รายงาน: จะรับได้ไหม ถ้าไทยยอมให้เนื้อหมูเร่งเนื้อแดงเข้ามาขายในประเทศ ?

ประเทศไทยมีนโยบายเฝ้าระวัง “สารเร่งเนื้อแดง” อย่างเข้มข้นมากว่าทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2546 มีการใช้มาตรการตรวจจับและควบคุมคุณภาพเนื้อสัตว์ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศไม่ให้มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่คุณรู้ไหมว่า ในบางประเทศสารเร่งเนื้อแดงไม่ใช่สารต้องห้าม และสามารถใช้ในอาหารสัตว์ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสุกรอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้แสดงความพยายามหลายต่อหลายครั้งให้รัฐบาลไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรจากสหรัฐฯ ผ่านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะลงนามถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับการเปิดเสรีตลาดเนื้อสุกรของไทยลงไปได้บ้าง

แต่คำถามก็คือ จริงๆ แล้วไทยควรมีจุดยืนอย่างไรต่อการเปิดเสรีการนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างถูกกฎหมาย เราควรจะต่อต้านการนำเข้าหรือผ่อนปรนนโยบายที่มีอยู่ตามแบบประเทศอื่นกันแน่ หากเปิดตลาดเสรีให้มีการนำเข้ามาได้จริง ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบไหม และควรมีกรอบหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทยไม่ให้แย่ลงกว่าเดิม

รู้จักสารเร่งเนื้อแดง

“แรคโตพามีน” เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) หรือเรียกกันว่า “สารเร่งเนื้อแดง” แต่เดิมเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดในคนและสัตว์ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ หอบหืด ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และเป็นยายับยั้งการหดตัวของมดลูกในสัตว์ ต่อมามีการวิจัยและพัฒนามาใช้เร่งการเจริญเติบโตในสัตว์เลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อหลายชนิดรวมทั้งสุกร โดยแรคโตพามีนมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันและสร้างโปรตีนให้เพิ่มขึ้น

สุกรที่ได้รับแรคโตพามีนในอาหารจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 60 กิโลกรัมเป็น 100 กิโลกรัมได้เร็วกว่าสุกรทั่วไป 4 วัน  ในขณะที่ต้องการอาหารน้อยกว่า 18.5 กิโลกรัม และมีน้ำหนักซากที่ชำแหละสูงกว่าถึง 4.5 กิโลกรัม จึงมีการนำสารในกลุ่มนี้มาใช้ผสมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ชอบเนื้อแดงไขมันน้อย

แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์แล้ว แรคโตพามีนจะไม่สลายหายไปไหน มันสามารถตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคได้และมีคุณสมบัติทนต่อความร้อนในการประกอบอาหาร

ข้อมูลทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าหากร่างกายได้รับสารกลุ่มนี้เข้าไปในปริมาณสูงจะส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นต้น โดยจะมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดลม และกระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายอาจเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการทางจิตประสาทได้[1]

สารเร่งเนื้อแดง สารต้องห้ามในประเทศไทย

ในประเทศไทยแรคโตพามีนเป็นสารต้องห้าม โดยจัดเป็นสารเคมีอันตราย ห้ามไม่ให้มีการตกค้างในเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ที่ใช้ในการบริโภค ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 พ.ศ.2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งกำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องไม่ตรวจพบสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและทำลายสารดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้แรคโตพามีนในอาหารเลี้ยงสัตว์อีกด้วย โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[2] ห้ามการใช้สารเคมีกลุ่มดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตามยังมีการอนุญาตให้ใช้แรคโตพามีนเป็นส่วนประกอบในยาสำหรับรักษาสัตว์ได้ แต่เป็นยาควบคุมพิเศษและต้องสั่งจ่ายโดยสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งเท่านั้น[3]

นอกจากการควบคุมโดยกฎหมายแล้วยังมีการรณรงค์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรูปถึงอันตรายจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษ ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสุกรที่มีความเสี่ยงได้อย่างค่อนข้างประสบความสำเร็จ

