รายงาน: คำต่อคำ จากทางเท้า ถึงท้องทะเล เส้นทางสู่สังคมไทยยั่งยืน

ในช่วงที่ผ่านมาแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน กลายเป็นแนวคิดที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งในระดับโลกและเมืองไทย กล่าวเฉพาะในเมืองไทย คำว่า ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ กลายเป็นคำฮิตติดหูทั้งในหมู่นักกำหนดนโยบาย นักวิชาการ และเริ่มกระจายไปสู่สังคมวงกว้างโดยทั่วไป

แม้จะเริ่มคุ้นชินกับถ้อยคำ แต่เราอาจยังมองไม่เห็นภาพว่าจะก้าวไปสู่ ‘ความยั่งยืน’ ที่ว่านั้นได้อย่างไร ปัญหาในโลกจริงมีความซับซ้อนและหลากมิติ ทั้งยังแตกต่างไปตามบริบทของพื้นที่ บางแห่งของโลกยังมีน้ำดื่มไม่เพียงพอ บางประเทศมีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งรวมถึงความรุนแรงทางเพศต่างๆ หรือรวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ทั้งบนบกและทะเลถูกทำลาย ขยะหลายล้านตันกำลังพอกพูนจนเกินดูแล ฯลฯ

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ทั้งปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านอาชีพและรายได้ของประชากร การเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล คุณภาพชีวิตโดยรวม หรือสวัสดิการรัฐที่ยังไม่ครอบคลุม ภายใต้สภาพปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน การมีเป้าหมายอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่การจะก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่หลากหลายมาเป็นฐานในการขับเคลื่อนและตอบโจทย์ต่างๆ ของสังคมไทย

ในงานเสวนา Knowledge Farm Talk – คุยฟาร์มรู้ครั้งที่ 5 เรื่อง ‘จากทางเท้า ถึงทะเล เส้นทางสู่สังคมไทยยั่งยืน’ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากหลากหลายสาขาได้มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากงานวิจัยที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ หลักสูตรการบริหารกิจการทางทะเล (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยภายใต้การวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ในชุด “ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล”  รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์ และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น’  และ อ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนี้ไปคือบทสนทนาและการแลกเปลี่ยนที่อยู่บนฐานของการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องมาหลายปี

 

 

ประเทศไทยกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

 

เราได้ยินเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาสักพักแล้ว แล้วเราก็ได้ยิน Sustainable Development Goals หรือ SDGs เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งนี้คืออะไร ต่างจากการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบเดิมอย่างไร อยากให้อาจารย์ชลเล่าให้ฟัง

ชล : SDGs ไม่ได้ต่างจากการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบเดิม แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือของการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีมาหลายสิบปีแล้ว อย่างน้อยก็หลังการปฏิวัติเขียวในปี 1960 มาพีคในช่วงปี 1992 ที่มีการประชุมที่ริโอเดจาเนโร แล้วก็แผ่วไปช่วงหนึ่ง ก่อนจะมาบูมอีกครั้งใน ริโอเดจาเนโร 2012 เพราะตอนนั้นโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ตอนนั้นยืนยันได้ค่อนข้างหนักแน่นเลยว่าเป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์ ก็เลยส่งมาถึงการประชุมในปี 2012 ว่าถ้ากลับมาสู่เป้าหมายการพัฒนาชุดเดิมคือ Millennium Development Goals (MDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ จะจบลงในปี 2015 อะไรจะเป็นเป้าหมายต่อจากนี้ ก็เลยมีการร่าง Sustainable Development Goals ขึ้นมาเพื่อดำเนินการต่อในปี 2016-2030

SDGs คือเครื่องมือของ UN ในการชวนประเทศต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน เพราะเดิมทีเคยมีข้อเสนอเรื่อง Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งค่อนข้างไม่ได้รับเสียงตอบรับ เพราะประเทศกำลังพัฒนาก็คิดว่าทำไมเราต้องมาจำกัดตัวเองอยู่ภายใต้กรอบสิ่งแวดล้อม ในเมื่อประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะมีส่วนในการทำให้โลกมีปัญหาอยู่ UN ก็เลยเปลี่ยนให้หาเป้าหมายร่วมกันดีกว่า ใครจะไปทางไหนก็เป็นเรื่องของแต่ละประเทศ

ในปี 2030 ควรจะมีเป้าหมายกำหนดขึ้น ซึ่งอยู่ในวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ซึ่ง 193 ประเทศที่เป็นสมาชิก UN ก็มาร่วมลงนามในเดือนกันยายน 2015 ว่าจะมาร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

เป้าหมายใหญ่ๆ ของ SDGs มีอะไรบ้าง

ชล : เยอะมากครับ ทั้งใหญ่และเยอะ SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ครอบคลุม 5 ด้านหลัก คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และหุ้นส่วนการพัฒนา เช่น

เรื่องของสังคม ครอบคลุม goal ที่ 1-5 พูดถึงเรื่องความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจยั่งยืน สุขภาพ การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และความเท่าเทียมทางเพศสภาพ

กลุ่มด้าน planet หรือสิ่งแวดล้อม พูดถึง goal 6 เรื่องน้ำและสุขอนามัย

กลุ่มของด้านเศรษฐกิจ goal ที่ 7-11 คือ เรื่องพลังงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องเมืองและชุมชนยั่งยืน

Goal 12 เรื่องการผลิต การบริโภคที่ต้องรับผิดชอบ
Goal 13 เรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ
Goal 14 เรื่องระบบนิเวศน์ทางทะเล และชายฝั่งเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
Goal 15 เรื่องระบบนิเวศน์บนบก การอนุรักษ์ดูแลและการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
Goal 16 เรื่องความยุติธรรม สันติภาพ แล้วก็การมีสถาบันที่เข้มแข็ง
Goal 17 คือหุ้นส่วนการพัฒนา ครอบคลุมเรื่องความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อันนี้คือภาพใหญ่ แต่ว่ามีเป้าย่อยๆ ด้วย อีก 169 เป้าประสงค์ มีตัวชี้วัดอีก 232 ชุด

การแบ่งเป็น 17 เป้าหมาย ทำให้เห็นเรื่องความยั่งยืนที่ซับซ้อนง่ายขึ้น มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ แต่อาจจะมีความ mislead เพราะคนอาจจะมองแยกกัน ซึ่งต้องพัฒนาแบบบูรณาการ สิ่งที่เป็นหลักการ ของ SDGs คือ inclusive development เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถ้าเราทำเป้าหมายไปถึง 95 เปอรเซ็นต์ แล้วเราพอใจ แต่เราอาจจะต้องไปดูว่า แล้ว 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเขาไปไหน ต้องทำให้ครบ

 

อ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

มีคนวิจารณ์ว่า SDGs มี 17 เป้าหมาย มีตัวชี้วัดกว่า 100 ตัว เป็นการพยายามตอบทุกโจทย์การพัฒนาเลย แต่สุดท้ายอาจจะไม่ตอบอะไรเลย อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ชล : ทุกประเทศมีบางเรื่องที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เขาก็อาจจะไม่ต้องทำ แต่บางเรื่องที่ยังทำได้ไม่ดี ก็ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนของเขา แต่ถ้าถามว่า ในทางปฏิบัติจะทำให้ทรัพยากรกระจายจนขาดประสิทธิภาพมั้ย คิดว่าไม่มี เพราะมีการจัดลำดับความสำคัญว่าเป้าหมายไหนเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศนั้น

พอเราเอาแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบบูรณาการผนวกเข้าไปด้วย เราก็จะเห็นว่า สมมติมีประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก เขาก็ต้องพัฒนาใน goal 14 มากหน่อย เพราะว่ามีปัญหาทรัพยากรชายฝั่ง แต่ก็อาจจะโยงไปถึงเรื่องความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร เรื่องสุขภาพ เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่อง economic close ของประเทศ เพราะฉะนั้นถึงแต่ละประเทศจะเลือกทำแค่บางเป้าหมาย ก็ยังต้องเชื่อมโยงกัน แล้วก็ส่งเสริมให้เป้าอื่นเดินไปข้างหน้าเหมือนกัน

ตอนนี้สถานะของประเทศไทยเป็นยังไงบ้าง ในการมุ่งไปสู่ SDGs เรารู้อะไรบ้าง มีเป้าหมายอะไรที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย เราอยู่ตรงไหน และต้องทำอะไรต่อเพื่อจะไปสู่ SDGs แต่ละเป้าหมาย

ชล : ในปีแรกทางโครงการ SDGs ให้ทุนนักวิจัยไป 12 โครงการ เหลืออีก 5 ที่จะต้องทำในปีนี้ เราพบว่า กลุ่มเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ เป็นเป้าหมายที่ดูมีความสมบูรณ์ในหลายๆ ด้าน ทางด้านตัวชี้วัดเองก็มีความพร้อม สถานะต่างๆ ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แต่พอมาดูมิติทางด้านสังคม ภาพค่อนข้างมิกซ์กัน เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอยู่แต่เดิม ข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ มีนโยบายในการผลักดันต่างๆ จนกระทั่งมีสถานะที่ค่อนข้างดี เช่น ประเด็นเรื่องความยากจน สุขภาพ เว้นแต่เรื่องการศึกษาที่คุณภาพยังต่ำ เป็นปัญหาของเรา แต่พอมาถึงประเด็นเรื่องการเกษตร ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ข้อมูลเหล่านี้กระจาย จนไม่รู้ว่าสุดท้ายอะไรคือข้อมูลที่ใช้ในการดำเนินการต่อไปได้

เมื่อพูดถึง goal ด้าน planet มีกลุ่มตัวชี้วัดค่อนข้างลงตัว แต่พอเป็นกลุ่มตัวชี้วัดที่ไปแตะเกี่ยวกับด้านสังคมหรือประเด็นที่อ่อนไหวบ้าง เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือกระทั่งประเด็นของ goal 14 ก็มีหลายประเด็นที่ยังไม่มีข้อมูลชัดๆ พอที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางทะเล หรือเกี่ยวกับเรื่องความเป็นกรดในมหาสมุทร

goal 16 เรื่องความมั่นคง ในเชิงตัวชี้วัด เป็นส่วนที่หินที่สุด ไม่มีความชัดเจน ที่พูดถึงตัวชี้วัดเพราะเป็นความท้าทายของเราในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ภาครัฐมอง SDGs จากตัวชี้วัด เพราะตัวชี้วัดทำให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน จะไปยังไงต่อ ปัญหาของเมืองไทยคือ หลายครั้งเราไม่รู้ว่าตัวชี้วัดคืออะไร เราเลยไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน แล้วจะไปยังไงต่อ

เป้าหมายที่ท้าทายในแง่นี้ คือ goal 16 มีทั้งเรื่องความรุนแรง การค้าอาวุธ การฟอกเงิน แล้วก็อาชญากรรมข้ามชาติ มีเรื่องคอร์รัปชั่น ความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เอกลักษณ์ทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบัน เป็นประเด็นที่หาข้อมูลได้ยากนิดนึง การประเมินสถานการณ์จึงยาก

ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนในเมืองไทย คือปัญหาเรื่องการร่วมมือภายในภาครัฐเอง ระหว่างกรม กระทรวง เป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกอย่างคือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน และประชาสังคม โดยเฉพาะประชาสังคม กับ รัฐ เอกชน ตรงนี้จะมีแรงเสียดทานค่อนข้างเยอะ เนื่องมาจากประสบการณ์ในอดีตที่อาจจะมีความขัดแย้งกันมาบ้าง

ที่ต้องทำงานด้วยกันหลายภาคส่วนเพราะภาครัฐมีกฎหมายในมือ มีทรัพยากรอยู่บางส่วน แต่ขาดประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจ เน้นประสิทธิภาพ เน้น outcome แต่บางทีก็อาจจะลืมประเด็นทางสังคมและการมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคมเข้ามาเติมเต็มในกระบวนการการเข้าถึงคนเล็กคนน้อย แล้วถ้าความร่วมมือเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยาก ก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของ SDGs ได้

หลายครั้งที่มี goal ที่ต้องอาศัยความร่วมมือหลายส่วน ครอบคลุมหลายประเด็น เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ มีทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในเชิงอำนาจของกลุ่มคนต่างๆ ผลจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรม เรื่องการคลัง มีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง

รวมถึง goal 11 ที่พูดถึงเรื่องเมือง มีหลายมิติผสมกัน ทั้งคน เมือง เรื่องสลัม traffic and transport พื้นที่สาธารณะ การมีส่วนร่วมในการจัดการ การออกแบบเมือง การป้องกันภัยพิบัติ หรือการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในเขตเมือง ซึ่ง goal 11 กลายเป็นการทำงานที่ผสมปนเปของหลายๆ หน่วยงาน เราเคยจัดให้หน่วยงานมาคุยกัน แต่คุยไม่รู้เรื่อง เพราะคุยคนละภาษา การประสานงานและทำงานต่อก็เป็นไปได้ยาก ซึ่งเป็นความท้าทายที่สูงมาก รัฐบาลอาจต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ให้มากกว่านี้ด้วย

 

มีข้อวิจารณ์ว่า เป้าหมายของ SDGs ขัดแย้งกันเองก็มี เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่

ชล : เป็นความจริงที่มีความขัดแย้งกัน สมมติถ้ามีตัวชี้วัด 2 ตัว คือ ด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม หรือสังคมอีกตัวนึง ถ้าเกิดต่างคนต่างทำพุ่งไปมันขัดแย้งกันแน่นอน เช่น รัฐบาลอยากเพิ่มพื้นที่ป่า จาก 36 เปอร์เซ็นต์ เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ แล้วที่ดินทำกิน พื้นที่เกษตร เรื่องความยากจนจะกระทบมั้ย ขัดกันมั้ย อันนี้เป็นประเด็นที่นักวิชาการระดับโลกก็ให้ความสนใจ เรียกว่า interlinked คือความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าประสงค์

