ปัญหาเรื่องการศึกษาของไทย เป็นเรื่องที่หลายคนรู้เช่นเห็นชาติอยู่เต็มอก (หรือสำหรับบางคนอาจถึงขั้นเต็มกลืน) แต่เมื่อผลการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ที่มีประเทศร่วมโครงการนี้มากกว่า 70 ประเทศออกมา ก็ยิ่งตอกและย้ำให้เห็นปัญหาว่า การศึกษาบ้านเรานั้นมัน ‘ไม่เวิร์ก’
เพราะจากการประเมินการรู้เรื่องใน 3 ด้าน คือ การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) โดยสุ่มตัวอย่างจากนักเรียนอายุ 15 ปีจากโรงเรียนทุกสังกัด พบว่า ไทยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 3 ด้าน มีอันดับอยู่ที่ 57, 54 และ 54 ตามลำดับ จากทั้งหมด 70 ประเทศ
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์คว้าอันดับ 1 ทุกด้าน หรือแม้แต่เวียดนามที่เป็นคู่แข่งด้านเศรษฐกิจ ก็มีอันดับที่ดีกว่าประเทศไทยทุกด้าน (อันดับที่ 32, 22, 8 ตามลำดับ)
“สิงคโปร์ไม่เพียงแค่ทำได้ดีในด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังแซงหน้าประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ” แอนเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒน าหรือ OECD ที่ริเริ่มโครงการ PISA กล่าว
ในวันที่สิงคโปร์ทิ้งห่างไปไกล ในวันที่เวียดนามกำลังเดินนำหน้าไปเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยที่ดูเหมือนจะติดหล่มแผนการปฏิรูปการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นผลให้ไม่ใช่แค่เดินช้า แต่บางคราวกลับเดินถอยหลัง
สิงคโปร์สร้างระบบการศึกษาให้มีคุณภาพในระดับโลกได้อย่างไร เวียดนามพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นด้วยวิธีไหน แล้วอะไรคือปัญหาของไทยที่ทำให้การศึกษาบ้านเราอยู่กับที่
The Momentum ขอชวนหาคำตอบจากกรณีศึกษาและข้อมูลการพัฒนาการศึกษาของสิงคโปร์และเวียดนาม
ก่อนจะย้อนกลับมามองปัญหาการศึกษาในเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข หากยังเชื่อว่าการศึกษาช่วยสร้างคนและสร้างชาติ
สิงคโปร์โมเดล จากวิกฤตสู่การพัฒนาชาติด้วยการศึกษา
หากมองว่าประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต สิงคโปร์คือตัวอย่างหนึ่งที่ใช้วิกฤตของประเทศเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างจริงจัง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1963 แต่เอกราชนั้นไม่หอมหวาน เพราะการถอนตัวของอังกฤษหมายถึงการถอนตัวของทุนและบุคลากรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์โดยตรง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นเมืองท่าที่พึ่งพาพาณิชย์นาวีมากเกินไป
เกาะเล็กๆ ที่มีทรัพยากรจำกัด ที่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว จึงเลือกรวมประเทศกับมาเลเซีย แต่การรวมประเทศได้นำมาซึ่งปัญหาการเมืองและการเหยียดชนชาติ ผู้มาทีหลังจากเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีแต้มต่อทางทรัพยากร จึงขอประกาศแยกตัวจากมาเลเซียในปี 1965
ลีกวนยู ผู้นำพรรคกิจสังคมที่ประกาศแยกสิงคโปร์ออกจากมาเลเซีย เล็งเห็นว่า ทรัพยากรอย่างเดียวที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีคือ ‘มนุษย์’ และการจะพัฒนามนุษย์ได้มีเพียงแค่ระบบการศึกษาเท่านั้น
ช่วงปีแรกหลังแยกตัวจากมาเลเซีย 59% ของงบประมาณประจำปีของสิงคโปร์ถูกใช้จ่ายไปกับการศึกษาชั้นประถม, 27% ใช้กับการศึกษาชั้นมัธยม และ 14% สำหรับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
ภาษาอังกฤษถูกเลือกใช้เป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน (แม้จะมี ‘ภาษามาเลย์’ เป็นภาษาประจำชาติ) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจสิงคโปร์เข้ากับเศรษฐกิจโลก และเชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ
ในยุค 80s สิงคโปร์ที่พึ่งพิงการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยใช้แรงงานราคาถูกในประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เริ่มหมดมนต์ขลัง เพราะประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเริ่มใช้วิธีการเดียวกัน สิงคโปร์ตระหนักถึงความจริงนั้น จึงปฏิรูปการศึกษาในปี 1979 ให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นพัฒนาคุณภาพและทักษะของปัจเจกบุคคล
แต่หลังการพัฒนากว่า 2 ทศวรรษ หนทางนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อผู้วางนโยบายการศึกษาสิงคโปร์เริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากนโยบาย จากการวางแผนการศึกษาที่ทำโดยการสั่งจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง โดยไม่ปรึกษาหรือฟังเสียงครู ส่งผลให้การศึกษาของสิงคโปร์ขาดอิสระ และความคิดสร้างสรรค์ ครูและนักเรียนกลายเป็นเพียงเครื่องจักรภายใต้กลไกของภาครัฐ มีหน้าที่เพียงสอนและเรียนตามหลักสูตรที่ถูกกำหนดมาเท่านั้น
ปี 1997 สิงคโปร์ที่ต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรอีกครั้ง โดยเน้นย้ำไปที่การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล และความคิดสร้างสรรค์ ด้วยรูปแบบการจัดจำแนกนักเรียนตามความรู้ความสามารถอย่างละเอียด ในชั้นระดับมัธยมมีการแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 สาย เพื่อคัดแยกนักเรียนตามคะแนนสอบส่วนกลาง (PSLE) ที่จัดสอบหลังเรียนจบชั้น ป.6 คือ 1. เร่งรัด (Express) 2. พิเศษ (Special) 3. สามัญ (Normal Academic) และ 4. อาชีวะ (Normal Technical) ซึ่งในระบบการเรียนขั้นอุดมศึกษา ก็มีการใช้ระบบการคัดแยกเช่นเดียวกัน
สิงคโปร์สร้างบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ด้วยการทุ่มเงินและสวัสดิการ เพื่อดึงดูดและรักษาคนเก่งให้มาเป็นครูและอาจารย์ ด้วยการให้เงินเดือนแรกเริ่มในระดับเดียวกับทนาย วิศวกร และแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนให้ครูอาจารย์ลาไปศึกษาเพิ่มเติมได้ (Sabbatical Leave)
ขณะเดียวกัน ก็มีการอุดหนุนให้คนที่เรียนต่อด้านอาชีวะ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้คะแนนสอบน้อยที่สุดในระบบ ด้วยการพัฒนาสถาบันอาชีวะให้ทันสมัยทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ และส่งเสริมให้มีโครงการฝึกงานกับบริษัทต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ระดับเงินเดือนเฉลี่ยแรกเริ่มของนักศึกษาสายอาชีวะเพิ่มขึ้นจาก 700 เหรียญสิงคโปร์ในปี 1994 สู่ 1,200 เหรียญสิงคโปร์ในปี 2005
ในบทนำของรายงานเรื่องพัฒนาการการศึกษาสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 1965 (The Development of Education in Singapore since 1965) ที่จัดทำขึ้นสำหรับผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเดินทางมาดูงานด้านการศึกษาที่สิงคโปร์ระบุว่า การศึกษาของสิงคโปร์ในช่วงทศวรรษ 1960 แทบไม่ต่างจากชาติต่างๆ ในทวีปแอฟริกา
แต่หลังจากนั้น 50 กว่าปีต่อมา คงไม่มีใครคาดคิดว่า ประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ที่เป็นด่านอาณานิคมที่ด้อยพัฒนาอย่างสิงคโปร์ จะพัฒนาระบบการศึกษาและสร้างชาติขึ้นมาจนเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนและอันดับต้นๆ ของโลก
ทำไมการศึกษาเวียดนามถึงแซงหน้าไทย
จากข้อมูลในบทความ ‘การศึกษาเวียดนาม: ทำไมนักเรียนจึงมีผลการประเมินสูง’ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ PISA THAILAND ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระบุว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีผลคะแนน PISA ด้านการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (เมื่อปี 2012) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำในระดับใกล้เคียงกันอย่างเห็นได้ชัด (หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย)
ก่อนจะตั้งคำถามว่า อะไรทำให้ระบบโรงเรียนของเวียดนามประสบความสำเร็จ?
