ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ และคณะ เรื่อง
ขยะทะเลไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย ในทางตรงกันข้ามปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสะสมซึ่งได้มีการกล่าวถึงโดยเฉพาะจังหวัดต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลของไทยมาโดยตลอดเป็นเวลายาวนานมากกว่า 20 ปี และต่อมาปัญหาดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนเกิดผลกระทบในวงกว้างและดูจะใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตของชุมชนชายฝั่งทะเลรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ตามชายฝั่งทะเล ในทะเล นอกชายฝั่งรวมถึงตามเกาะต่างๆ ที่อยู่นอกชายฝั่ง
การพบกองขยะและเศษอวนที่คลุมตามแนวปะการังหลายแห่ง การพบการเกยตื้นและบ่อยครั้งที่นำไปสู่การตายของสัตว์ทะเลหลายชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล โลมา และวาฬ เป็นต้น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและบ่อยครั้งมีความเชื่อมโยงกับขยะทะเลโดยเฉพาะในช่วงปี 2560ที่ผ่านมา ได้มีรายงานการพบแพขยะขนาดใหญ่ในทะเลนอกชายฝั่งจังหวัดชุมพร มีรายงานว่าประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ทำให้เกิดขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ไปจนถึงรายงานการพบ “วงวนขยะ (Garbage Gyre)” ในมหาสมุทรของโลก
การที่ปัญหาขยะทะเลได้ถูกบรรจุไว้ในเป้าหมายที่ 14 ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ในเป้าประสงค์ที่ 14.1 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทรวมถึงขยะทะเล ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการขยะทะเล แต่เราก็มีแผนการจัดการขยะบนบก โดยปรากฏในนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2560-2564 ที่ระบุให้คนไทยในประเทศช่วยกันดูแลและจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ทำให้หลายหน่วยงานทางภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนกลางเริ่มให้ความสนใจ และมีความพยายามในการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ
ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมทั้งภาคราชการส่วนท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และได้มีความพยายามดำเนินกิจกรรมอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยมาเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร โดยมีหลายกรณีที่ยังคงดำเนินการ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเป็นกรณีศึกษาของความสำเร็จที่ดีโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การปลูกจิตสำนึกและการแก้ปัญหาที่ปลายทาง แต่เนื่องจากขยะทะเลส่วนใหญ่เป็นขยะที่มาจากกิจกรรมบนบก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องมีการบริหารจัดการขยะตั้งแต่บนบกอย่างเป็นระบบและในหลายกรณีจำเป็นต้องมีการจัดการก่อนที่วัสดุเหลือใช้เหล่านั้นจะกลายเป็นขยะและขยะทะเล ในที่สุดจึงเห็นได้ว่าวิกฤตขยะทะเลไทยไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างแก้กันแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว
ขยะทะเลคืออะไร?
ขยะทะเล คือของเสียที่เกือบทั้งหมดเกิดจากมนุษย์ ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าไปถึงขนาดใหญ่จนไม่สามารถเก็บได้ด้วยแรงคนเพียงคนเดียว ซึ่งขยะดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วเป็นขยะพลาสติก มีน้ำหนักเบาและไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาที่สั้นจึงถูกพัดพาไปในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด โดยคลื่นลมกระแสน้ำและน้ำขึ้นน้ำลง ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ประกอบด้วยของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถุง ขวด ภาชนะใส่อาหาร และวัสดุที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น สายรัด แผ่นพลาสติก หมวกนิรภัย และเครื่องมือประมง เช่น แห อวนลอบ (UNEP and NOAA, 2011)
ขยะทะเลมาจากไหนและสถานการณ์เป็นอย่างไร
