รายงาน: คำต่อคำ มุมมองเรื่องอนาคตเศรษฐกิจไทย จากสามนักวิจัยเศรษฐศาสตร์ สกว.

ทุกวันนี้เมื่ออ่านข่าวหรือบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจไทย เรามักเจอแต่เรื่องราวของปัญหาที่น่ากังวล คำศัพท์ที่อธิบายถึงอาการไม่สู้ดีทางเศรษฐกิจ อาทิ ผลิตภาพการผลิตต่ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ การไม่สามารถยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้ ฯลฯ

ปัญหาไม่ได้ปรากฏอยู่ในข่าวและบทวิเคราะห์เชิงลึกเท่านั้น ในโลกจริง หากมิใช่คนที่มีความมั่งคั่งจากทรัพย์สิน หรือมีความมั่นคงจากเงินเดือนประจำ คนส่วนใหญ่ย่อมรู้สึกได้ถึงความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้แม้ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในไตรมาสสอง ปี 2560 จะอยู่ที่ 3.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก็ตาม

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยกันแน่? เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร? อะไรคือประเด็นเศรษฐกิจที่สังคมไทยควรจับตา? อะไรคือทางออกสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย? คำถามเหล่านี้เป็นคำถามปลายเปิดที่มองได้จากหลายมุมและตอบได้จากหลายทาง ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ ‘แว่นตา’ แบบไหนในการมอง

เวทีเสวนาสาธารณะ Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 3  นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งนั่งล้อมวงสนทนา – ถามตอบกันในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย: สถานการณ์ปัจจุบันและทางออกสำหรับอนาคต”  แม้ทุกคนจะเป็น ‘นักเศรษฐศาสตร์’ แต่ประเด็นที่สนทนาก็มีหลากรสชาติ และให้ ‘คำตอบ’ ที่น่าสนใจในมุมมองเศรษฐกิจมหภาค นโยบายอุตสาหกรรม และการปฏิรูปการศึกษา

บนเวทีประกอบด้วย 3 นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้แก่  รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รศ.ดร.พีระ เจริญพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  โดยมี ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ The101.world หัวหน้าโครงการการจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. ทำหน้าที่คอยถามและดำเนินการสนทนา

ต่อไปนี้คือคำต่อคำของบทสนทนาบนเวที

 

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจและการส่งออกต่างๆ ดีขึ้น แต่ทำไมคนทั่วไปยังบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี

สมประวิณ : ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ประกาศมาอยู่ที่ 3.7% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะโตแค่ 3.1% ซึ่งตัวเลขจริงดีกว่าที่คาดไว้เยอะ แต่ทุกคนกลับตั้งคำถามว่าข้อมูลผิดหรือเปล่า บางคนมาถามผมด้วยว่าสภาพัฒน์คำนวณผิดหรือเปล่า แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น

ถ้าเปรียบประเทศไทยกับคน เรามีอยู่สองอาการ อาการแรกคือไม่สบาย และอาการที่สองคือชรา เศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเหมือนอาการป่วยเริ่มฟื้นไข้ซึ่งมาพร้อมกับการส่งออกที่ดีขึ้น แต่อย่าลืมว่าฟื้นมาแล้วเราก็ยังเป็นคนแก่เหมือนเดิม ยังเดินไม่ได้เร็วเหมือนตอนหนุ่มๆ  ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เราคงเดินเร็วเท่าเดิมไม่ได้แล้ว

โรคจริงของเศรษฐกิจ คือ ‘แก่’ ประเทศไทยพัฒนามาหลายลำดับขั้นแล้ว เริ่มตั้งแต่ขุดทรัพยากรมาขาย แล้วพัฒนาด้วยการใส่ปัจจัยการผลิต ใส่ทุนและแรงงานเข้าไป จนมาถึงปัจจุบัน เครื่องยนต์ที่ใช้ก็เริ่มเก่า แต่เส้นทางที่ต้องเดินต่อยังชันอยู่จึงไม่แปลกที่เราจะเติบโตได้ช้า

 

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นให้ประโยชน์กับคนถ้วนหน้ากันจริงหรือไม่ หรือว่าผลได้กระจุกกับคนบางกลุ่มเท่านั้น