ซึ่งคำตอบของคำถามข้างต้น เกิดจากปัจจัยต่างๆ อาทิ
ความแตกต่างทางวัฒนธรรม: ความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูก
ครูเวียดนาม: ความเป็นครูที่เคร่งครัด ครูทำงานหนัก รับผิดชอบงานสอนเป็นสำคัญ และได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากครูใหญ่และองค์กรอื่น รายงานจากโครงงานวิจัย The Young Lives บอกว่า ครูเวียดนามมีความสามารถ มีวินัยสูงมาก และไม่ปรากฏเรื่องครูขาดสอนเลย
นักเรียนเวียดนาม: วัฒนธรรมความขยันเป็นพื้นฐานของคนเวียดนาม จึงเป็นกรอบให้นักเรียนขยัน ทุ่มเทกับการเรียนอย่างจริงจัง และเห็นว่าความสำเร็จทางการศึกษาของแต่ละคนคือสิ่งสำคัญมากในชีวิต นักเรียนเวียดนามมีวินัยสูง มาโรงเรียนสาย ขาดเรียน หรือหนีเรียนบางชั่วโมงของเวียดนามมีน้อยกว่าประเทศไทย (เวียดนามมีนักเรียนเคยหนีเรียน 9% เทียบกับนักเรียนไทย 18% ที่เคยหนีเรียน)
พ่อแม่: แม้ว่าพ่อแม่ของนักเรียนเวียดนามจะมีการศึกษาไม่สูงมาก แต่มีความคาดหวังสูงในด้านการศึกษา และมีส่วนร่วมในชีวิตทางการศึกษาของลูกหลาน คือ ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครู และมีส่วนช่วยงานของโรงเรียน เช่น ช่วยในการระดมทุนเพื่อให้โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้โรงเรียน
การลงทุนทางการศึกษา: เวียดนามมีการลงทุนทางการศึกษาในอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่า GDP และถึงแม้จะมีโรงเรียนในชนบทหรือเมืองเล็กไม่มาก แต่ก็เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรการเรียน และอาจมีคอมพิวเตอร์ไม่มากเมื่อเทียบกับไทย แต่คอมพิวเตอร์ก็เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกือบครบ
ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความข้างต้น ผู้เขียนได้ทิ้งประเด็นไว้อย่างชวนคิดว่า
เวียดนามกำหนดเป้าหมายที่จะทำประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานภูมิภาคและมาตรฐานสากล (World Bank, 2016) จึงเริ่มต้นโดยการทำโรงเรียนให้เข้าสู่มาตรฐาน แม้โรงเรียนในชนบทก็ได้รับการดูแลให้ถึงมาตรฐาน ไทยเราเองก็ควรกลับมาดูแลมาตรฐานโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชนบทที่ยากจนบ้าง มิฉะนั้นก็จะล้าหลังเวียดนามต่อไป…
ปัญหาการศึกษาไทยโดยสังเขป
ในรายงาน ‘PISA ที่ผ่านมาบอกอะไรให้เราทราบบ้าง’ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ PISA THAILAND ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระบุผลการประเมินเมื่อปี 2555 ว่า การศึกษาไทยในเขตเมืองและชนบทมีความเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างสูงในเรื่องคุณภาพ
ระบบโรงเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อดูผลการประเมินของนักเรียนในเขตกรุงเทพฯ จะพบว่าการกระจายของคะแนน PISA เกือบจะไม่มีความแตกต่างจากนักเรียนในสหรัฐอเมริกา แต่นั่นไม่ใช่นักเรียนจากทั่วประเทศ เพราะนักเรียนที่อื่นๆ นอกกรุงเทพฯ นั้น ยังมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่ามาก เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าการศึกษาของระบบโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ เป็นตัวแบบ (Model) ที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่การจัดตัวแบบเช่นนั้นไม่กระจายไปทั่วประเทศแต่กลับกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น ถ้าระบบโรงเรียนไทยสามารถกระจายตัวแบบการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพทั่วถึงทั้งประเทศ คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะสามารถยกระดับสูงขึ้นได้
จากรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ในการปฏิรูปการศึกษาไม่มีกระสุนนัดเดียวยิงแล้วจอด ดังนั้น การเปลี่ยนหลักสูตรอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบ
ในระบบโรงเรียนของไทย เมื่อพบว่าคุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปตามที่หวัง หลักสูตรมักจะเป็นจำเลยที่หนึ่ง และการตอบสนองก็มักจะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนหลักสูตรเป็นอันดับแรก และที่สำคัญคือการเปลี่ยนหลักสูตรที่เกิดขึ้นในอดีตคือการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระ และการเปลี่ยนหนังสือเรียน โดยองค์ประกอบอื่นๆ ยังคงเดิม และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน โดยไม่คำนึงว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลก
และในรายงานมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรอย่างกะทันหันของไทยให้ผลร้ายมากกว่าผลดี
เพราะเมื่อมีการเก็บข้อมูลหลังปฏิรูปหลักสูตรครบ 3 ปี (PISA 2546) พบว่า คะแนนหล่นลงมาอย่างน่าตกใจ และเก็บข้อมูลอีกครั้งในอีก 3 ปีถัดมา (PISA 2549) คะแนนก็มีแนวโน้มตกลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มคงที่ หรือกระเตื้องขึ้นในอีก 3 ปีต่อมา (PISA 2552) และแนวโน้มเริ่มดีขึ้นชัดเจนในอีก 3 ปีให้หลัง (PISA 2555) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องใช้เวลามากกว่าสิบปี ระบบจึงสามารถปรับตัวเข้าสู่เส้นทางปกติ
ครูและนักเรียนกับการศึกษาไทยในนิยามใหม่
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ นักวิจัยด้านการศึกษา จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้พูดถึงความหมายของครูและนักเรียนไว้ในหนังสือ ผลึกความรู้: ชุดงานวิจัยฉบับเคี้ยวง่าย Re-Learning จากเรียนรู้สู่เรียนคิด ว่า ปัญหาการสอนสมัยใหม่ของการศึกษาไทยที่พยายามเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางนั้น แม้เป็นเรื่องดี แต่มีปัญหา เพราะครูไม่รู้วิธีสอน
“ครูไม่รู้ว่าการสอนแบบเอาเด็กเป็นศูนย์กลางเป็นอย่างไร โรงเรียนจึงปล่อยให้เด็กเรียนเอง เพราะครูไม่รู้”
โดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ได้นิยามวิธีการสอนของครูและวิธีการเรียนรู้ในสมัยใหม่ว่า ครูต้องเป็นผู้ถาม มิใช่ผู้บอกสอน
“ครูต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ถาม อย่างผมตั้งคำถามว่า อะไรทำให้น้ำแข็งละลาย เมื่อคุณตอบไม่ได้ผมก็ถามใหม่ เอาน้ำแข็งไปตั้งไฟมันละลายเร็วไหม เพื่อให้คุณตอบให้ได้ว่ามาจากความร้อน เมื่อคุณรู้ว่าความร้อนทำให้น้ำแข็งละลาย ผมก็ถามต่อว่า ความร้อนมาจากไหน คุณก็จะเห็นว่าความร้อนมาจากข้างนอกที่มันเข้ามา ถ้าผมถามต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวคุณก็จะรู้ว่าความร้อนมาจากยา โดยการตั้งคำถามว่า ถ้าเราต้องการให้ยาเย็นลงจากเดิมที่อุณหภูมิ 30 องศา เราทำให้มันเย็นได้ยังไง เดี๋ยวคุณก็จะตอบว่ามันสูญเสียความร้อน แล้วความร้อนที่ทำให้น้ำแข็งละลายมายังไง ผมก็จะถามไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณรู้เอง นี่คือกระบวนการสอนด้วยถาม ครูต้องเปลี่ยนบทบาท ไม่ใช่ผู้บอกอีกต่อไป
“การถามคือการสอนของครู ครูต้องเข้าใจวิธีการต้อนความคิดของเด็ก
“ครูต้องรู้ 3 อย่าง หนึ่ง-รู้ความรู้สุดท้ายที่ต้องการให้เด็กไปถึง สอง-รู้เส้นทางการเดินของความคิด สาม-รู้ความคิดของเด็กขณะนั้นว่าเขารู้อะไร ไม่รู้อะไร ต้องตั้งคำถามใหม่ ต้อนไปเรื่อยๆ
“นี่คือทักษะการถามคือสอน ซึ่งครูทำไม่ได้โดยง่าย เพราะครูเป็นผู้ไปท่องความรู้เพื่อมาบอกเด็ก แล้วเด็กก็จะไม่ชอบตอบ เพราะบรรยากาศไม่เอื้อ แต่ถ้าหากถามต้อนแบบนี้เด็กสนุกจะตาย”
จากคำกล่าวของ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยด้านการศึกษาไทยอีกหลายคนที่ทุ่มเทศึกษาพยายามหาทางออกให้เขาวงกตปัญหาการศึกษาไทยข้างต้น ที่มีข้อมูล ข้อเสนอแนะในมือมากมาย แต่คำถามคือ ทำไมการศึกษาไทยถึงยังเดินไม่ไปไหน
เราพบบางคำตอบของคำถามนี้ในเนื้อความบางส่วนที่อยู่ในรายงานที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ PISA THAILAND
ระบบโรงเรียนไทยไม่สามารถแข่งขันกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ประเทศที่เคยล้าหลังไทยก็กลับแซงไปข้างหน้า แล้วประเทศไทยจะแข่งขันได้อย่างไร แม้ในอาเซียนด้วยกัน ถ้าไทยยังไม่รีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการยกระดับนั้นมีข้อมูลที่ชี้บอกถึงจุดอ่อนของระบบของชาติ และจุดแข็งของระบบอื่นๆ ที่พอจะใช้ประโยชน์ได้ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ข้อมูลและสาระดีๆ เหล่านั้นไม่เคยถูกใช้ เพราะระบบไทยมักตัดสินอยู่บนฐานความคิดเห็นและความพอใจมากกว่าบนฐานของข้อมูล
ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ PISA THAILAND
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ THE MOMEMTUM เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ในชื่อ ทำไมการศึกษาเวียดนามถึงแซงหน้าไทย และเหตุใดสิงคโปร์ถึงมีการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก