รายงาน: บ้านหลังสุดท้าย

เขียน: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

ภาพ: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

แต่ภาพที่เห็นอยู่ในสายตาขณะนี้ก็เป็นภาพซ้ำซากเหมือนกับเมื่อวาน เหมือนกับเมื่อวานซืน และก็จะเหมือนกับพรุ่งนี้

นั่นไงยายร่างอ้วนนั่งอยู่ใต้ลมหูกวาง เบื้องหน้าแกมีตะกร้าใส่ขนมปังเอาไว้ขายสำหรับเลี้ยงปลาในสระ นั่นอีกล่ะ ยายร่างเล็กที่โชว์งานฝีมือถักไหมพรมของแกขึ้นขายแก่เด็กหนุ่มเด็กสาวที่เดินผ่าน และผู้คนในศาลากลางศาลนั้นก็ล้วนแล้วคนแก่ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าพวกเขายังไม่ถึงขนาดล้มหมอนนอนเตียง อีกไม่นานพวกเขาก็จะต้องถูกย้ายมาเรือนพักแห่งนี้

พวกเขาล้วนถูกทอดทิ้งมิใช่หรือ?

 

นั่นคือถ้อยความคิดของอุบล ผู้ดูแลผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในนวนิยายเรื่อง เวลา ของชาติ กอบจิตติ ในเรื่องมีทั้งบทความคิดของคนชรา บรรยากาศของการป่วยไข้ไร้หวัง มีบ้างที่เป็นบทสนทนาเฮฮาออกรส แต่สรุปจบก็คือที่นี่ไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่ …หากมีทางเลือกอื่น

ปิดหน้าหนังสือ การพรรณาที่ชัดเจนหนักหน่วงทำให้ปลายจมูกฉุนกลิ่นปัสสาวะ และรู้สึกถึงความมืดหม่นสิ้นหวังที่กดทับ

บ้านพักคนชราหรือ? เนิร์สซิ่งโฮมหรือ? สถานสงเคราะห์คนชราหรือ? ไม่ว่าจะเป็นชื่อใด หรือมีรายละเอียดที่แตกต่างกันขนาดไหน เราต่างมองสถานที่เหล่านี้เป็นปลายทางที่น่าหวั่นกลัว

หลายคนถึงกับบอกว่าที่อยากหาสามีและมีลูก ก็เพื่อที่จะไม่เป็นยายแก่ขึ้นคานและถูกจับไปอยู่ในบ้านพักคนชรา

แต่ว่ามันเลวร้ายขนาดนั้นจริงไหม

Hed 1

แผนที่ระบายสีเทา

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ปัจจุบันกระแสการส่งผู้เฒ่าผู้แก่ไปบ้านพักคนชราไม่ใช่เรื่องน่าละอายอีกต่อไป แต่เป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากร

คนชราเพิ่มมากขึ้น คนวัยทำงานน้อยลง และพร้อมกันนั้นอายุขัยเฉลี่ยที่มากขึ้นก็ทำให้เกิด “ความเป็นเมือง” ที่มีประชากรหนาแน่นในหลายพื้นที่ของโลก บีบคั้นให้ครอบครัวต้องกระจายกันออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ เพราะไม่อาจขยายตัวได้ในพื้นที่อาศัยจำกัด สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแรกๆ ในฝั่งตะวันตก แต่ตอนนี้ลามมาถึงเอเชีย ภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายตามธรรมเนียมประเพณีมาช้านาน และกลายเป็น ‘ตะวันตก’ มากขึ้น

“ผมไม่ได้บอกว่าระบบคุณค่าครอบครัวแบบเอเชียนั้นต้องสยบยอมไป แต่มันต้องไม่ใช่การอาศัยอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน”

Chris Comer, ซีอีโอของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แคสเทิลวูดในสิงคโปร์กล่าว เขาเห็นอนาคตในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในสิงคโปร์ และในเชียงใหม่ ประเทศไทยนี้เอง