สมประวิณ : เราฟื้นตัวอย่างรวดเร็วผ่านการส่งออกที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทใหญ่ บริษัทข้ามชาติทั้งหลาย ดังนั้นผลของการเติบโตจึงตกกับคนกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจด้วย เช่น ในธุรกิจค้าปลีก ผู้ประกอบการห้างจะบอกว่ากำลังซื้อตอนนี้ไม่ดีเลย ธุรกิจไม่ค่อยดี พอไปดูตัวเลขก็พบว่า ยอดขายของห้างเติบโตเพียงแค่ 2.3% ในขณะที่ยอดขายธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดโต 5%  ซึ่งเมื่อไปดูรายละเอียดจริงๆ จึงพบว่า ธุรกิจค้าปลีกเติบโตเพราะการค้าขายออนไลน์ขยายตัวกว่า 15 %

เวลาที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการต้องถามตัวเองให้ดีว่า ปัญหาเป็นวัฎจักรที่กระทบทุกคน หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบเฉพาะธุรกิจของตน ถ้ามัวแต่รอให้เศรษฐกิจดีขึ้น โดยไม่รู้ว่าโครงสร้างเป็นปัญหา ตรงนี้จะอันตราย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาการกระจุกตัว เสียงเลยสะท้อนออกมาดัง

 

การกระจุกตัวของทรัพยากรส่งผลต่อการเติบโตโดยรวมอย่างไร

สมประวิณ : ในสถานการณ์แบบนี้ การหวังจะให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวเป็นเรื่องยาก ในขณะที่การหวังให้มีคนบางกลุ่มที่เติบโตและกระจายผลไปให้คนอื่นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ง่ายเช่นกัน มีหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเล่มหนึ่งที่เขียนโดย Mancur Olson ที่ตั้งคำถามว่าทำไมประเทศที่เคยยิ่งใหญ่ถึงพังทลายลงได้ เขาบอกว่าเมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มทุนจะโตตามไปด้วย กลุ่มทุนเหล่านี้เมื่อมีอำนาจมากขึ้นก็จะใช้อำนาจแย่งชิงตลาด ใช้แต่กลยุทธ์ทางราคามาแข่งขัน จนทำให้ไม่มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น

ในโลกของเศรษฐศาสตร์มหภาคบอกว่า ถ้าอยากให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาว คุณต้องไม่ใช่ราคา แต่ใช้คุณภาพ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น ไอโฟน ซัมซุง หรือรถยนต์ ที่การผลิตสินค้ามีคุณภาพดีขึ้นทุกปี แต่ยังสามารถขายได้ในราคาเท่าเดิม ไม่ได้ใช้การลดราคาเป็นกลยุทธ์หลักในการแย่งชิงตลาด

ทุกวันนี้เราเห็นผู้ประกอบการไทยที่ส่งออก เวลาที่เงินบาทแข็งขึ้นนิดนึงก็เริ่มโวยวายแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด

 

เศรษฐกิจมหภาคของไทยมีอาการอะไรที่ส่อให้เห็นปัญหาว่ากำลังติดโรค 

สมประวิณ : ที่ชัดคือเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและเปราะบางมากขึ้น เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยโตได้เกือบปีละ 10% ช่วงกลางทศวรรษ 2540 ยังโตได้ปีละ 5%  แต่ทุกวันนี้เราลุ้นกันมากให้โตได้ 3%  ซึ่งพอได้ 3% ตามเป้าเราก็ดีใจแล้ว การที่เศรษฐกิจโตได้ช้าหมายความว่าในระยะยาวประเทศเราจะจน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศกลายเป็นคนแก่

สาเหตุหลักมาจากการที่เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รายงานของ World Economic Forum บอกว่า อีก 3 ปี ความสามารถในการแข่งขันของเราจะต่ำกว่าเวียดนาม

ความเปราะบางทางเศรษฐกิจยังมีผลมาจากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ช่วงที่ผ่านมาเราใช้อุปสงค์เป็นตัวกระตุ้นให้คนบริโภค แต่ในเชิงหลักการ ถ้าอยากให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เราต้องขับเคลื่อนทางด้านอุปทาน กล่าวคือ ต้องผลิตได้มากขึ้น รายได้มากขึ้น จึงค่อยไปบริโภค