มีความพยายามในหลายงานเหมือนกันที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความเสริมกันหรือขัดกันของแต่ละตัวชี้วัด โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมนี่มีการทำโมเดลเชื่อมโยงเรื่อง climate change, land use energy, water use อะไรพวกนี้ ทำเป็นโมเดลชัดเจนทีเดียว ดังนั้นมีโอกาสขัดกัน แต่นั่นทำให้เวลาดำเนินการเรื่อง SDGs ต้องมองทั้งสามมิติของความยั่งยืนพร้อมๆ กัน แล้วบาลานซ์ไปด้วยกัน

บางทีตัวชี้วัดไม่ได้ถูกใช้ในการประเมินแต่ถูกใช้ในการวัดคุณภาพ อันนี้จะเป็นปัญหา เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน ควรจะใช้ให้ดูว่าความก้าวหน้าถึงไหนแล้ว แต่เราเหมือนนักเรียนทำการบ้านส่งอาจารย์ เราอยากได้คะแนนสิบเต็ม ทำไงจะได้สิบเต็ม แต่ไม่ได้ดูว่า สุดท้ายระหว่างทางเราได้อะไรมาบ้าง จริงๆ ตัวชี้วัดควรจะเป็นตัวสุดท้ายเลย หลังจากที่เราทำทุกอย่างมาแล้ว ตอนนี้ถึงไหนแล้ว มากกว่าจะเป็นตัวที่เราจะต้องพุ่งไปใส่

มีข้อเสนอเรื่องตัวขี้วัดของ SDGs ว่าควรจะเป็นลักษณะที่มองปัญหาเรื่องความยั่งยืนเป็นปัญหาร่วมกัน แต่ละคนก็ดำเนินการตามความรับผิดชอบที่มีส่วนกับเรื่องนั้น แล้วก็ทำตามศักยภาพที่ตัวเองมี อาจจะหมายถึงบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย จริงๆ แล้ว SDGs ให้ความสำคัญกับการทำให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่

ในปี 2 ของโครงการ SDGs Move ก็เป็นหนึ่งในขาการส่งเสริมการวิจัยเหมือนกัน ทำยังไงให้ SDGs ไประดับพื้นที่ได้แล้วทุกคนได้ประยชน์ ตรงจุดนี้อาจจะพอคลายความกังวลได้บ้างว่า ในแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง SDGs ไม่ได้ต้องการที่จะทุ่ม ตัวชี้วัดชุดเดียวกันหรือมาตรการชุดเดียวกันลงไปในพื้นที่ แต่เขาก็มองเหมือนกันว่ามันต่างกัน แต่ตอนนี้ ประเด็นนี้ในเมืองไทยกำลังอยู่ระหว่างทาง เหมือนเพิ่งเริ่มขยับ แล้วก็ไม่แน่ใจว่าตอนขยับมีการตีความแตกต่างกันขนาดไหน เพราะบางคนอาจจะบอกว่า ไทยนิยมยั่งยืน อาจจะเป็นหนึ่งในวิธีการนั้นมั้ย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป

 

อะไรคือคือมายาคติสำคัญสำหรับการศึกษาเรื่อง SDGs

ชล :  เราอาจจะบรรลุเป้าหมายทุกอย่างของ SDGs แต่สุดท้ายไม่ยั่งยืนก็เป็นไปได้ อันนั้นจริง เพราะปัจจุบัน ภาครัฐจับ SDGs ก็พุ่งตรงไปที่ตัวชี้วัดเลย ทั้งที่เนื้อหาของ SDGs ที่แท้จริงอยู่เป้าหมาย ถ้าเราอยากรู้ว่าโลกปี 2030 หน้าตาเป็นแบบไหน ต้องไปดูทีเป้าหมาย ซึ่งตัวชี้วัดของ UN เป็นแค่ตัวชี้วัดที่เขาจะได้ติดตามว่าระดับโลกหน้าตาเป็นแบบไหน แต่ถามว่าสะท้อนทุกอย่างของเป้าหมายมั้ย ก็อาจจะไม่

ตัวอย่างเช่น เป้าหมายที่ 7.1 พูดถึงเรื่องการทำให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ใช้จ่ายได้ มีตัวชี้วัด 2 ตัว คือ อัตราการเข้าถึงไฟฟ้า และ อัตราการเข้าถึงแรงงานสมัยใหม่ ซึ่งจริงๆ ในประโยคของเป้าหมายมีเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งไม่ได้สะท้อนอยู่ในตัวชี้วัด 2 ตัวนี้ ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งว่าเป้าหมายของ SDGs ยาวเป็นย่อหน้าเลย แต่มีตัวชี้วัดอยู่ 2 ตัว ฉะนั้นจึงไม่สามารถสะท้อนทุกอย่าง

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะชี้ประเด็นคือ การใช้ประโยชน์จาก SDGs มีหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่เรื่องของการตั้งเป้าหมายอย่างเดียว

หนึ่ง เป็นภาษาร่วมกันในการพัฒนา รู้ว่า goal ไหนหมายถึงอะไร พอมีภาษาเดียวกัน ก็ empower คนได้ เหมือนอย่างที่ อ.นฤมล พูดตอนแรกว่า ทำยังไงให้ชาวบ้านปรับตัวได้ SDGs เป็นเครื่องมือ empowerment ได้

สอง บางทีเราใช้ SDGs เป็นกรอบในการวางแแผนบางอย่าง ใช้เป็นภาพเบื้องหลังว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ เราทำอะไรไปแล้วบ้าง อะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ

สาม ใช้เป็นเครื่องมือในการหาจุดความร่วมมือ เนื่องจากรัฐบาลไปสัญญากับโลกไว้ว่าจะทำแบบนี้ ฉะนั้นถ้าเกิดชาวบ้าน ชุมชน องค์กรต่างๆ ทราบเรื่องเหล่านี้ ก็รู้ว่ารัฐต้องไปทางนี้อยู่แล้ว เป็นเครื่องมือสะกิดเตือนไม่ให้ผิดจากที่สัญญาไว้

 

 

การค้าข้างทาง ความเป็นธรรม และความยั่งยืน

 

โจทย์หนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือเรื่องความเป็นธรรม อาจารย์นฤมลทำวิจัยเรื่องการบริหารจัดการการค้าข้างทาง เรื่องนี้มีความซับซ้อนสูง แล้วมีประเด็นให้คิดต่อเยอะ ถ้ามองเรื่องความเป็นธรรม อาจารย์เจออะไรบ้างในการค้าข้างทางของเมืองไทย

นฤมล : เรื่องหายเร่แผงลอย ถ้าเราซูมลงไปมองเรื่องความเป็นธรรมจากคนขายของ คนเล็กคนน้อย จะพบว่าสิ่งนี้สะท้อนอะไรเยอะมาก แล้วไม่ได้สะท้อนเฉพาะสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ตั้งกรุงเทพมหานคร ในปี 2516 ถ้าเรามองความเป็นธรรมเชื่อมโยงกับ SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายเรื่อง inclusive cities เรื่องของ distance work เรื่องความเหลื่อมล้ำ เราพูดถึงเรื่องการให้โอกาสคน พยายามให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรและมีงานทำ

ประเด็นเชื่อมโยงกับหาบเร่แผงลอยก็คือ เรายังต้องการคนเหล่านี้อีกมั้ย เพราะจริงๆ ก็มีทางเลือกอีกมากมายให้ผู้บริโภคได้เลือก เวลาเรามองเรื่องค้าขายข้างทาง เรามองคนขาย คนซื้อ แต่เรามองอะไรที่ไปไกลกว่านั้นด้วย คือเรื่องระบบ food security ของเมือง รวมถึงเรื่องของ inclusive cities และ inclusive communities ด้วย เราต้องกลับมานั่งคิดว่า จริงๆ แล้ว ประเด็นอยู่ที่ไหน ความไม่เป็นระเบียบ การขัดขวาง ความสกปรก หรือเรื่องของความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสกันแน่ ตอนนี้มองได้หลายประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีงานทำในบ้านเรา จบแค่ชั้นประถม แต่เรากำลังมีวาระประเทศไทย 4.0 ยังไม่พูดถึงคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือที่ยังมีชีวิตอยู่อีกมาก ดังนั้นถ้าเราบอกว่าทุกคนต้องมีอาชีพ แล้วอาชีพแบบไหนที่เหมาะสำหรับคนที่เรียนหนังสือแค่ 6-7 ปี

ประเด็นที่สอง ที่กำลังเป็นเรื่องถกเถียงในตอนนี้ก็คือ เรามองว่าคนเหล่านี้ทำให้ถนนไม่สะอาด ทำให้คนเดินทางเท้าไม่ได้ ยิ่งเราใช้ทางเท้ามากขึ้น เรามีรถไฟฟ้า ระบบการขนส่งมวลชนไปไกลขึ้น ขณะเดียวกันก็มีคนขายมากขึ้น เพราะว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่แฮปปี้กับการเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกต่อไปแล้ว สองสิ่งนี้ก็มาบรรจบกัน

ประเด็นเรื่องการรักษากฎหมายก็ถูกพูดถึง แต่เราก็ต้องมองเรื่องของโอกาสด้วย อาจจะย้อนกลับไปมองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของคน พาร์ทเนอร์ชิป และเรื่องของการจัดการ ว่าจะทำยังไงดี

โดยเฉพาะในงานวิจัยในปี 2559-2560 เราเก็บตัวอย่างใน 4 เขต พบว่าจาก 400 คนที่เป็นคนขาย มี 44 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณเกือบร้อยกว่าคน ขายนอกจุดที่ได้รับอนุญาตให้ขาย มันบอกอะไรเยอะ ในเรื่องของความเป็นธรรม การรักษากฎหมาย เราตั้งคำถามว่า มันมาถึงจุดนี้ได้ยังไง ในแง่ของการเผชิญหน้ากันระหว่างคนขาย คนเดินถนน ซึ่งจำนวนหนึ่งใช้โซเชียลมีเดียในการต่อสู้กัน

 

การที่มีคนขายนอกจุดเพราะพื้นที่ไม่พอ หรือเป็นการขายนอกจุดโดยตั้งใจเพราะขายได้ดีกว่า

นฤมล : คนขายก็จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีคนเดิน เพราะว่าที่ที่ กทม. จัดไว้ให้ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ไม่มีใครขายหรอกค่ะ เพราะไม่มีคนเดิน เพราะฉะนั้นก็ทำโดยตั้งใจ คือทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ถูก แต่ก็เป็นแหล่งสร้างรายได้ ถามว่าคนเหล่านี้มีทางเลือกอื่นมั้ย คิดว่าจำนวนไม่น้อยที่มี แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีทางเลือกจำกัด ความไม่เป็นธรรมตรงนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะการมีพื้นที่จำกัด หรือการรักษากฎหมาย ถ้าเราใช้การจัดการด้วยความรู้ในแง่ผู้ซื้อ ผู้ขาย ความรู้ในแง่ของพื้นที่และชุมชน 50 เขตของ กทม. มีความหลากหลายนะ และไม่จำเป็นต้องจัดการเหมือนกัน

ประเด็นที่ทำให้มีความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น คือลักษณะของการจัดการ อาจจะต้องกลับมานั่งทบทวนใหม่ ว่าเราจะจัดการยังไง เรื่องของหาบเร่แผงลอย เป็นเรื่องของ กทม. ผสมกับ ตำรวจจราจร ที่ต้องจัดการร่วมกันภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน

 

รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ถ้าเรามองเรื่องการจัดการการหาบเร่แผงลอย การค้าข้างทาง เราควรจะถอยมองตั้งต้นจากจุดไหน มองเรื่องสิทธิ์ของการมีงานทำ หรือเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะ เราควรจะมองเรื่องนี้ยังไง เรื่องไหนควรสำคัญกว่าเรื่องไหน

นฤมล : การมีงานทำสำคัญ เพราะสิ่งนี้ไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะเรื่องของรายได้ แต่ตอบโจทย์เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องสวัสดิการสังคม ส่วนเรื่องการจัดการพื้นที่จะต้องมองควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจคุณลักษณะของผู้ขายด้วย เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทั้ง 50 เขต ทุกคนที่อยากขาย ได้ขายหมด เพราะคนที่อยากขายเยอะมาก แต่ทำยังไงให้เข้าใจว่าควรจะจัดการกับพื้นที่นี้ยังไง ใครเป็นคนขาย ใครบ้างที่ต้องการความช่วยเหลือ

ความเป็นธรรม ไม่ได้แปลว่าเท่ากัน เพราะคนที่ขาดมากกว่าสมควรได้รับการช่วยเหลือมากกว่าคนที่ขาดน้อยกว่า จริงๆ แล้วเทศกิจรู้ดีที่สุด ดิฉันไปคุยกับเทศกิจ เขาบอกเลยนะ ถ้าอยากเจอผู้ค้ารวย อาจารย์มาที่นี่ ถ้าอยากจะเจอผู้ค้าจนมาที่นี่ เป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพิงกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการเรื่องหาบเร่แผงลอย

 

เทศกิจรู้หมด แต่ทำไมจัดการไม่ได้

นฤมล : มีปัจจัยหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการตรงนี้ เป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่ แต่เป็นเรื่องของการจัดการแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความซับซ้อนไม่เท่ากัน ไม่ควรใช้วิธีการเดียวกัน ผู้ขายที่จนจริงๆ จะอยู่ในชุมชน ผู้ค้าที่อยู่บนถนนจะมีฐานะดีกว่าผู้ค้าที่อยู่ในชุมชน อันนี้เป็นภาพใหญ่

 

อาจารย์ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องแรงงาน เรื่องคนจนเมือง อะไรคือประเด็นที่อาจารย์คิดว่าสำคัญ ที่อยากชวนเราคิดหรือมองเกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมในสังคม

นฤมล : ก่อนจะตอบคำถาม ขอถามอาจารย์ชลก่อนนะคะว่า เป็นไปได้มั้ยที่เราจะมอง SDGs จากข้างล่างด้วย เพราะจากงานวิจัยที่ดิฉันเข้าไปทำกับชาวบ้าน เขาจัดการของเขาได้และปรับตัวตลอดเวลา เลยคิดว่าการปรับตัวนั้นสำคัญ แล้วอะไรล่ะที่ทำให้คนเหล่านี้ปรับตัวได้

ความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันกับความยั่งยืน คงยากที่จะตอบคำถามตรงๆ เพราะความหลากหลายของแต่ละกลุ่ม ทำให้มีเงื่อนไขต่างกันในการพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม อย่างดิฉันทำเรื่องการเตรียมความพร้อมของแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ดูคนอายุ 45-60 ดู 3 กลุ่มอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบ ประเด็นแรกที่สำคัญที่สุดคือ เขามองความเป็นธรรมยังไง เพราะฉะนั้นถ้าเขาชัดเจนในเรื่องของความเป็นธรรม ไปถามชาวบ้านเขาจะบอกเลยว่าต้องการโอกาส ที่จะทำสิ่งที่อยากทำ

 

เขามองเห็นใช่ไหมว่า เขามีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น

นฤมล : คิดว่าชาวบ้านเขาตระหนัก ถ้าไปคุยกับชาวบ้านที่อยู่ตามต่างจังหวัด เช่น กลุ่มผู้หญิง ในขณะที่เขาคิดว่ามีโอกาสไม่เท่าเรา แต่เขาตระหนักดีถึงความเป็นตัวเอง และความได้เปรียบของตัวเขา ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่ดิฉันลงไปทำวิจัยในต่างจังหวัด จะพบเลยว่าชาวบ้านมองตัวเองต่างไปจากสมัยก่อนแล้วนะ เขามองแล้วว่าตัวเองมีศักยภาพ ส่วนหนึ่งอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ แต่เขาไม่ได้มองในเรื่องของการร้องขอรอรับ เขามองในแง่ของสิทธิ และเขาก็พร้อมที่จะมีความรับผิดชอบเข้าไปสวมสิทธิตรงนี้ แล้วก็ทำหน้าที่ในบทบาทที่เขาต้องการจะเป็น เช่นกลุ่มผู้หญิง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสวัสดิการชุมชน

ดิฉันทำงานเรื่องแรงงานนอกระบบ เรียนตรงๆ เลยว่ามีการจะเข้าถึงโอกาสได้อยู่ ระบบสวัสดิการสังคมของบ้านเรา อาจจะยังไม่ไปถึงรัฐสวัสดิการ เป็นการต่อยอดมาตลอดสิบกว่าปี แต่ความที่สังคมเปลี่ยนเร็ว เทคโนโลยีผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง เรามามองดีกว่าว่าทำยังไงให้คนเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ การสนับสนุนให้เขาปรับตัวจึงสำคัญ เป็นพาร์ทเนอร์ชิป ทำงานด้วยกันด้วยกลไกที่มีอยู่ในขณะนี้

ดิฉันทำงานในจังหวัดต่างๆ พบเลยว่าการทำความเข้าใจกับระบบงานในต่างจังหวัดง่ายกว่าระบบงานใน กทม. เนื่องจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนดูแลทั้งหมด กลไกของจังหวัดสามารถบูรณาการอะไรได้ชัดเจนมากจริงๆ การขับเคลื่อนทำได้ชัดเจนมากๆ ซึ่งต่างจาก กทม. อาจเพราะกลไกต่างๆ ซ้อนกัน ระหว่างราชการส่วนกลาง กับความเป็นเขตการปกครองพิเศษของ กทม. ทำให้ขับเคลื่อนยาก ทั้งๆ ที่ กทม. เป็นศูนย์กลาง

ย้อนกลับมาพูดเรื่องความเป็นธรรม ถ้าฟันธง คิดว่าเขาต้องการโอกาส ไม่ได้หมายความว่าส่งโอกาสไปให้เขา แต่หมายความว่า empower ให้เขาพร้อมที่จะรับโอกาสตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นชาวบ้านที่ตั้งกลุ่มสาวไหม ทำมะม่วง เขาต้องการความรู้ ซึ่งโจทย์ที่ตอบตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ แต่ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย สถาบันในท้องถิ่นก็สามารถเข้ามาช่วยได้หมดเลย ไปทางใต้ทางอีสาน จะพบเลยว่ามหาวิทยาลัยในท้องถิ่นทำหน้าที่ตรงนี้อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

รัฐมีกลไกที่จะทำความเข้าใจกับพื้นที่ทั้งหมดแล้ว เพียงแต่การเข้าไปของกลไกนั้น ชาวบ้านมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหนกับโอกาสที่ส่งไปถึงเขา และหน่วยงานของรัฐได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการให้ความรู้ชาวบ้าน มากกว่าไปชี้นำชาวบ้านหรือไม่

 

คนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเล มีปัญหาหรือมุมมองอะไรที่ต่างจากคนที่อยู่บนบกหรือไม่

นฤมล : เคยเจอหมู่บ้านชาวประมง ชาวประมงที่ไปกับเรือไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ปัญหาที่เขาเผชิญชัดเจนที่สุด ไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรโดยตรง แต่เป็นปัญหาในเชิงแรงงานประมง ที่สุดท้ายแล้วทิ้งบ้านไป ทิ้งให้ลูกให้เมียอยู่กับชาวบ้าน เป็นประเด็นในเรื่องความยากจนมากกว่าเรื่องของการมองในเรื่องของทรัพยากรทางทะเล

ประเด็นในเรื่องนี้คือ การทำตัวชี้วัดเพื่อหาดูว่าใครคือคนจน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน ไม่ได้ใช้คำตอบเดียวกันในการตอบโจทย์ ดิฉันเคยลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องเริ่มต้นใหม่ งย้อนกลับไปดูงานวิชาการของฝรั่งและของเอเชียด้วย ว่าเขาใช้อะไรเป็นตัวตัดสินว่าใครจนหรือไม่จน ซึ่งแต่ละชิ้นก็มีตัวชี้วัดที่ต่างกันไป บางชิ้นให้ดูทรัพย์สินที่เขาถือครอง ในขณะบางชิ้นให้ดูว่าเขาใช้เงินเท่าไหร่ในเรื่องของอาหาร เป็นต้น นอกจานี้ เรายังต้องไปทำวิจัยเชิงปริมาณ ทำโฟกัสกรุ๊ปด้วย ซึ่งจะเห็นเลยว่ามีมีความหลากหลายมาก ดังนั้น เกณฑ์ที่ใช้วัดคนจนในพื้นที่หนึ่ง เมื่อนำไปวัดในอีกพื้นที่หนึ่งอาจจะมีปัญหา แต่ในกรณีของประเทศไทยคือใช้ตัวชี้วัดชุดนึงตอบโจทย์คนจนทั้งหมดทั่วประเทศไทย

 

Blue Economy : ความยั่งยืนบนท้องทะเล

 

จากทางเท้ามาถึงทะเลบ้าง ถามอาจารย์เผดิมศักดิ์ว่า มองโจทย์เรื่องทะเลกับความยั่งยืนอย่างไร มีโจทย์อะไรที่เราต้องคิดบ้าง

เผดิมศักดิ์ : ย้อนกลับไปประเด็นที่อาจารย์นฤมลพูดความเหลื่อมล้ำก็ได้ ซึ่งน่าสนใจ แล้วก็ย้อนกลับไปที่ อาจารย์ชล เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ

ยิ่งเรามีการพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ เรามีวิธีการ มีเครื่องมือมากเท่าไหร่ ที่เราดูว่ามันดี มีความซับซ้อน แต่พอมองในบริบททั้งหมด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา กลับกลายเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น เราอาจจะพูดถึงตัวเลข GDP ที่มีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้น แต่ถ้าลงมาดูความจริงก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้นทั้งหมด ซึ่งผมเห็นว่าประเทศไทยก็คล้ายๆ กัน อาจจะแรงกว่าด้วยนะ อันนี้ก็จะเห็นจุดหนึ่งที่เชื่อมโยงในเรื่องทางเท้าถึงทะเล

ยิ่งมาดูชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับทะเล ปัญหายิ่งแรงมากขึ้น เพราะเราต้องยอมรับว่าชุมชนที่มีคนยากจน ด้อยโอกาส ทั้งในเชิงของเงิน และการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเล ก็อยู่ตามจังหวัดชายฝั่ง ประเทศไทยเรามีจังหวัดชายฝั่งทั้งหมด 23 จังหวัด ถ้าไม่รวมกรุงเทพฯ ผมนับพัทลุงด้วย ถึงแม้จะไม่มีพื้นที่ติดทะเลโดยตรง แต่ว่าก็อยู่ในส่วนของ Littoral zone อยู่ในเขตบริเวณชายฝั่งเหมือนกัน

เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) เป็นคำที่ผุดขึ้นมาใช้รองรับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่อาจารย์ชลพูดถึงว่าเรามีการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) พอเรามาดู จะเห็นว่า ถึงแม้เรามีการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ก็ดูเป็นแนวทางที่ดี เพราะให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษา พยายามให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้คำว่า economy ตามท้าย สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ โลกทั้งโลกต้องอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงๆ แต่ถามว่าเศรษฐกิจอย่างไร สิ่งนี้เป็นคำสำคัญ

Blue Economy ไม่ได้มองการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ต้องไม่เกิดผลพวงด้านลบที่เกิดจากการพัฒนา หลักการที่ Blue Economy เกิดขึ้นมาตอนแรก เหมือนเป็น zero waste communities คือพยายามมองวิธีการ generate รายได้ขึ้นมา โดยกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง หลักใหญ่ของ Blue Economy คือการใช้นวัตกรรมมาจัดการ

เมื่อมีการพยายามพัฒนาแล้วก็ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนนี้เรามี 17 goals มีประเด็นเรื่องตัวชี้วัดเยอะแยะ ก็มีประเด็นเรื่องทะเล ผมสนใจที่อาจารย์ชลพูดอย่างหนึ่งว่า ทะเลขยับไปเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ากางออกมา เมื่อเราพูดมิติเรื่องความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ความเหลื่อมล้ำ เรื่องโครงสร้าง หรือมิติที่เกี่ยวกับเรื่องของสันติภาพ ทะเลเป็นตัวเชื่อมหมด

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกมีพื้นทะเลหรือมหาสมุทรตั้ง 71 เปอร์เซนต์ มีพื้นที่บนบกนิดเดียว ยิ่งถ้าเรามองในประเทศไทย เมื่อกี๊ผมคล้อยตามอาจารย์นฤมลในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ใจผมคิดถึงกรุงเทพฯ เพราะเวลามีประเด็นปัญหาเกิดขึ้น เรามักมองสิ่งใกล้ตัว แต่บางครั้งเราลืมมองไปว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่ กทม.

ประเทศไทยอยู่ใกล้ชิดทะเลมาก มีพื้นที่ทางทะเลมหาศาล ประเทศไทยมีพื้นที่ทางบก 5 แสน 3 หมื่นตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางทะเล 3 แสน 2 หมื่นตารางกิโลเมตร เป็นทั้งโอกาสและอนาคตในการพัฒนาต่อเพราะยังเป็นพื้นที่ที่การพัฒนายังไปถึงไม่มากนัก ทุกวันนี้เวลาเราคิดถึงทะเล เราคิดไม่เกินเขต 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง แต่เรามีเขตที่ 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในบริเวณของประเทศไทยทั้งหมด อยู่ในเขตอำนาจของรัฐ

ประมาณ 64 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาสมุทรโลกเป็นเขตนอกอำนาจของรัฐ ซึ่งบริบทของกฎหมายทะเลให้ไว้ว่า บริเวณนั้นทุกคนสามารถเป็นเจ้าของ ถือเป็นสิ่งที่เราสามารถใช้ได้ แต่ประเด็นของโลกมุ่งไปที่ biodiversity การใช้ทรัพยากร ความหลากหลายทาวชีวภาพในเขตบริเวณนั้น หรือการเข้าไปเสาะแสวงหาขุดแร่ในเขตทะเลลึก พื้นที่นอกเขตอำนาจของรัฐก็ถือเป็นเรื่องใหญ่

ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย ผมค่อนข้างมั่นใจเลยว่า แค่ออกจาก 3 ไมล์ทะเล เราก็ไม่เห็น หรือ 3 แสน 2 หมื่นตารางกิโลเมตรที่เปลี่ยนประโยชน์ได้ เราก็ไม่เห็น จริงๆ เรามีโอกาส อาจไปถึงการเพิ่มรายได้ เพิ่มสถานะทางเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การพัฒนาที่ผ่านมาในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยก็ได้รับการปู้ยี้ปู้ยำ ต้องใช้คำขนาดนั้น เกิดการ มือใครยาว สาวได้สาวเอา เพราะเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ได้มาฟรีๆ นึกว่ามีให้อยู่แล้ว การพัฒนาลักษณะนี้ทำให้สถานภาพตรงนั้นตกลงไปเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยกับโลกก็คล้ายกัน ก็เลยกลายมาเป็นเรื่องของ Blue Economy Development

World Bank นิยามว่า Blue Economy คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน การสร้างความกินดีอยู่ดีของคนในชาติ ขณะเดียวกัน ก็มุ่งเน้นการรักษาสภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทางทะเลและมหาสมุทร มีสองเรื่องที่พัฒนาไปด้วยกัน คือเรื่องของการเติบโต Ocean Economy แล้วก็ Ocean Health นี่คือที่มาของ Blue Ocean Strategy

 

หลายคนก็บอกว่า Blue Economy ไม่มีอะไรใหม่ ก็คือการเอา Green ลงไปที่ทะเลนั่นแหละ คำถามก็คือว่า วิธีคิดหรือคอนเซปต์เรื่อง Blue Economy ชวนเราตั้งโจทย์อะไรใหม่เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาในทะเลได้บ้าง