ทุกวันนี้ สถานดูแลผู้อยู่อาศัยสูงอายุไม่ใช่แค่สถานที่สำหรับคนไร้ทางไป แต่มันคือทางเลือก คือบริการ และคือธุรกิจที่กำลังเติบโต

ไม่ใช่แค่เรื่องที่อยู่ในบ้านอันจำกัด แต่เพราะความท้าทายใหม่ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุ เช่น สารพัดโรคชรา โดยเฉพาะอาการความจำเสื่อม ภาระอื่นๆ ที่วัยทำงานมีในชีวิตประจำวันที่ดูยุ่งเหยิงซับซ้อนกว่าหน้าที่การงานในอดีต ทำให้สถานที่เพื่อผู้สูงอายุเหล่านี้เริ่มถูกไฮท์ไลท์ว่า ‘จำเป็น’ มากขึ้นทุกที

หากไม่เคยลองเปิดแคตตาล็อกบ้านของคนสูงวัย ก็อาจไม่รู้ว่าบริการนั้นมีตั้งแต่ระดับที่อยู่อาศัยริมทะเลสุดหรูที่เรียกตัวเองว่า “ไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้” เจาะกลุ่มผู้สูงวัยเกษียณอายุกระเป๋าหนัก มีตั้งแต่กิจกรรมสันทนาการ บริการทางการแพทย์ใกล้ชิด และอาหารหรูหลากหลาย ระดับรองลงมาก็คือโครงการบ้านจัดสรรสูงวัยที่ราคาอาจไม่อู้ฟู่นัก แต่รับประกันความเหมาะสมในการอยู่อาศัย และสุดท้าย คือ สถานสงเคราะห์คนชรา ที่เราอาจเบือนหน้าหนีเมื่อแรกได้ยินชื่อ

แต่ทุกอย่างก็คือทางเลือกที่วันหนึ่งเราอาจจะต้องเลือก – อย่างเลือกไม่ได้

 

แง้มหน้าต่างบ้านบางแค

ก่อตั้งในปี 2496 ช่วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี บ้านบางแคคือสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย

และแน่นอน บ้านบางแคมากับภาพจำอันแสนหดหู่เมื่อเอ่ยถึงชีวิตคนชราที่ถูกทอดทิ้ง  และภาพน่าเวทนาของความชราในที่คุมขัง

แต่ภาพจินตนาการเหล่านั้นนั้นดูเหมือนจะเกินจริงไปเสียหน่อย

“ทีแรกเข้ามา ร้องไห้เหมือนกัน เพราะกังวลว่ามันจะเป็นยังไงหนอ”

คุณยายทองคำ เทียนแย้ม อายุ 74 ปี อดีตกุ๊กสโมสรอังกฤษย่านสีลม เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ 7 ปีก่อน เมื่อตอนที่ตนหกล้มในบ้านเช่าในย่านห้วยขวางจนเอ็นข้อมือสองข้างขาด ไร้คนช่วยเหลือ จนต้องติดต่อสังคมสงเคราะห์ บอกสั้นๆ ว่า “ยายไม่ไหวแล้วนะ” แล้วจากนั้นชีวิตทรหดก็พาเธอมาส่งที่บ้านบางแค

“คนขับรถเขาก็ชวนคุยมาตลอดทางว่า ยาย ที่โน่นมีตลาดบางแคนะ ตลาดใหญ่มาก ไม่ต้องกลัวอด ยายเข้าไปก็ออกมาซื้อของได้ ไม่มีปัญหา พอเข้ามาถึงตกใจ มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด เรานึกว่าเป็นบ้านไม้ แต่มันเจริญมากๆ เลย น่าอยู่” คุณยายเล่าออกท่าออกทาง เอนหลังพิงวีลแชร์แล้วหันมองบรรยากาศโดยรอบ ซึ่งมีต้นไม้ร่มรื่น และเสียงกลุ่มคนเล่นอังกะลุงอยู่ไม่ไกล “กับคนอื่นไม่รู้นะ แต่ยายรู้สึกเหมือนอยู่สวรรค์ เพราะยายอยู่มาอย่างลำบากม้ากมาก การอยู่ที่นี่สบายที่สุด”