ผลจากการกระตุ้นอุปสงค์คือ หนี้ ซึ่งการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดในตัวเอง แต่ต้องไปดูไส้ในของหนี้ว่าเป็นอย่างไน ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่คนจะเป็นหนี้เรื่องบ้าน ซึ่งถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง เพราะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา หรือสามารถนำไปปล่อยเช่าเพื่อหารายได้ แต่คนไทยส่วนใหญ่มักซื้อรถซึ่งไม่สามารถต่อยอดได้ เมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤตขึ้นมา สินทรัพย์คุณก็หายหมดเลย เมื่อเริ่มฟื้นจากวิกฤตก็กลับมากระตุ้นอุปสงค์กันใหม่เป็นวงจรไป

 

 

การส่งเสริมนวัตกรรมของไทยติดปัญหาอะไร ทำไมภาคอุตสาหกรรมไทยจึงไม่สามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆได้

พีระ : ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความสามารถและศักยภาพพอสมควร แต่วิธีการพัฒนาเป็นแบบ ‘MNC-led growth’ และ ‘export-led growth’ คือ เราเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก และการตัดสินใจใดๆ ขึ้นกับบริษัทข้ามชาติเยอะ ดังนั้น การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยจึงเชื่อมโยงกับทั้งการขยายตัวของการส่งออกและการขยายตัวของบริษัทข้ามชาติ  คำถามคือ ทำไมบริษัทข้ามชาติจึงมาลงทุนในบ้านเราน้อยลง ทำไมสินค้าใหม่ๆ ถึงไม่เข้ามาผลิตในประเทศไทย ซึ่งทำให้นวัตกรรมของเราไปได้ช้า

เรามีกับดักทางความคิดหลายอย่างที่ทำให้การสร้างนวัตกรรมไปได้ช้า กับดักแรกคือ ประเทศไทยเน้นการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพียงอย่างเดียว ต้องเข้าใจว่า การพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้มีแต่ขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการอื่นๆ ด้วย เช่น การออกแบบ การทำวิศวกรรมแบบย้อนกลับ การพัฒนาคุณภาพสินค้า ฯลฯ

กับดักที่สองคือ เราเน้นการวิจัยและพัฒนาก็จริง แต่กระบวนการวิจัยและพัฒนาก็มีปัญหาในตัวเอง ทีดีอาร์ไอเคยชี้ไว้ว่ามีปัญหาอยู่ 2 เรื่อง ปัญหาแรกคือมีเงินลงทุนมีน้อยไป ประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพียงแค่ 0.4% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศที่สร้างนวัตกรรมได้ต่อเนื่องอย่างเกาหลีมีสัดส่วนสูงถึง 4% ของจีดีพี จึงไม่แปลกที่ดอกผลจากการวิจัยและพัฒนาจะน้อย เพราะเราใส่ปัจจัยเข้าไปน้อย

ส่วนปัญหาที่สองคือ การอยู่ผิดที่ผิดทาง ในต่างประเทศการวิจัยและพัฒนาส่วนใหญ่อยู่กับภาคเอกชน แต่ของไทยเกินกว่า 60 % อยู่กับภาครัฐ การวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนและภาครัฐไม่เหมือนกัน เพราะภาคเอกชนทำวิจัยแล้วจะไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อ ส่วนภาครัฐทำวิจัยแล้วมักจะขึ้นหิ้ง ไม่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจริง

กับดักที่สามคือ เราไม่มีเครื่องมือในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ประเทศไทยใช้แรงจูงใจด้านภาษีเพียงอย่างเดียว ซึ่งงานวิจัยทั่วโลกชี้ว่า แรงจูงใจทางภาษีช่วยเพียงแค่เพิ่มกำไรให้กับบริษัทเท่านั้น แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในการลงทุนทำวิจัยและพัฒนาได้จริง เพราะความเสี่ยงในการลงทุนสร้างนวัตกรรมใหม่สูงมาก ในต่างประเทศ รัฐจะให้เงินสนับสนุนในการวิจัยกับเอกชนโดยตรง  แต่ในประเทศไทยเราไม่กล้าดำเนินนโยบายแบบนี้

กับดักที่สี่คือ เราคิดว่างบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเป็นเงินของรัฐ จึงไม่ทำโปรเจคต์ร่วมกับบริษัทข้ามชาติ ถ้าคุณดูฮ่องกง สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ บริษัทข้ามชาติจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่และทำงานร่วมกับรัฐเจ้าของประเทศ ในประเทศไทย การที่รัฐไม่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในบริษัทต่างชาติจึงไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหญ่ๆ ได้ ดังจะเห็นว่า นวัตกรรมไทยส่วนใหญ่จะเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น การสนับสนุนโอทอป เป็นต้น