จากการสรุปรายงานจากหลายแหล่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ พอจะสรุปแหล่งที่มาของขยะทะเลมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ (1) กิจกรรมต่างๆ ในบริเวณชายฝั่งทะเลในทะเลและตามเกาะต่างๆ ตัวอย่างเช่น ของเสียและของเหลือใช้จากชุมชน จากนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานอุตสาหกรรมชายฝั่ง แหล่งทิ้งขยะต่างๆ ขยะจากเรือและท่าเทียบเรือ ทั้งบริเวณชายฝั่งและในทะเล การขนส่ง การท่องเที่ยวสันทนาการและนันทนาการ และการประมง เป็นต้น (2) ความไม่สมบูรณ์ของการจัดการปัญหาขยะบนบก โดยกรมควบคุมมลพิษได้มีรายงานว่าสถานการณ์ขยะบกใน พ.ศ. 2559 พบว่าคนไทยผลิตขยะเฉลี่ยคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ก่อให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศเท่ากับ 27.06 ล้านตัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นจำนวน 5.81 ล้านตัน (ร้อยละ 21.5) อีกส่วนหนึ่งสามารถนำไปกำจัดตามกรรมวิธีที่ถูกต้องได้เป็นจำนวน 9.57 ล้านตัน (ร้อยละ 35.4) ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องเป็นจำนวน 11.40 ล้านตัน (ร้อยละ 42.1) และมีขยะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการให้บริการ 0.28 ล้านตัน (ร้อยละ 1) ซึ่งปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศยังไม่รวมขยะตกค้างสะสมในพื้นที่อีกประมาณ 9.96 ล้านตัน
โดยขยะที่นำไปกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ขยะที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการให้บริการ และขยะตกค้างสะสมบางส่วนมีโอกาสหลุดรอดหรือถูกชะลงทะเลได้ตามโอกาสต่างๆ เช่น การเกิดฝนตกหนัก การเปิด เขื่อนระบายน้ำ และกรณีน้ำท่วม เป็นต้น ในขณะที่สถานการณ์ขยะในทะเลนั้น เราทราบเพียงแค่ว่าขยะบริเวณชายหาดส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก เช่น ขยะที่มาจาก กิจกรรมชายฝั่งและการพักผ่อน (ถุง ฝาจุก หลอด ช้อน และภาชนะบรรจุอาหาร) คิดเป็น ร้อยละ 41 และขยะที่มาจากกิจกรรมทางน้ำ (อวนเชือก) คิดเป็นร้อยละ 8
ผลกระทบของขยะทะเล
- ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะทะเลจำพวกเครื่องมือประมงที่ไม่ได้ใช้งาน และขยะจำพวกพลาสติกซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศปะการัง และการตายของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น พะยูน เต่า โลมา และ วาฬ จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี พ.ศ. 2558 พบว่า ขยะเป็นสาเหตุการเกยตื้น ซึ่งมีแนวโน้มของปัญหาเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าเฉลี่ยของเต่าที่ถูกอวนหรือเชือกพันภายนอกมีถึงร้อยละ 20 – 40 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของเต่าและโลมาที่มีการกลืนขยะมีร้อยละ 2 – 3 ส่งผลให้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศลดลง
- ด้านเศรษฐกิจ ขยะทะเลที่เกลื่อนตามแนวชายฝั่งทำให้ระบบนิเวศ บริการในด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะทัศนียภาพของชายหาดและเกาะเสื่อมโทรมลง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการดูแลแก้ไขและอาจเป็นผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง
- ด้านสุขภาพ อาหาร ความปลอดภัยของชุมชนและส่วนบุคคล เนื่องจากขยะทะเลเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และก่อให้เกิดการปนเปื้อนอาหารที่มาจากทะเล โดยเฉพาะปัญหาจากขยะพลาสติกขนาดเล็กที่เรียกว่า “ขยะไมโครพลาสติก (microplastic debris)” ซึ่งมีรายงานว่า สามารถแทรกเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตบางชนิดในทะเลและส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ตามห่วงโซ่อาหารในทะเลสามารถส่งต่อมายังอาหารที่เราบริโภคได้ในที่สุด
- ผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งในลักษณะที่เราเป็นผู้ก่อและเป็นผู้ได้รับผลกระทบในเวลาเดียวกัน เนื่องจากขยะทะเลสามารถเคลื่อนที่อย่างอิสระอย่างไร้พรมแดนไปได้ทั่วโลก สามารถก่อให้เกิดผลกระทบในบริเวณกว้าง ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้น อาจนำไปสู่ปมขัดแย้งระหว่างประเทศอีกด้วย
เนื่องจากขยะทะเลส่วนใหญ่เป็นพลาสติกทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่สามารถลอยบนผิวน้ำให้เห็นได้ลอยกลางน้ำ หน้าดินรวมไปถึงสะสมอยู่ตามผิวดินและฝังอยู่ใต้ท้องทะเลอีกเป็นจำนวนมากโดยที่เราไม่สามารถประเมินออกมาได้อย่างถูกต้องรวมทั้งเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายระดับต่างๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผลกระทบจากขยะทะเลนั้นกว้างขวางและซับซ้อนกว่าที่คิดเป็นอันมาก
เราทำอย่างไรได้บ้าง?
ก่อนที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะทะเลของประเทศไทย มีหลักคิดที่สำคัญบางประการที่มีความจำเป็น และควรมีการถอยมาตั้งหลักกันเสียใหม่ ทั้งนี้เพราะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วในบทนำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ที่มีความพยายามในการแก้ปัญหากันมาแล้วในอดีต แต่หลักคิดเริ่มต้นที่สำคัญ ได้แก่ (1) ขยะทะเลเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ (หลายหน่วยงาน) เอกชน ประชาชน รวมไปถึงภาควิชาการที่ต้องร่วมรับผิดชอบและร่วมกันดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบที่สอดคล้องกัน ซึ่งเรื่องนี้ดูจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ แต่ ณ ปัจจุบัน “ไม่ทำ ไม่ได้และทำไม่ได้ ไม่ได้” (2) ปัญหาขยะทะเลจำเป็นต้องมีการจัดการที่ครอบคลุมแหล่งกำเนิดทั้งหมด ทั้งในทะเลเองและก่อนที่จะมาลงทะเล ซึ่งก็คือการจัดการปัญหาขยะบนบกด้วยนั่นเอง นั้นคือ “ต้องทำทั้งระบบ” (3) เป็นที่ชัดเจนว่าแนวทางทั้งในการป้องกันและแก้ไขเป็นแนวทางที่สำคัญและมีความจำเป็น แต่แนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลนั้นทำได้ยากและมีต้นทุนสูงทั้งค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น แนวทางในการป้องกันรวมถึงการสนับสนุนและการเร่งดำเนินการอย่างเป็นระบบจึงควรได้รับความสำคัญมากกว่า ในขณะเดียวกันแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำเช่นกัน โดยเน้นความคุ้มทุนในการดำเนินการตามตัวชี้วัดความสำเร็จที่เหมาะสม ซึ่งก็หมายความว่า “ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าการแก้ไข”และ (4) แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจในการจัดการกับ ปัญหาขยะทะเลและสามารถใช้รวมไปถึงการจัดการปัญหาขยะโดยรวมของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับ “แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)” ที่ได้ให้ไว้โดย Gunter Pauli ซึ่งทำให้เกิด “การมองให้เห็นขยะก่อนที่จะเป็นขยะ” ซึ่งก็คือ การมองเป็นวัตถุดิบที่สามารถจัดการได้อย่างคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการที่ไม่เหมาะสมแล้วกลายเป็นขยะที่เราต้องใช้งบประมาณมหาศาล และไม่สิ้นสุดในการตามแก้ปัญหาดังกล่าว ในทางกลับกัน การเน้นที่การแก้ไขหรือการมองขยะที่สะสมอยู่แล้วในขณะนี้ (ตามหลุมฝังกลบต่างๆ ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง) ให้เป็นวัตถุดิบในระบบการผลิตที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับรายละเอียด แนวทาง และข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาขยะทะเลสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อภายใต้โครงการ “การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทยในหัวข้อเรื่อง ‘สถานการณ์และแนวทางป้องกันปัญหาขยะทะเล’”
วิกฤตปัญหาขยะทะเลเป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่ากำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ในวงกว้างทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อาหาร สุขภาพส่วนบุคคล ชุมชน ไปจนถึงชาติ แนวทางทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลนั้นเป็นเรื่องของทุกคน เริ่มได้จากการป้องกันตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็นขยะ โดยให้ความสำคัญที่การจัดการขยะให้ครอบคลุมแหล่งกำเนิดทั้งหมดทั้งในทะเลและบนบกก่อน ในขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาขยะที่ลงไปในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นการนำแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาใช้ทั้งป้องกันและแก้ปัญหาโดยเฉพาะ “ก่อนที่จะมาเป็นขยะ” โดยทำให้ของเหลือใช้เหล่านั้นกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำให้ขยะไทยกลายเป็นศูนย์ และ“ปัญหาขยะทะเลไทย….จะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ได้ในที่สุด”
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 136 ปีที่ 23 เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 ในชื่อ วิกฤตขยะทะเลไทย…ใครว่าเรื่องเล็ก