มาตรฐานการใช้สารเร่งเนื้อแดงในระดับโลก

ถึงแม้ว่าไทยจะห้ามการใช้สารแรคโตพามีนโดยเด็ดขาด แต่ปัจจุบันมีบางประเทศที่อนุญาตให้ใช้ผสมอาหารเพื่อแรงการสร้างกล้ามเนื้อในทั้งสุกรและโคได้ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก แคนาดา บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริกา โดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เปรู เวเนซูเอลา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เกาหลี ฟิลิปินส์ เวียดนาม และแอฟริกาใต้

ประเด็นการอนุญาตให้ใช้สารแรคโตพามีนในการเลี้ยงสัตว์ได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันในระดับสากลมายาวนานนับสิบปี จนกระทั่งในปี 2555 ในการประชุมร่วมคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission หรือ CAC) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางอาหาร ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 188 ประเทศ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานระดับสากลทางอาหาร ได้มีการลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้ใช้สารดังกล่าวได้ 69 เสียง ต่อเสียงคัดค้าน 67 เสียง โดย Codex มีการกำหนดค่าปริมาณการตกค้างสูงสุดหรือ Maximum Residue Limits (MRLs) ของสารแรคโตพามีนในชิ้นส่วนสุกรและเนื้อโคไว้เป็นมาตรฐานสากล โดยส่วนที่เป็นเนื้อและไขมันกำหนดให้มีการตกค้างไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตับไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ไตไม่เกิน 90 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

กลุ่มประเทศที่สนับสนุนในการลงคะแนนดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และแคนาดา ซึ่งต่อมาสหรัฐอเมริกามักใช้มติและค่ามาตรฐานของ Codex เป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเปิดรับเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ และแก้ไขกฎระเบียบที่เข้มงวดที่มีอยู่ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่คัดค้าน ได้แก่ สหภาพยุโรป และจีน ซึ่งแสดงความเห็นว่าค่า MRLs นี้ไม่ได้มาจากมติเอกฉันท์ ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันได้ อีกทั้งยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม เพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ  Codex ได้แนะนำว่าแต่ละประเทศสามารถกำหนดค่ามาตรฐานการตกค้างตามความเหมาะสมของตนเองได้ แต่ควรอยู่บนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงตามที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน โดยไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า

ต่อมา รัสเซียได้แสดงความเห็นไม่ยอมรับค่า MRLs ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าการคำนวณ MRLs ของสารแรคโตพามีนโดย Codex นั้นมาจากข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบที่เพียงพอที่จะสามารถกำหนดเป็นค่า MRLs ได้ ที่สำคัญ ระดับสารตกค้างที่กำหนดเมื่อนำมาประเมินร่วมกับการบริโภคเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกรในรัสเซียแล้วพบว่าทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับที่ยอมรับไม่ได้ ส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และลดอายุเฉลี่ยประชากรลง

มาตรฐานโลก มาตรฐานไทย และความปลอดภัยของผู้บริโภค

เมื่อไม่นานมานี้ ผศ.เวณิกา เบ็ญจพงษ์ และคณะ ได้ทำการศึกษาผลกระทบในเชิงสุขภาพของสารเร่งเนื้อแดงในโครงการ “การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพในการได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อและเครื่องในสุกรและทัศนคติการเลือกซื้อเนื้อและเครื่องในสุกร” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อช่วยตอบคำถามว่าไทยควรอนุญาตนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรที่มีสารแรคโตพามีนตกค้างเข้ามาในประเทศหรือไม่ หากมองในมุมความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค

ข้อมูลการบริโภคอาหารของคนไทยจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีการบริโภคเครื่องในสุกร รวมทั้งเลือดสุกร ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้มีการตกค้างของสารแรคโตพามีนสูง เมื่อบริโภคในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต ซึ่งรูปแบบการบริโภคนี้อาจทำให้คนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการได้รับสารแรคโตพามีนมากกว่าการประเมินของ Codex