กับดักที่ห้าคือ ส่วนใหญ่งานวิจัยของไทยมีเป้าหมายสูงสุดคือได้สิทธิบัตร แต่พอจะเอาไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์จริงกลับมีปัญหาเต็มไปหมด ระบบนวัตกรรมของบ้านเรากลับไม่มีเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบมาตรฐาน พอเป็นแบบนี้กลายเป็นว่าสินค้าที่ผมผลิตไม่ได้มาตรฐานก็ไปขายใครไม่ได้

มีความพยายามในการทำบัญชีนวัตกรรม แต่ปัญหาคือหน่วยงานราชการไม่กล้าใช้บัญชีนี้ เพราะราคาสินค้าที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมแพงกว่าในตลาด พอเป็นแบบนี้คุณจะกล้าจัดซื้อในราคาพิเศษหรือเปล่า ก็ทำให้เราไปได้ไม่สุด

กล่าวโดยสรุป หากเราต้องการสร้างผลิตนวัตกรรมและขยับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือทางนโยบายที่หลากหลายมากกว่านี้

 

ถ้าการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยขึ้นอยู่กับบริษัทข้ามชาติเป็นหลักแล้ว เรามีกระบวนการถ่ายโอนความรู้ระหว่างบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติมากน้อยแค่ไหน

พีระ : ในจีน เกาหลี และไต้หวัน ถ้าบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนจะต้องมีข้อกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีกลไกคอยติดตามอยู่ตลอดว่ามีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรม การสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่ในประเทศไทยการให้สิทธิประโยชน์ทำผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหลัก แต่ไม่มีกระบวนการติดตามว่ามีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจริงหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทยจึงเป็นไปตามมีตามเกิด ไม่เป็นระบบ

 

 

อะไรคือโจทย์สำคัญในการปฏิรูปการศึกษา

วีระชาติ : ปัญหาการศึกษาของเราคือเรื่องคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ ประเทศไทยมีโรงเรียนมากไปด้วยซ้ำ ปัญหาคุณภาพการศึกษาเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ซึ่งมีสาเหตุหลักอยู่ 2 สาเหตุ

สาเหตุแรก คือ การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูล อาจเป็นเพราะไม่มีข้อมูล หรืออาจจะมีข้อมูลแต่ไม่ได้ใช้ เพราะไม่ตรงกับแนวทางที่ผู้มีอำนาจต้องการปฏิรูป ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้มีข้อมูลมากพอและการตัดสินใจอยู่บนฐานของข้อมูลเหล่านี้ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่แก้ไม่ยาก แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น

สาเหตุที่สอง คือ ประสิทธิภาพและการทำงานของครู เรามีครูจำนวน 5 แสนคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องคุณภาพการสอน คำถามคือทำไมครูเหล่านี้จึงทำหน้าที่ได้ไม่ดี ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเป็นเรื่องเงินเดือนและการไม่สามารถดึงคนเก่งมาเป็นครูได้ แต่ถ้าไปดูข้อมูลจะเห็นว่าเงินเดือนครูสูงขึ้นมากและคะแนนสอบเข้าคณะครุศาสตร์ก็สูงขึ้น แต่ว่าผลลัพธ์ก็ไม่ได้เปลี่ยน

คำตอบจึงอยู่ที่ระบบ ถ้ายังไม่เปลี่ยนระบบ คนเก่งเหล่านี้ก็ยังอยู่ในระบบเดิมๆ ผลก็ออกมาเหมือนเดิม

 

ระบบแบบเดิมที่ว่าคือระบบแบบไหน และมีปัญหาอย่างไร

วีระชาติ : ระบบการควบคุมจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน เราต้องออกแบบระบบที่จูงใจให้ครูตั้งใจทำงาน ไม่ใช่หวังพึ่งให้ครูตั้งใจสอน เพราะมีความตั้งใจดี เสียสละ แต่เหนื่อย

อันที่จริงเราพอรู้อยู่ว่าวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพทำอย่างไร แต่ปัญหาคือเรื่องการปรับใช้ ทุกวันนี้ครูไทยส่วนใหญ่ยังสอนเหมือน 50 ปีที่แล้ว ยังสอนเด็กให้ท่องจำราวกับเราจะสร้างอาณาจักรของข้าราชการที่ทุกคนต้องจำแม่น ต้องเขียนสวย แต่โลกในอนาคตเป็นโลกแห่งข้อมูล สิ่งที่คุณต้องจำมันไม่จำเป็นแล้ว โทรศัพท์มือถือก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องถามคือทำไมครูยังไม่ปรับตัว ซึ่งคำตอบโยงถึงแรงจูงใจ ถ้าครูไม่แรงมีจูงใจให้ปรับตัว แล้วเขาจะปรับตัวทำไม