คุณยายทองคำ เทียนแย้ม
คุณยายทองคำ เทียนแย้ม

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค แบ่งประเภทการดูแลผู้สูงอายุออกเป็นสามประเภท ได้แก่ แบบสามัญ ซึ่งเป็นแบบสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน แบบเสียค่าบริการ และแบบพิเศษซึ่งเป็นบ้านแยกเป็นหลังเล็กๆ

ปี 2558 ในจำนวนผู้สูงอายุ 259 คน มีผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ที่นี่เพราะยากจนอยู่เพียงร้อยละ 26 ส่วนใหญ่คือร้อยละ 44 เข้ามาที่นี่เพราะขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู[1]

คุณยายทองคำคือตัวแทนหนึ่งของผู้สูงอายุหลายคนที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแล และมาอาศัยอยู่ที่บ้านบางแคในประเภทสามัญ ไม่ใช่เพราะเธอไม่มีลูก แต่เพราะปัจจัยอื่นๆ ของชีวิตที่ทำให้เธอไม่ได้เลี้ยงลูกมาจนโต

“สามีเสียตั้งแต่ลูกคนเล็กอายุแค่สี่ขวบ เราก็แค่พยายามเลี้ยงให้ลูกโต ช่วงนั้นเจอหลายเรื่อง ทั้งผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดมดลูกทิ้ง เหมือนมีอะไรประดังประเดมาเยอะ เราเลยตั้งเป้าหมายอะไรในชีวิตไม่ได้ ขอให้อยู่รอดไปวันๆ ก็พอ ลูกก็ต้องให้ย่าเขาเลี้ยง เพราะเราจ้างเลี้ยงไม่ไหว เราต้องทำงาน เราก็เลยดูแลตัวเองและทำงานส่งลูกไปด้วย พอเกษียณก็ออกมาขายของ ได้บ้าง ขาดทุนบ้าง จนกระทั่งมาหกล้ม”

เช่นเดียวกับคุณยายวลัยลักษณ์ อยู่แสง คุณยายร่างเล็กใบหน้าเปื้อนยิ้ม แม่ค้าสูงวัยในตลาดสำเพ็งที่อยู่คนเดียวจนเกิดอุบัติเหตุในบ้าน

“ตอนสามีที่ยังมีชีวิต เราอยู่ตรงพระประแดง สำโรงใต้ พอเขาเสีย ยายก็อยู่กับลูกสาวที่บ้านสามีของเขา” คุณยายเล่าด้วยเสียงอ่อนหวาน เนิบช้า เอามือวางไว้บนกระเป๋าถือ “แต่ทีนี้ พ่อแม่สามีเขาก็ไม่สบายใจ เพราะถ้าแม่ไปอยู่แล้วก็อาจมีปัญหาหนักใจเกิดขึ้น เราไม่อยากให้ลูกคิดมาก สองปีที่แล้วยายหกล้มก้นกระแทกในแฟลต กระดูกทรุดสองข้อ แขนก็หัก โทรบอกลูกสาวก่อนที่จะหมดสติไป ตอนจะออกโรงพยาบาล หมอก็เขียนหนังสือส่งตัวมาบ้านบางแค”

และเธอก็พบว่านี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดที่เธอจะมีได้