เผดิมศักดิ์ : คำพูดนี้ทั้งถูกและผิด เมื่อสักครู่ผมเน้นประเด็นเรื่องนวัตกรรม นวัตกรรมที่ผมกำลังพูดถึงไม่จำเป็นต้องไฮเทค ไม่ต้องเอาเทคโนโลยีที่สุดยอดมา แต่ย้อนกลับมาที่นวัตกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ในบริบทของทะเลไทย เราก็ต้องตีโจทย์ให้ได้ ในเมื่อเรามอง Blue Economy เป็นทั้งมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการรักษาตัวทรัพยากร เป็นสองอย่างที่ต้องมองไปพร้อมๆ กัน จึงจะหาวิธีการหรือแนวทางได้

ถ้ามองในลักษณะนั้น จะเห็นว่ามี 3 กลุ่มที่มีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจได้
หนึ่ง สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
สอง เป็นการสร้างผลประโยชน์หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ ในขณะเดียวกัน ก็สร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อม
สาม ใช้ประโยชน์จากการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เปรียบเทียบเหมือนก้อนน้ำแข็ง ก้อนน้ำแข็งส่วนหนึ่งอยู่ข้างบน คือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่มันอยู่บนฐานน้ำแข็ง ส่วนข้างล่าง เราไม่สามารถทำให้ข้างบนโตขึ้นโดยทำลายข้างล่างด้วย เพราะจะทำให้ความสามารถด้านการพยุงลดลง คำถามก็คือจะทำยังไงให้ข้างบนอยู่ได้ ข้างล่างอยู่ได้ นวัตกรรมจะทำให้ข้างล่างซัพพอร์ตข้างบนได้

พื้นที่การพัฒนา Blue Economy โดยอาศัยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจในน้ำทะเล ถ้าทำให้ถูก จะสามารถเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย

 

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ หลักสูตรการบริหารกิจการทางทะเล (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ประเทศไทยมีการประเมินมูลค่าไหมว่า Blue Economy ของเรา มีมูลค่าเท่าไหร่

เผดิมศักดิ์ : อาจจะยังไม่มีการประเมินโดยตรง แต่มีอยู่ในงานวิจัย ผมออกตัวนิดว่าผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่เมื่อพยายามมองหลักการตรงนี้ แล้วทำความเข้าใจก็พบว่า Blue Economy ของเรา เป็นผลประโยชน์ชาติ ซึ่งประกอบด้วย รายได้ที่เกิดจากกิจกรรมทางทะเลต่างๆ กับมูลค่าทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักของ total economic value หรือการดูมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวม เราประเมินเมื่อปี 2550 ตัวเลขรายงานใน สกว. อยู่ที่ 7.5 ล้านล้าน จากการที่ประเมินแล้วดู จะเห็นว่าตัวเลขขึ้นมาเรื่อยๆ

ตัวเลขส่วนมากมาจากมูลค่าการใช้โดยตรง (direct use value) แต่เรายังขาดมูลค่าของการไม่ใช้ (non-use value) กับมูลค่าของสิ่งแวดล้อม ความจริงแล้วทะเลประเมินมูลค่าได้มหาศาล ที่น่าสนใจก็คือ non-use value จะทำให้เกิดการใช้อย่างยั่งยืนได้ ถึงแม้ว่าในกรอบที่เทียบกันโดยตรง มูลค่าอาจจะต่ำกว่า แต่ถ้าคูณด้วยจำนวนเวลาก็น่าสนใจ

ส่วนตัวผมเอง Blue Economy เสียเปรียบ ถ้าจะพยายามประยุกต์ หรือเอาอะไรไปใช้ก่อนในพื้นที่แรก ผมก็เห็นด้วยกับอาจารย์นฤมลว่าตลบไปบนบกคงจะลำบาก เพราะว่าลักษณะของบนบกกับทะเลไม่เหมือนกัน ในทะเลเป็นของรัฐทั้งหมด แต่ว่าบนบกผมก็เห็นคนพยายามทำ ปัญหาในการจัดการพื้นที่เยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นโอกาสแรก ที่เราจะใช้แนวคิดนี้กระโดดเข้าไป

 

 

ทำไมสังคมไทยคิดเรื่องทะเล คิดไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล  เข้าใจว่าเรามีกองทัพเรือที่เกรียงไกร แสนยานุภาพครอบคลุม เข้าใจว่ามีองค์ความรู้มากอยู่ แต่ทำไมเราถึงมองเรื่องทะเลได้ไม่กว้างไกล

เผดิมศักดิ์ : ส่วนใหญ่มุมมองของสังคมไทย มองไม่เห็นประโยชน์ของทะเลมากกว่าใช้ในการท่องเที่ยวหรือพักผ่อนหย่อนใจ ขีดความสามารถของเราในการดูแล มันได้ แต่ไม่ได้ครบทุกมิติ ต้องยอมรับว่าเรื่ององค์ความรู้ของเรา ที่บอกว่า คือโอกาส แต่พอเราสอบทานแล้ว องค์ความรู้ที่มีจริงๆ ที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ตรงนั้นได้ ก็ยังขาดอยู่เยอะ

ผมเคยคุยในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลด้วยกันว่า ความจริงเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลน้ำตื้น เพราะส่วนใหญ่แล้วเราไปเน้นอยู่แค่อ่าวไทย อ่าวไทยลึกสุดก็ 80 เมตร อันดามันอยู่ฝั่งตะวันตก ความลึกสูงสุดอยู่ประมาณ 1200 เมตร มหาสมุทรที่ลึกที่สุด 11 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นความรู้เรามีจำกัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำกัดแล้วทำไม่ได้ เราก็ต้องพัฒนาไป เป็นโอกาส แต่ต้องออกแรงในการเอาโอกาสนั้นเข้ามา

ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะเชื่อมต่อที่อาจารย์ชลพูด  ผมมีโอกาสลงไปเกือบทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล ตัวแนวทางที่กำหนดไว้ในหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการมีหุ้นส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่ผมสอบทานแล้วยืนยันได้เลยว่า แม้จะมีการใช้เครื่องมือทางภาครัฐ โดยอาศัยผู้ว่า และการคุยงานแต่ละจังหวัด แต่ผมว่ายังไม่บาลานซ์ ในทุกรูปแบบและแมคคานิคส์ที่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และโอกาสในการจัดการ อันนี้ผมอาจจะพูดในมิติการดูแลทางด้านทรัพยากรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดนคลุมโดยภาครัฐ

ความเท่าเทียมกันของหุ้นส่วน คือทางที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ เราสร้างจริง แต่ก็ยังไม่ได้เอาจริงเอาจังกับมัน ยกตัวอย่างที่สะท้อนมาในเรื่องของกรรมการชาติ หรือกรรมการจังหวัด ยึดแค่ตัวเองเป็นที่ตั้ง สำนักสิ่งแวดล้อมก็มี สำนักด้านเกษตรก็มี แต่ส่วนใหญ่เวลาลงพื้นที่ เราจะได้ยินเสียงจากพื้นที่ตลอดเวลาว่า โอกาสที่จะได้แสดงความคิดความเห็น หรือสิ่งที่เขาต้องการนำไปสู่ตรงนั้น ไม่ออกมา