ดังนั้น โจทย์ในการปฏิรูปการศึกษา คือ จะออกแบบระบบแรงจูงใจให้ครูส่วนใหญ่ตั้งใจสอนและปรับตัวเข้ากับการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะออกแบบแรงจูงใจให้ครูเลือกใช้วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายถึง ‘วิธีที่ดีที่สุดในโลก’ ที่มีคนเก่งใช้ได้ไม่กี่คน หากแต่หมายถึง ‘วิธีที่ดีพอสมควร’ แต่เป็นวิธีที่ครูทั่วไปส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้สอนได้จริง

 

อาจารย์ทำวิจัยเกี่ยวการศึกษามาไม่น้อย พอเห็นคำตอบอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้างไหม

วีระชาติ : การออกแบบแรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญ หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ก็เห็นปัญหาและพยายามที่จะตอบโจทย์นี้อยู่ แต่ว่าเขาไปเน้นการตรวจสอบจากส่วนกลาง ซึ่งผมคิดว่าผิดทาง

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาของไทยยังให้อำนาจกับผู้ปกครองน้อยมาก ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ชี้ตรงกันว่าผู้ปกครองสำคัญมาก แน่นอนว่าผู้ปกครองไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง แต่คนกลุ่มนี้มีความสำคัญมากในการช่วยเด็กเล็กตัดสินใจ

บทบาทของผู้ปกครองจะต้องมีมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ผู้ปกครองต้องรู้ว่าตัวเองมีบทบาทได้อย่างไรบ้าง ครูและผู้บริหารจะต้องยอมรับบทบาทนี้ ที่ผ่านมา การศึกษาไทยไม่เคยกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ผู้ปกครองจึงไม่สามารถเข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างเต็มที่ ในด้านกลับ เราไม่เคยส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทของตัวเองด้วย

 

ชวนกลับมาคุยเรื่องทางออกของเศรษฐกิจไทยกันบ้าง เรามีทางออกสำหรับอนาคตอย่างไรสำหรับ ‘คนแก่ที่ป่วย’ คนนี้ 

สมประวิณ : ถ้ามองภาพกว้าง โลกจะเปลี่ยนไปเยอะมาก คนรุ่นใหม่จะต้องอยู่กับหลายอย่างที่น่ากังวลใจ เมื่อก่อนการได้ข้อมูลมาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทุกวันนี้สิ่งที่สำคัญคือการประมวลข้อมูลและนำไปใช้ได้ ประเทศไทยต้องสร้างแพลตฟอร์มที่คนสามารถใช้ข้อมูลและสามารถประมวลข้อมูลนั้นได้

คนรุ่นใหม่จำนวนมากอยากทำสตาร์ทอัพ สิ่งสำคัญที่อยากชวนให้คิดคือ การทำธุรกิจไม่ใช่แค่คิดว่าเราอยากทำอะไร แต่ต้องคิดให้ใหญ่และคิดให้ครบ ต้องรู้ว่า มีอะไรที่ต้องบ้าง เช่น ถ้าทำร้านขนม ต้องไปไปจดทะเบียน ขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) จ่ายภาษีอย่างไร ซึ่งเรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่จะไม่รู้

ไม่ใช่แค่นั้น เราต้องเข้าใจกลไก ข้อได้และข้อเสียของระบบด้วย การอยู่ในระบบมีต้นทุน เช่น การจัดตั้งบริษัทต้องมีนักกฎหมายมาช่วย เสียค่าจดทะเบียนอีกเป็นหมื่น คนเลยออกนอกระบบกันหมด อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการอยู่นอกระบบคือไม่สามารถใช้กลไกของระบบในการเติบโตขึ้นไปได้ เช่น การขอกู้เงินจากธนาคาร เป็นต้น

 