คนเก่าแก่ในโลกสมัยใหม่

ชีวิตของคุณยายนงลักษณ์ ยงศ์ธีระพันธ์ วัย 75 ปีนั้นต่างออกไป เธอเป็นอดีตพนักงานบัญชีของยูเอสอาร์มีและเลขาฯ บริษัทเอกชน มีลูกๆ ที่มีหน้าที่การงานดี ครอบครัวพร้อมจะดูแลสนับสนุนด้านการเงิน แต่เธอก็พบว่าการมาอยู่ในสถานดูแลคนชราเป็นหนึ่งใน “ทางเลือก” ที่ไม่ได้น่าชังแต่อย่างใด เธอกับสามีจึงลงชื่อจองคิวเข้ามาแต่เนิ่นๆ เพราะใช้เวลาต่อคิวถึง 8 ปีจึงได้เข้ามาอาศัยอยู่แบบหอพัก ซึ่งเป็นแบบเสียค่าบริการรายเดือน

นงลักษณ์
คุณยายนงลักษณ์ ยงศ์ธีระพันธ์

“มีลูกหลานดูแลค่ะ เราเองก็ไม่เคยคิดว่าต้องพึ่งลูกเลย เราเก็บไว้ก้อนหนึ่งไว้พึ่งตัวเอง ” เธอพยักหน้าหนักแน่น สายตาอ่อนโยนมองผ่านแว่นมา “แต่ว่าเขาต้องมีภาระทำมาหากิน การเงินดีไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าเขาไม่มีเวลาให้เรา ตีห้ายังไม่สว่างก็ต้องไปทำงานแล้วค่ะ เพราะว่าสังคมสมัยนี้ รถมันติด กลับมาก็สี่ทุ่ม ตอนหลังเขาก็ไปซื้อคอนโดอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน เราก็อยู่ที่บ้าน”

เธอถือสมาร์ตโฟนในมือ บอกว่าลูกๆ ยังคอยมาเยี่ยมเยียนเสมอ และสอนเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เธอ เพียงแค่คลิก เธอก็ได้รับรู้โลกรอบตัวผ่านทางเว็บไซต์ แชทไลน์ หรือยูทูป

“ตอนแรกไม่กล้าสมัคร ลังเล อีกอย่างหนึ่งคือทำใจไม่ได้ กลัวคนเขาว่าเอา เพราะว่าพี่น้องผู้ชายเราคนหนึ่งกว้างขวาง เขาอายเพื่อน”

เธอเสมองไปทางอื่นชั่วครู่ ก่อนพูดต่อว่า “แต่เราคิดว่าไม่ต้องไปยุ่ง ชีวิตเรา เราคิดว่าอยู่แบบนี้สะดวกกว่า ถ้าเราอยู่บ้าน ตายายสองคน ต้องไปตลาด หุงหาอาหารเอง สักวันนึงถ้าเราเดินไม่ได้ ขึ้นรถเมล์ไม่สะดวก เราจะทำยังไง มาอยู่ที่นี่มีให้กินสามมื้อ แล้วอยู่บ้านบางทีก็ไม่ปลอดภัยนะ เกิดเจ็บป่วยขึ้นมา สมัยนี้มันไม่เหมือนพวกชุมชนเมื่อก่อนที่ช่วยเหลือกัน อยู่แบบนี้ต่างคนต่างอยู่”

เธอเล่าว่าสามีของเธอสุขภาพไม่ดีแล้ว ต้องอยู่ติดเตียง หากหมดห่วง เธอเองก็คงกลับไปอยู่กับลูกเพื่อเรียกความอบอุ่นในครอบครัวให้คืนมาอีกครั้ง

เพราะนั่นเป็นทางเลือกที่เธอเลือกได้เสมอเช่นกัน

แต่ดูเหมือนโชคชะตาของคุณยายนงลักษณ์จะต่างจากคนส่วนใหญ่ที่นี่

คุณสุนีย์ ไต่ถาม เจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุบ้านบางแค กล่าวว่าในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนมีผู้สูงอายุจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่เมื่อเข้ามาอยู่ที่นี่แล้วจะมีลูกหลานมารับกลับไป อาจพูดได้ว่ามีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

พี่เลี้ยงบางคนกล่าวเตือน “อย่าถามถึงลูกหลานให้พวกเขาได้ยิน”

 

ความชรายกระดับ

บรรยากาศเงียบเหงาดูเหมือนจะเหลืออยู่เพียงที่หอผู้ป่วยความจำเสื่อม อาการที่คนชราหลายคนต้องทนทุกข์

แต่สำหรับอาคารอื่นๆ แสงสว่างส่องทั่วถึง มีเสียงหัวเราะร่าออกมาจากปากที่เหลือฟันไม่กี่ซี่ เสียงคุณยายเล่นมุกกันสนุกสนานที่ระเบียงเรือนนอน

“คุณยายอายุเท่าไหร่คะ” พี่เลี้ยงแกล้งถามคุณยายที่ใช้ไม้เท้าช่วยเดินซึ่งห้อยถุงพลาสติกใส่ของ ก้าวไปข้างหน้าทีละคืบ ริ้วรอยนับไม่ถ้วนฝังลึกในใบหน้ากร้านแดดลม จนใครบางคนอาจเกิดเวทนา

“สิบแปด” คุณยายตอบหน้านิ่ง ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่ดึงริมฝีปากโชว์ฝันหลอ คลอเสียงหัวเราะแห้งๆ

“ยายเพิ่งไปหาหมอมา ให้เขาดึงนิ้วเท้าที่ติดเชื้อออก ยายนี่โงหัวขึ้นมอง เขาเด็ดออกไปอย่างนี้เลยนะ” คุณยายทำท่าประกอบ ดูราวกับลืมไปว่าสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้นคืออวัยวะของตัวเอง

บ้านบางแคไม่ได้เศร้าอย่างที่ใครหลายคนคิด พวกเขาตื่นมาทำกิจกรรม เช่น ทำอาหาร งานประดิษฐ์ ฟังบรรยายวิชาที่ช่วยเหลือการใช้ชีวิต เช่น หัวข้อรู้ทันกลลวงแก๊งมิจฉาชีพ

Hed 2

“เหมือนกลับไปเป็นนักเรียนโข่ง” คุณยายทองคำหัวเราะ

“ถามว่าเคยทะเลาะกันไหม ก็มีบ้าง แต่ไม่มากมาย อยู่ที่ไหนก็ต้องมี เหมือนนักเรียนอนุบาล ถ้าอยากอยู่แบบไม่ยุ่งยาก ก็ทำงาน เช้าไปเย็นกลับห้อง ไม่มีปัญหา ถ้าเราสุงสิงกันมากๆ ก็ไม่ดี”

“มาจากร้อยพ่อพันแม่นะ เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย ที่นี่มีตั้งแต่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไปจนถึงครูบาอาจารย์ระดับสูง เป็นถึง ผ.อ. ก็มี เพราะฉะนั้นการเข้ากันได้ก็อาจจะยากหน่อย เราก็พยายามปรับตัว” คุณยายนงลักษณ์เสริม

แม้การอยู่ที่บ้านบางแคดูจะเป็นตัวเลือกของชีวิตดีๆ ในวัยเกษียณ แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของมูลนิธิบ้านบางแคซึ่งมุ่งเน้นดูแลผู้สูงอายุที่เดือดร้อนเป็นหลัก

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในอนาคต จำนวนผู้สูงอายุผู้เดือดร้อนทั้งจากปัญหาด้านการเงินและการขาดไร้คนอุปการะมีแนวโน้มจะพุ่งจำนวนสูงขึ้นอย่างมาก

จากงานวิจัย “การสังเคราะห์งานวิจัยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในมิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเงินของประชากร” โดยจิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์และคณะ ทำให้เห็นภาพอนาคตว่า โครงสร้างครัวเรือนที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้คนรุ่นที่ 3 (ราวๆ ปี 2565) มีภาระต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุรุ่นทวดและปู่ย่าตายายหลายคนต่อเด็กที่เกิดใหม่หนึ่งคน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุในปัจจุบันถึงร้อยละ 36 มีแหล่งรายได้หลักจากบุตร และหลายคนยังมีปัญหาเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ

16734834_1242911615791437_1779751734_o

ลองนึกภาพสัดส่วนของกำลังแรงกายและรายได้ของคนคนหนึ่งที่ต้องกระจายออกไปให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้สูงวัยที่ยังมีชีวิตอยู่

ไม่น่าจะพอ

กระทั่งสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เราต่างเบือนหน้าหนีในวันนี้ก็อาจกลายเป็นสถานที่ที่คนชราต้องกระเสือกกระสนรอเวลาที่จะได้เข้าไป เพื่ออย่างน้อยจะได้มีใครสักคนคอยดูแล

“คนในนี้มันเยอะมากแล้ว เข้ามาก็ไม่ได้เพราะมันเต็ม” คุณยายทองคำเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

บ้านบางแคจึงต้องมีบริการชุมชน ออกไปดูแลผู้สูงอายุในเขตใกล้เคียง เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งทุกคนได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่อันจำกัดแห่งนี้

 

บ้านหลังสุดท้าย

แม้ในขณะที่เขามีอายุ 100 ปี คุณปู่ของผมก็ยืนกรานที่จะขี่ม้าตรวจตราไร่ต่อไป

ถ้าเขาอาศัยอยู่ในโลกตะวันตก เรื่องนี้ดูเหมือนเรื่องไร้สาระ … ถ้าเขายืนกรานที่จะทำมันต่อไปแล้วตกจากหลังม้า และถูกหามไปที่ห้องฉุกเฉินเพราะสะโพกหัก โรงพยาบาลจะไม่ปล่อยให้เขากลับบ้าน พวกเขาจะยืนกรานว่าเค้าต้องไปอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ แต่ในโลกยุคก่อนสมัยใหม่ของคุณปู่ เขาต้องการมีชีวิตในแบบที่เขาเลือก และบทบาทของครอบครัวก็คือการทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้

 

เช่นเดียวกับนวนิยายเรื่อง เวลา อาทูล กาวานดี เขียนในหนังสือ Being Mortal ว่าสถานดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งเป็นสถานที่แห่งความสิ้นหวัง ไม่ได้เป็นเพราะว่าคุณภาพชีวิตข้างในย่ำแย่ ไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารคุณภาพต่ำ ฯลฯ แต่เป็นเพราะมนุษย์วัยชราก็ต้องการเลือกชีวิตในแบบที่ตัวเองเห็นว่ามีคุณค่า โดยเฉพาะเมื่อเหลือเวลาอีกไม่มาก และสถานที่เหล่านี้ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขา

ในประเทศพัฒนาแล้ว การดูแลประชากรผู้สูงอายุนั้นเริ่มมองไกลไปถึงขั้นที่ว่าอยู่อย่างไรให้กายและใจสมบูรณ์ หรือถ้าร่างกายนั้นพังเกินแก้แล้ว ทำอย่างไรให้จิตใจยังแข็งแรงและจากไปอย่างสงบ

อาจจะยังเป็นเป้าหมายที่ข้ามไปอีกขั้นสำหรับปัญหาประชากรสูงวัยในประเทศเรา (ซึ่งอาจหมายถึงตัวเราเองนี่แหละในอนาคต) เพราะเรื่องน่าหวั่นกลัวในวันนี้ อาจไม่ใช่ภาพของการถูกคุมขังให้ไร้อิสรภาพ

แต่เพราะความกลัวว่าในวันนั้น จะไม่มีที่ไหนพร้อมรับเราเข้าไป เพื่ออย่างน้อยเราจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นบ้าน

Hed 3


[1] สรุปผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2558. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์