2555 ในการประชุมร่วมคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission หรือ CAC) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางอาหาร ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 188 ประเทศ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานระดับสากลทางอาหาร ได้มีการลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้ใช้สารดังกล่าวได้ 69 เสียง ต่อเสียงคัดค้าน 67 เสียง โดย Codex มีการกำหนดค่าปริมาณการตกค้างสูงสุดหรือ Maximum Residue Limits (MRLs) ของสารแรคโตพามีนในชิ้นส่วนสุกรและเนื้อโคไว้เป็นมาตรฐานสากล โดยส่วนที่เป็นเนื้อและไขมันกำหนดให้มีการตกค้างไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตับไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ไตไม่เกิน 90 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม
กลุ่มประเทศที่สนับสนุนในการลงคะแนนดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และแคนาดา ซึ่งต่อมาสหรัฐอเมริกามักใช้มติและค่ามาตรฐานของ Codex เป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเปิดรับเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ และแก้ไขกฎระเบียบที่เข้มงวดที่มีอยู่ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่คัดค้าน ได้แก่ สหภาพยุโรป และจีน ซึ่งแสดงความเห็นว่าค่า MRLs นี้ไม่ได้มาจากมติเอกฉันท์ ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันได้ อีกทั้งยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม เพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ Codex ได้แนะนำว่าแต่ละประเทศสามารถกำหนดค่ามาตรฐานการตกค้างตามความเหมาะสมของตนเองได้ แต่ควรอยู่บนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงตามที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน โดยไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า
ต่อมา รัสเซียได้แสดงความเห็นไม่ยอมรับค่า MRLs ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าการคำนวณ MRLs ของสารแรคโตพามีนโดย Codex นั้นมาจากข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบที่เพียงพอที่จะสามารถกำหนดเป็นค่า MRLs ได้ ที่สำคัญ ระดับสารตกค้างที่กำหนดเมื่อนำมาประเมินร่วมกับการบริโภคเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกรในรัสเซียแล้วพบว่าทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับที่ยอมรับไม่ได้ ส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และลดอายุเฉลี่ยประชากรลง
มาตรฐานโลก มาตรฐานไทย และความปลอดภัยของผู้บริโภค
เมื่อไม่นานมานี้ ผศ.เวณิกา เบ็ญจพงษ์ และคณะ ได้ทำการศึกษาผลกระทบในเชิงสุขภาพของสารเร่งเนื้อแดงในโครงการ “การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพในการได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อและเครื่องในสุกรและทัศนคติการเลือกซื้อเนื้อและเครื่องในสุกร” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อช่วยตอบคำถามว่าไทยควรอนุญาตนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรที่มีสารแรคโตพามีนตกค้างเข้ามาในประเทศหรือไม่ หากมองในมุมความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค
ข้อมูลการบริโภคอาหารของคนไทยจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีการบริโภคเครื่องในสุกร รวมทั้งเลือดสุกร ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้มีการตกค้างของสารแรคโตพามีนสูง เมื่อบริโภคในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต ซึ่งรูปแบบการบริโภคนี้อาจทำให้คนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการได้รับสารแรคโตพามีนมากกว่าการประเมินของ Codex
การศึกษาพบว่า เมื่อประเมินการได้รับสารแรคโตพามีนจากการนำข้อมูลการบริโภคอาหารของคนไทยมาคำนวณเป็นสัดส่วนกับค่ามาตรฐานของ Codex ประชากรไทยทั่วไปอายุ 18-64.9 ปี ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกล่าวคือนิยมบริโภคเครื่องในมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน มีโอกาสได้รับสัมผัสสารแรคโตพามีนสูงกว่าประชากรทั่วไปมาก แต่การได้รับสัมผัสแรคโตพามีนของประชากรโดยทั่วไปและประชากรกลุ่มเสี่ยงยังถือว่าต่ำกว่าค่าความปลอดภัยระดับปริมาณการเจือปนในอาหารที่ได้รับต่อวัน (Acceptable Daily Intake หรือ ADI) ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ (The Joing FAO/WHO Expert Committee on Food Additive, JECFA) ได้เสนอไว้ที่ 0-0.001 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน
ความเสี่ยงดังกล่าวจะสูงขึ้นไปอีกหากคำนวณจากกรณีเลวร้ายที่สุด คือคำนวณจากค่าสูงสุดที่มีรายงานการพบสารแรคโตพามีนตกค้างในเนื้อ เครื่องใน และก้อนเลือดสุกร โดยจะทำให้การได้รับสัมผัสของประชาชนทั่วไปสูงกว่าค่าความปลอดภัยที่ JECFA เสนอไว้
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง อันได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต และเด็กเล็ก การได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อสัตว์แม้ที่การบริโภคที่ระดับเฉลี่ยก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ โดยหยิบยกการศึกษาจากการสร้างแบบจำลองวิเคราะห์ความเสี่ยงสะสมเกี่ยวกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของหัวใจและหลอดเลือดของรัสเซีย ซึ่งใช้ข้อมูลจาก FAO/WHO มาชี้ให้เห็นว่า แม้ประเมินจากการบริโภคเนื้อและเครื่องในสุกรที่ระดับค่าเฉลี่ย ความเสี่ยงจากการได้รับสารแรคโตพามีนนั้นสูงเกินระดับที่รับได้ ทำให้อายุคาดเฉลี่ยของประชากรรัสเซียลดลง จากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
จึงเห็นได้ว่าหากใช้ค่ามาตรฐานของ Codex มาประเมินการได้รับสัมผัสสารแรคโตพามีนในประชากรไทยจะพบว่ามีกลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพคือกลุ่มที่นิยมบริโภคเครื่องใน (มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน) และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในการเปิดรับเนื้อสุกรนำเข้าจากต่างประเทศที่มีการตกค้างของสารแรคโตพามีนเพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภคเอาไว้
นอกเหนือไปจากประเด็นผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ผู้กำหนดนโยบายอาจต้องให้ความสำคัญด้วย เช่น ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกเนื้อหมูอย่างสหรัฐอเมริกามาก มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการเปิดเสรีการนำเข้าให้สหรัฐฯ เนื้อและเครื่องในสุกรราคาถูกจำนวนมากจะไหลทะลักเข้ามาในประเทศ ทำให้ราคาเนื้อและเครื่องในสุกรหน้าฟาร์มไทยตกต่ำลง ส่งผลต่อเกษตรและห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสุกรทั้งหมด ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในเวียดนาม ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจำนวนมากต้องล้มละลายจากการดั๊มราคาหลังเปิดตลาด ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคในที่สุด
หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561
อ้างอิง
1. เวณิกา เบ็ญจพงษ์ และคณะ (2559). โครงการ การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพในการได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อและเครื่องในสุกร และทัศนคติการเลือกซื้อเนื้อและเครื่องในสุกร. มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ข่าว “TPP กับข้อวิตกของภาคปศุสัตว์ไทย” จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 20 พฤศจิกายน 2558
4. บทความ “แรคโตพามีน…หายนะธุรกิจสุกรไทย(ตอนแรก)” จาก สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
5. บทความ “แรคโตพามีน…หายนะธุรกิจสุกรไทย(ตอนสอง)” จาก สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
เชิงอรรถ
1. | ↑ | ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเร่งเนื้อแดง |
2. | ↑ | ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และการกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด คุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุดิบในอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 ข้อที่ 3 ห้ามใช้ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ และเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ เป็นวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์ |
3. | ↑ | พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 อนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาสัตว์ Paylean 20 ซึ่งมีแรคโตพามีนเป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นยาสำหรับสุกร |