ดูเหมือนว่า การเข้าถึงแหล่งทุนจะเป็นปัญหาของคนจำนวนมากด้วย

สมประวิณ : การไปขอกู้เงินไม่ใช่แค่การไปเอาเงินจากธนาคารมา แต่ธนาคารจะตรวจสอบความคิดคุณด้วย ถ้าธนาคารยังไม่ปล่อยกู้ อาจเป็นไปได้ว่า คุณยังคิดเรื่องการตลาดไม่ดีพอ ในแง่นี้ถือว่าธนาคารช่วยตรวจทานความคิดให้ ถ้าคุณเข้าไปในระบบแล้วธนาคารให้คุณกู้ก็เหมือนคุณสำเร็จไปกว่าครึ่งนึงแล้ว

ในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน งานวิจัยของ สกว. บอกว่าถ้าระบบเศรษฐกิจไทยจัดสรรเงินให้กับคนอย่างถูกที่ถูกทางและมีประสิทธิภาพจะเกิดผลประโยชน์กับประเทศอีกมหาศาล ทุกวันนี้ภาคการเงินไทยรู้ดีว่า ระบบการเงินของประเทศถูกออกแบบมาให้กับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้น

ปัญหาคือ เราจะทำให้คนที่ความเสี่ยงสูงเข้าถึงเงินทุนได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ประเทศไทยยังไม่มีระบบการเงินที่ไปเอื้อคนกลุ่มนี้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินบอกว่า การที่ใครสักคนหนึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ควรจะหมายความว่า เขาเข้าถึงเงินทุนไม่ได้ เราต้องไปแก้ปัญหาความเสี่ยงเครื่องมือบางอย่าง ซึ่งของไทยยังไม่มีเครื่องมือทางการเงินที่จะไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ สุดท้าย คนกลุ่มนี้ก็ต้องไปหยิบยืมในตลาดนอกระบบซึ่งบางรายดอกเบี้ยก็สูงมาก

 

เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

สมประวิณ : ประเด็นแรก คือ การกระจายความเท่าเทียมกันทางโอกาส ถ้าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของกิจการเทียบเท่ากับเจ้าสัว ซึ่งมีตัวชี้วัดง่ายๆ คือ ความยากง่ายในการตั้งบริษัทเป็นอย่างไร ในสิงคโปร์การจัดตั้งบริษัทสามารถทำได้ในวันเดียวเสร็จ

ประเด็นที่สอง คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารหรือผู้บริหารนโยบายทางการเงินไม่ได้ผิด เพราะระบบธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินเท่านั้น แต่เราต้องมีระบบอื่นที่มากกว่าธนาคาร ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาระบบอื่น คำถามคือคนที่มีความเสี่ยงสูงมันจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไร

ประเด็นที่สาม คือ การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน ระบบเศรษฐกิจอาจจะอนุญาตให้บางบริษัทมีอำนาจเหนือตลาดได้เป็นเวลาชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดอำนาจเหนือตลาดต้องหายไปเพื่อให้ผู้เล่นในตลาดคิดใหม่ แข่งใหม่ ไม่ใช่จะเสวยสุขบนความคิดเดิมๆ ความเท่าเทียมทางการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นตัวที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องวิ่งตลอดเวลา ในสหรัฐอเมริกามีการออกแบบระบบให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ได้เปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่เสมอ เพราะเขาเชื่อว่าบริษัทใหญ่ใหญ่จะมีนวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น จึงต้องมีรายใหม่เข้ามาแข่งขันสร้างนวัตกรรม เมื่อรายใหญ่เริ่มกลัวก็ต้องคิดนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ทันการแข่งขัน

 

อะไรคือความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยในโลกยุคใหม่

พีระ : อุตสาหกรรมไทยจะรอดเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ เศรษฐกิจไทยมีความหลากหลายมาก ผู้ประกอบการไทยกว่า 90% คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้าอยากให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งขึ้น เราต้องทำให้ทุกคนในระบบดีขึ้น ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียว  ตราบที่เอสเอ็มอีไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ การสร้างนวัตกรรมใหม่ก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น ถ้าต้องการให้อุตสาหกรรมเข้มแข็ง ผู้กำหนดนโยบายต้องเข้าใจความหลากหลายของผู้ประกอบการ และปรับใช้นโยบายให้เอื้อต่อความหลากหลายนี้

บางอุตสาหกรรมเราให้ความสำคัญเรื่องวิจัยและพัฒนาได้ แต่บางอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถยกระดับโดยใช้กระบวนการนี้ได้ ที่ผ่านมา เรามักให้ประโยชน์ทางภาษีกับอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเครื่องมือเพียงแค่แบบเดียว ส่งผลให้บางคนไม่ได้ประโยชน์เลย ไม่ต้องพูดถึงว่า ระดับการพัฒนาของแต่คนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งย่อมต้องการรูปแบบการสนับสนุนที่ต่างกัน

การออกแบบแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ แบบสอบถาม Innovation Survey ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า อุปสรรคอันดับหนึ่งของการสร้างนวัตกรรม คือ ไม่มีตลาด การส่งเสริมนวัตกรรมต้องคำนึงถึงเครื่องมือที่จะส่งเสริมการตลาดด้วย เพราะถ้าผู้บริโภคไม่สนใจนวัตกรรม หรือแม้แต่ภาครัฐเองยังไม่ยอมซื้อนวัตกรรมไปใช้ในหน่วยงานตัวเอง อุตสาหกรรมย่อมเกิดไม่ได้

Ha Joon Chang นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาชื่อดังบอกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องมีความยั่งยืน สิ่งที่ผมกังวลมากสำหรับรัฐบาลคือเราใช้เครื่องมือแบบเดิมแต่คาดหวังผลลัพธ์ที่ต่าง

 

ตัวอย่างเครื่องมือใหม่ๆ มีอะไรบ้าง

พีระ : เครื่องมือที่ใช้ในภาคบริการก็ไม่เหมือนกับภาคอุตสาหกรรม นี่เป็นคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องมีหน่วยงานที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ (creative) ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีต้นทุน ถ้าความคิดสร้างสรรค์มีต้นทุนแพง นวัตกรรมในภาคบริการย่อมไม่เกิด ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าวว่าจะมีการยุบองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผมเลยค่อนข้างกังวล

 

บีโอไอยังมีบทบาทเหมาะสมหรือไม่ในเศรษฐกิจไทย และควรต้องปรับบทบาทอย่างไรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

พีระ : เราต้องให้เครดิตกับบีโอไอว่า เขาทำหน้าที่ได้ดีในระดับหนึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของการแข่งขัน บีโอไอต้องเข้าใจว่าบทบาทของหน่วยงานไม่ใช่เพียงแค่การให้สิทธิประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องแก้ปัญหาให้กับบรรษัทข้ามชาติ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมบรรษัทข้ามชาติจึงไม่ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต หรือเลือกลงทุนในประเทศไทย

การวิจัยพบว่า โจทย์ใหญ่เป็นเรื่องของข้อจำกัดด้านทรัพยากรของเรา คุณภาพคนไม่พร้อม สถาบันการเงินไม่มี ที่ดินไม่มี ไม่มีศูนย์ทดสอบ รัฐบาลไทยไม่ออกอะไรเลยแต่หวังให้เขามาลงทุนเยอะๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก ถ้าไปลงทุนที่สิงคโปร์ บริษัทข้ามชาติจะลงทุนเท่าไหร่ รัฐบาลจะลงทุนด้วย 50 % ถ้าไปเวียดนามต้องการทรัพยากรอะไร คนเท่าไหร่ รัฐบาลจะเตรียมให้ เป็นการออกแบบนโยบายให้เหมาะกับบริษัทแต่ละบริษัทเลย (tailor made)  แต่รัฐบาลไทยใช้นโยบายแบบเดียวกับทุกบริษัท (one size fit all)

ยิ่งอุตสาหกรรมล้ำหน้าเท่าไหร่  การออกแบบนโยบายจำเป็นต้อง tailor made เพราะการลงทุนของบรรษัทมีความเสี่ยงสูงมาก ต้องใช้เงินลงทุนมาก ถ้ารัฐบาลบอกว่า ไม่ว่าคุณจะลงทุนเทคโนโลยีใหม่แค่ไหน คุณได้เหมือนกับคนอื่น ก็ไม่แปลกที่สุดท้ายเขาจะไปลงทุนที่อื่น

 

สตาร์ทอัพและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นความหวังได้หรือไม่

พีระ : รัฐบาลไปให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพมากเกินไป ต้องเข้าใจว่า คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มเล็ก และไม่ใช่สตาร์ทอัพทุกอันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้สตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคบริการที่เชื่อมโยงกับระเบียบเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเกิดกับประเทศจริงหรือเปล่า  ผมยังตั้งคำถามอยู่ว่า ท้ายที่สุดสตาร์ทอัพจะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้แบบที่รัฐบาลคาดหวังในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้จริงหรือ

 