การศึกษาพบว่า เมื่อประเมินการได้รับสารแรคโตพามีนจากการนำข้อมูลการบริโภคอาหารของคนไทยมาคำนวณเป็นสัดส่วนกับค่ามาตรฐานของ Codex  ประชากรไทยทั่วไปอายุ 18-64.9 ปี ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกล่าวคือนิยมบริโภคเครื่องในมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน มีโอกาสได้รับสัมผัสสารแรคโตพามีนสูงกว่าประชากรทั่วไปมาก แต่การได้รับสัมผัสแรคโตพามีนของประชากรโดยทั่วไปและประชากรกลุ่มเสี่ยงยังถือว่าต่ำกว่าค่าความปลอดภัยระดับปริมาณการเจือปนในอาหารที่ได้รับต่อวัน (Acceptable Daily Intake หรือ ADI) ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ (The Joing FAO/WHO Expert Committee on Food Additive, JECFA) ได้เสนอไว้ที่ 0-0.001 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน

ความเสี่ยงดังกล่าวจะสูงขึ้นไปอีกหากคำนวณจากกรณีเลวร้ายที่สุด คือคำนวณจากค่าสูงสุดที่มีรายงานการพบสารแรคโตพามีนตกค้างในเนื้อ เครื่องใน และก้อนเลือดสุกร โดยจะทำให้การได้รับสัมผัสของประชาชนทั่วไปสูงกว่าค่าความปลอดภัยที่ JECFA เสนอไว้

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง อันได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต และเด็กเล็ก การได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อสัตว์แม้ที่การบริโภคที่ระดับเฉลี่ยก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ โดยหยิบยกการศึกษาจากการสร้างแบบจำลองวิเคราะห์ความเสี่ยงสะสมเกี่ยวกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของหัวใจและหลอดเลือดของรัสเซีย ซึ่งใช้ข้อมูลจาก FAO/WHO มาชี้ให้เห็นว่า แม้ประเมินจากการบริโภคเนื้อและเครื่องในสุกรที่ระดับค่าเฉลี่ย ความเสี่ยงจากการได้รับสารแรคโตพามีนนั้นสูงเกินระดับที่รับได้ ทำให้อายุคาดเฉลี่ยของประชากรรัสเซียลดลง จากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

จึงเห็นได้ว่าหากใช้ค่ามาตรฐานของ Codex มาประเมินการได้รับสัมผัสสารแรคโตพามีนในประชากรไทยจะพบว่ามีกลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพคือกลุ่มที่นิยมบริโภคเครื่องใน (มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน) และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในการเปิดรับเนื้อสุกรนำเข้าจากต่างประเทศที่มีการตกค้างของสารแรคโตพามีนเพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภคเอาไว้

นอกเหนือไปจากประเด็นผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ผู้กำหนดนโยบายอาจต้องให้ความสำคัญด้วย เช่น ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกเนื้อหมูอย่างสหรัฐอเมริกามาก มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการเปิดเสรีการนำเข้าให้สหรัฐฯ เนื้อและเครื่องในสุกรราคาถูกจำนวนมากจะไหลทะลักเข้ามาในประเทศ ทำให้ราคาเนื้อและเครื่องในสุกรหน้าฟาร์มไทยตกต่ำลง ส่งผลต่อเกษตรและห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสุกรทั้งหมด ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในเวียดนาม ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจำนวนมากต้องล้มละลายจากการดั๊มราคาหลังเปิดตลาด ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคในที่สุด

 

หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561


อ้างอิง

1. เวณิกา เบ็ญจพงษ์ และคณะ (2559). โครงการ การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพในการได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อและเครื่องในสุกร และทัศนคติการเลือกซื้อเนื้อและเครื่องในสุกร. มหาวิทยาลัยมหิดล

2. ข่าว “เตือนผู้บริโภค สารเร่งเนื้อแดงอันตราย” จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 27 พฤศจิกายน 2556 

3. ข่าว “TPP กับข้อวิตกของภาคปศุสัตว์ไทย” จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 20 พฤศจิกายน 2558

4. บทความ “แรคโตพามีน…หายนะธุรกิจสุกรไทย(ตอนแรก)” จาก สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์

5. บทความ “แรคโตพามีน…หายนะธุรกิจสุกรไทย(ตอนสอง)” จาก สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์

เชิงอรรถ   [ + ]

1. ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเร่งเนื้อแดง
2. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และการกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด  คุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุดิบในอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 ข้อที่ 3 ห้ามใช้ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ และเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ เป็นวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์
3. พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 อนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาสัตว์ Paylean 20 ซึ่งมีแรคโตพามีนเป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นยาสำหรับสุกร