ในความจริงแล้ว มันกลับกัน เขาอยู่ในพื้นที่ อยู่ในผลประโยชน์ แล้วเขาก็มีความรู้พื้นฐานตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือประสบการณ์ที่เขามีอยู่ บางทีภาครัฐไม่มองว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง ผมว่าเรามีความรู้แต่เพียงข้างนอก ความรู้ในหลักการและทฤษฎีไม่มี คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องประสานกัน พอตรงนี้ไม่มี ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ภาครัฐใกล้ชิดกับภาคเอกชน คราวนี้ภาคประชาชนไม่ได้รับน้ำหนักในการให้ความสำคัญ ตอนนี้กลับกันหมดเลยนะ

พอมาพูดถึงโอกาส จะเห็นว่าประเด็นที่อาจารย์นฤมลพูดเรื่องแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายหรือย้ายแรงงานจากข้างนอกเข้ามาข้างใน อันนี้คือสาเหตุคือเขาไม่มีโอกาส เช่น แรงงานต่างจังหวัดมอง กทม. เป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเราใช้หลักคิดของแนวคิดจากเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ที่ให้ได้การเติบโตทางเศรษฐกิจพร้อมกับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ผมถามว่าวิ่งกันเข้ามากรุงเทพฯ จะรักษาสิ่งแวดล้อมยังไง

ประเด็นแรก ถ้าเราสามารถพัฒนาให้เขาเติบโตขึ้นในพื้นที่ได้ ทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่เริ่มกลับไปสู่เศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรอย่างแท้จริง ไม่ได้หมายความว่าตักตวงทรัพยากรนะครับ แต่เป็นเศรษฐกิจที่เราไปรักษาทรัพยากรไว้ด้วยเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ภาพต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย ในแนวทางการพัฒนา อันนี้ผมว่าเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ วิธีการมีอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ทำ

ประเด็นที่สอง เวลาเราพูดถึงการประสบความสำเร็จของเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผมยังเห็นว่า คล้ายๆ กับประเด็นปัญหาที่อยู่ในมหา’ลัยเลย ก็คือให้ประกันคุณภาพการศึกษา ทุกอย่างได้ตามเป้าหมายหมด แต่ไม่ไปไหน เราน่าจะเอาสิ่งที่เขามีมาเป็นประโยชน์เพื่อใช้กับเรา แต่อย่าไปมุ่งเพื่อให้ประสบความสำเร็จในตัวเป้ามากเกินไป ผมว่าอันนี้เป็นหลักใหญ่ แล้วอันนี้สามารถเอามาใช้พัฒนากับทั้งประเทศได้

ถ้ามามองในจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกับทะเล ยังมีโอกาสในการพัฒนา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่จังหวัดชายทะเล ก็ยังได้ประโยชน์ เพราะว่าคนที่เชียงใหม่ก็อาจจะต้องใช้การขนส่งสินค้าทางเรือ ประโยชน์ได้หมด เพียงแต่ว่าจะอยู่ในระดับไหนเท่านั้นเอง

หลักที่สำคัญคือในขณะที่เรามองในประเด็นย่อย ต้องไม่ทิ้งประเด็นใหญ่ เราไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นย่อยกับประเด็นใหญ่ ซึ่งผมว่าอันนี้เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยเลยนะ แล้วรัฐต้องยอมรับเหมือนกันว่าเราต้องแก้ไขตัวเอง

 

 

อาจารย์ลงไปพื้นที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด พูดถึงโอกาสมากมาย แล้วอาจารย์เห็นปัญหาหรือข้อกังวลอะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนในเรื่องทะเลมั้ย

เผดิมศักดิ์ : ข้อมูลที่เราลงในงานวิจัยปี 2560 จะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่โอเค แต่ในทางกลับกัน ผมมีโอกาสลงพื้นที่ทั้งหมด 24 จังหวัด ทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน แล้วก็พยายามหาว่าในพื้นที่มีปัญหาอะไรที่เดือดร้อนมากที่สุด

ที่สำคัญสองอันดับแรกคือ เรื่องขยะ และ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะว่าเขาสูญเสียพื้นที่ทำกินโดยตรง หายไปทุกปี แล้วก็เรื่องการเสื่อมโทรมของสภาพทรัพยากร เป็นเรื่องที่ทุกส่วนเจอปัญหาหมด

เรื่องขยะก็ไปเกี่ยวกับความสะอาดของหาดและท้องทะเล เชื่อมโยงกับเรื่องปะการัง การท่องเที่ยว ตัวเลขของสัตว์ทะเลหายาก สัตว์สงวน สัตว์อนุรักษ์หลายชนิดที่ตาย ก็มีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับขยะทั้งสิ้น ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด ปัญหาเรื่องขยะเป็นปัญหาโลก ไม่ใช่ของเราอย่างเดียว แต่เราอาจจะโชคดี เลยได้ไปติด 1 ใน 10 ของโลกขึ้นมาเท่านั้นเอง

อีกเรื่องที่เราเอา goal 14 เข้ามาจับ คือเรื่องการจำกัดพื้นที่ทางทะเล ซึ่งของโลกลดลงไป 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามีการจัดการเรื่องพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ทำแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างเป็นระบบ ปัญหาพวกนี้ก็จะค่อยๆ ได้รับการดูแลแล้วเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาธรรมชาติ ธรรมชาติชายฝั่งในบางบริเวณมีการหมุนเวียนในบางฤดูกาลอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเราไปพัฒนาชายฝั่ง แต่สุดท้ายปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาใหญ่ มาคุยกันเรื่องการวางแผนการใช้พื้นที่ทางทะเล จำเป็นจะต้องมีเพื่อใช้ในการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ โดยสามารถนำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมได้

 

เรามีนวัตกรรมที่สามารถนำไปจัดการเรื่องขยะบ้างไหม

เผดิมศักดิ์ : ถ้าเรามองขยะเป็นวัตถุดิบ หลักการเดียวกันที่ผมพูดถึง Blue Economy Concept คือเราใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ แต่ก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินในการแก้ไขด้วย

ผมเคยคุยกับสถาบันพลาสติกเรื่องการเอาพลาสติกเข้ากระบวนการรีไซเคิล พอเป็นเม็ดพลาสติกขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 22 บาท ถือว่าราคาดี ทำให้เกิดระบบธุรกิจได้ดีกว่าที่เราต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะ ซึ่งนวัตกรรมในลักษณะนี้ คงไม่สามารถเอาระบบจากต่างประเทศมาใช้ได้ ต้องดูอะไรที่คลิกกับจริตคนไทย หรือความเป็นไทย ในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน อาจจะต้องคิดเยอะหน่อย ถามว่าเป็นไปได้มั้ย เป็นไปได้ เพราะตัวอย่างก็มีอยู่ เพียงแต่เราต้องหาวิธีการที่ดี


 

ชมคลิปงานเสวนา Knowledge Farm Talk – คุยฟาร์มรู้ครั้งที่ 5 เรื่อง ‘จากทางเท้า ถึงทะเล เส้นทางสู่สังคมไทยยั่งยืน’  ได้ ที่นี่