เรามีความหวังในการปฏิรูปการศึกษาบ้างไหม

วีระชาติ : ก่อนจะพูดถึงเรื่องการศึกษา ผมขอเห็นแย้งกับ อ.พีระ ในนโยบายอุตสาหกรรมสักนิดหนึ่ง ผมเชื่อในนโยบายอุตสาหกรรมที่ไม่แบ่งแยกมากเกินไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเราพยายามจะเอาคนไม่กี่คนมานั่งคิดว่าอุตสาหกรรมในอนาคตคืออะไร ซึ่งเป็นแนวคิดแบบรวมศูนย์ เรากำลังให้คนไม่กี่คนตัดสินว่าอะไรเป็นอุตสาหกรรมที่เราจะให้สิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่า คนเหล่านี้เลือกถูกหรือไม่

หัวใจสำคัญของนโยบายอุตสาหกรรมคือ การแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ในนโยบายที่แบ่งแยก  ดังนั้น นโยบายที่ส่งเสริมนวัตกรรมจะต้องเป็นนโยบายที่ไม่แบ่งแยกจนเกินไป

การแข่งขันเป็นคำตอบสำหรับการศึกษาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา เรามีปัญหาเพราะรัฐควบคุมมากเกินไป รัฐใช้ทรัพยากรมาก แต่ว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย โจทย์ใหญ่คือ การทำให้ระบบที่เป็นอยู่มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายอำนาจ กระทรวงศึกษาธิการต้องเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ผู้ให้’ มาเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ โดยใช้ฐานการแข่งขัน ต้องมองการศึกษาคล้ายกับการมองภาคบริการ การควบคุมจากส่วนกลางจะทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจที่จะผลักดันการพัฒนา

การแข่งขันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อโรงเรียนต้องล้มหายตายจากได้ สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนรัฐไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็เป็นเพราะล้มหายตายจากไม่ได้

 

จากประสบการณ์ลงสนามทำวิจัยเรื่องการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยมาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์พบเจออะไรที่น่าสนใจบ้างไหม

วีระชาติ : ทุกคนรู้ว่าการศึกษาปฐมวัยมีความสำคัญมาก  งานวิจัยจำนวนมากมายล้วนยืนยันเรื่องนี้ แต่ถ้าย้อนกลับไป 5 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาการศึกษาในเรื่องนี้กลับไม่ได้รับความสนใจเลย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบท

วิธีการการสอนที่ดีมีอยู่หลายแบบ แต่วิธีการที่เรานำมาใช้คือ การสอนแบบ play-based learning ซึ่งเรียกร้องให้ครูต้องอยู่กับเด็กตลอดเวลา ไม่ใช่มาถึงก็ให้งานกับเด็กแล้วก็รอให้เด็กทำให้เสร็จ ซึ่งวิธีนี้การนี้ได้ผลดีค่อนข้างดี

ในการลงพื้นที่ ทีมวิจัยเก็บข้อมูลจากทั้งเด็กและผู้ปกครองเพื่อให้เข้าใจว่าเด็กได้รับอะไรบ้าง และโตมาจะเป็นอย่างไร พูดอีกแบบคือ เรากำลังศึกษากระบวนการผลิตทุนมนุษย์ เราสนใจปัจจัยอะไรบ้างที่สำคัญหรือไม่สำคัญในกระบวนการผลิตทุนมนุษย์ ซึ่งท้ายที่สุดจะย้อนกลับมาที่การออกแบบนโยบายว่าควรจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาอย่างไร งบประมาณควรที่จุดไหน แน่นอนว่ามีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก แต่ถ้าได้มาสัก 5  ปัจจัยที่สำคัญจริงๆ ก็น่าจะนำไปใช้ออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

การวิจัยคงไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการวิจัยและข้อมูลที่เราทำจะมีส่วนในการนำเด็ก สถานศึกษา ครู และครอบครัว มาเชื่อมโยงกันจนสามารถมีส่วนในการปฏิรูปการศึกษาได้

 

ชมคลิป งานเสวนาคุยฟาร์มรู้ครั้งที่ 3 ‘เศรษฐกิจไทย: สถานการณ์ปัจจุบัน และ ทางออกสำหรับอนาคต’

 

*เวทีเสวนาสาธารณะ Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 3  “เศรษฐกิจไทย: สถานการณ์ปัจจุบันและทางออกสำหรับอนาคต” เป็นส่วนหนึ่งของงาน งาน 25 ปี สกว. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน