รายงานสกว.: การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านนโยบาย ชุมชน และพื้นที่

ด้านนโยบาย

พัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตร

 

ภาคการเกษตรเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของไทย แต่ยังมีปัญหาในด้านประสิทธิภาพการจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการปฏิบัติในการจัดการผลิตรูปแบบเดิม ส่งผลให้ผลผลิตบางส่วนต้องสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อนถึงมือผู้บริโภค รวมทั้งยังทำให้เกิดต้นทุนโดยรวมที่สูงเกินความจำเป็นทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้ โครงการวิจัยได้พัฒนาและปรับปรุงดัชนีตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตรเป้าหมาย และพัฒนาฐานข้อมูลระบบการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตร และเสนอแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ภาคการผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการกำหนดนโยบายทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผลการวิจัยพบว่า ต้นทุนบริหารคลังสินค้าเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดคือร้อยละ 6.40 ต่อยอดขาย รองลงมาคือต้นทุนขนส่ง ร้อยละ 5.88 มูลค่าความเสียหายของสินค้า ร้อยละ 4.78 ต้นทุนการถือครองสินค้า ร้อยละ 1.27 และมูลค่าสินค้าที่ถูกตีกลับ ร้อยละ 0.96 ต่อยอดขายตามลำดับ โดยเกษตรกรยังเป็นผู้รับภาระมากที่สุดในเรื่องต้นทุนขนส่งและมูลค่าความเสียหายของสินค้า ส่วนระยะเวลาในการจัดส่งสินค้านั้นใช้ระยะเวลา 1 – 2 วัน และด้านความน่าเชื่อถือสามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลาคิดเป็นร้อยละ 70.87-100 นอกจากนี้โครงการฯ ได้ศึกษาประเด็นปัญหาที่มีผลต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตร และกำหนดแผนการดำเนินงานหลังจากสิ้นสุดโครงการ เช่น สร้างกลไกดำเนินการในระดับพื้นที่เพื่อขยายผลการใช้งานโดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และกำหนดฐานค่าเป้าหมายตัวชี้วัดประสิทธิภาพ การบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ภาคการเกษตร เป็นต้น

โครงการวิจัยนี้นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้มีการเก็บข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่สามารถนำไปเสนอให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย แนวทาง หรือ แผนการส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานด้านการเกษตรที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และยังสามารถบูรณาการแผนการดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนอื่น เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

 

ด้านชุมชนและพื้นที่

เสริมพลังชุมชนเพื่อสื่อสารภูมิปัญญาและสร้างอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่น จังหวัดเลย

 

ปัจจุบันสถานการณ์ของชุมชนบ้านศรีเจริญ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย มีการส่งเสริมให้ทำธุรกิจภาคชุมชนมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของคนในชุมชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานของชาวบ้านที่มีความถนัดในด้านการผลิตมากกว่าการตลาดและการเป็นนักสื่อสาร จึงทำให้ธุรกิจของชุมชนไม่มีความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์ อีกทั้งไม่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น โครงการฯ จึงมุ่งเน้นการเสริมพลังให้แก่ชุมชนด้วยเครื่องมือการสื่อสารและให้ความรู้ด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ดร.ณฐมน บัวพรมมี จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงได้ทำวิจัยโครงการ “การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อการสื่อสารภูมิปัญญาและสร้างอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่น : กรณีศึกษา ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย” เพื่อ (1) เพื่อพัฒนาคนในชุมชนให้เป็น Smart User ที่สามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้ (2) เพื่อรวบรวมภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นของชุมชนให้เป็นระบบ (3) เพื่อค้นหาอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่นของชุมชนและสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ

สำหรับโครงการนี้ฯ ได้ขยายผลจากฐานงานวิจัยเดิมของสกว. ได้แก่ (1) โครงการ “อาหารในภา(สำรับข้าว) เพื่อฟื้นฟูอาหารท้องถิ่นในต้นน้ำคู้” (2) โครงการ “กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อการฟื้นฟูอาหารท้องถิ่นในต้นน้ำคู้” และ (3) โครงการ “การพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาหารท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งผลวิจัยเดิมได้มีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ทางโครงการฯ จึงได้นำองค์ความรู้เหล่านี้มาขยายผลด้วยเครื่องมือการสื่อสารและคืนข้อมูลกลับไปให้ชุมชนอีกครั้ง เพื่อหวังให้ชุมชนเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นและนำมาสู่การพัฒนาเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนต่อไป

ผลการดำเนินงาน ผู้วิจัยได้พัฒนาคนในชุมชนให้เป็น Smart User โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม สร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็น Smart User ในนาม “กลุ่มคว้าเลย” ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของ Smart User ที่เป็นผู้ใหญ่ในการร่วมกันรวบรวมและค้นหาอัตลักษณ์ของอาหารท้องถิ่น โดยโครงการได้เติมความรู้ด้านการสื่อสารและสร้างความเข้าใจในเรื่องการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ กลยุทธ์การเล่าเรื่องราวของตราสินค้า และหลักการทำงานของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งโครงการได้สร้างพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่กลุ่มเยาวชนในด้านการทำธุรกิจชุมชน

อีกทั้งโครงการฯ ยังได้ร่วมกับชุมชนในการสร้างชุดความรู้ “ปฏิทินอาหารท้องถิ่น 12 เดือน” และผลิตเป็นสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่คนในชุมชนสามารถเข้าใจและนำไปใช้ในเชิงธุรกิจของชุมชนได้ ผลงานวิจัยนี้ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญได้นำชุดความรู้และสื่อ “ปฏิทินอาหารท้องถิ่น 12 เดือน” ไปใช้ในการเผยแพร่กับกลุ่มร้านค้าชุมชนและศูนย์เรียนรู้บ้านศรีเจริญเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่สาธารณะ นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นนักสื่อสารยังได้รับเชิญไปเข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวตำบลวังไสย์ ซึ่งดำเนินงานโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) อีกด้วย

 

นวัตกรรมองค์กรกับการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดลำพูน

 

นโยบายพัฒนาด้านการเกษตรช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 – 10 ทำให้เกิดการขยายตัว “การเกษตรแผนใหม่” ภายใต้กลไก “การพัฒนาสมัยใหม่” มุ่งสู่การเพิ่มผลผลิต การจัดตั้งสถานีวิจัย – ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการเกษตร การขยายสถาบันการศึกษาด้านการเกษตรไปสู่ภูมิภาค จากนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในจังหวัดลำพูนที่ได้รับการส่งเสริม/ผลักดันให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นพืชล้มลุกระยะสั้น ได้แก่ กระเทียม หอมแดง กะหล่ำปลีเป็นต้น ผลกระทบของการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนี้ทำให้เกษตรกรประสบกับปัญหาหลายประการ ได้แก่ (1) การเป็นหนี้สิน (ระยะยาว) ทั้งในระบบ นอกระบบ ซึ่งเกิดจากการลงทุนทางด้านเกษตรเชิงเดี่ยว (2) ขาดการต่อรองราคาผลผลิต (3) ขาดความรู้ทางด้านเกษตรที่เหมาะสมกับพืช (4) ขาดทักษะการบริหารจัดการกลุ่มเกษตรอินทรีย์ (5) ขาดการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่

จากปัญหาดังกล่าวจึงมีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มได้ริเริ่มปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ตามลำดับ รวมถึงมีการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่หลายรูปแบบเพื่อจะสร้างความยั่งยืนให้เกษตรอินทรีย์อยู่รอด พร้อมทั้งหาแนวทางในการหนุนเสริมการพัฒนาเครือข่ายและการขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดลำพูนอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำกระบวนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research; CBR) มาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่การสืบค้นของสาเหตุปัญหาอย่างถ่องแท้และเป็นระบบผ่านการปฏิบัติการทดลองวิจัยในการแก้ไขปัญหาร่วมกันของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดลำพูน คือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านธิ อำเภอป่าซาง อำเภอแม่ทา อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง

ผลการวิจัยได้ค้นพบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากเกษตรกรขาดทักษะความรู้ด้านการผลิตตั้งแต่กระบวนการเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมถึงขาดความรู้เรื่องการวิเคราะห์ตลาดและการสร้างเครือข่ายเกษตรกร ทักษะการบริหารจัดการเพื่อสร้างการต่อรองราคา ส่วนกระบวนการความรู้ที่ชุมชนค้นพบจากงานวิจัยในครั้งนี้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาการใช้ความรู้ทำเกษตรจากประสบการณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับความรู้ทางเทคนิควิชาการเกษตร การบริหารจัดการและการใช้ความรู้ทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ใน 3 ระดับ จากเกษตรเคมีปรับเปลี่ยนสู่เกษตรปลอดภัย และปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ รวมถึงได้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการด้วยหลักคุณธรรมฉันท์เครือญาติในลักษณะรูปแบบผสมผสานระหว่างการใช้ความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ผลจากการดำเนินโครงการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและจังหวัด ได้แก่

  • เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ในนาม “เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดลำพูน” ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับห้างหุ้นส่วนจำกัดทองพูนฟูดส์ ประกันราคาและรับซื้อผลผลิต (ลำไย) ราคากิโลกรัมละ 28 บาท จำนวน 42 ตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรอินทรีย์จำนวน 1,200,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นการประกันราคาให้กับเกษตรกรได้ถึง 150 ไร่ต่อปี ทั้งนี้การทำบันทึกข้อตกลงนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2560 ไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด
  • ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผ่านทางสถาบันทิศทางไท จำนวน 600,000 บาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้เกษตรกรได้นำไปใช้พัฒนาปรับปรุงระบบการผลิตของตนเอง มีเกณฑ์ในการใช้เงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม 3 ปีจึงจะคืนให้กับมูลนิธิ
  • สร้างเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่น โดยจัดตั้งเป็น ตลาด “LOVE POON POON หรือ ตลาดรักพูนพูน” โดยจัดเป็นพื้นที่ซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรงทุกวันเสาร์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ต่อปี 2,880,000 บาท ให้กับเกษตรกร (ประเมินรายได้จากการเก็บข้อมูลเกษตรกรที่ขายในตลาดประจำ 10 ราย)
  • จังหวัดลำพูนคัดเลือก “เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดลำพูน” เป็นโมเดลต้นแบบและจัดเป็นแผนการพัฒนาจังหวัดลำพูนตามประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดในยุทธศาสตร์ที่ 3 : ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรสู่เมืองเกษตรปลอดภัย จังหวัดลำพูน ขยายการทำงาน เชื่อมร้อยผู้ประกอบการ จัดทำการตลาดของกลุ่มรูปแบบธุรกิจ Social Enterprise ตลอดทั้งห่วงโซ่ (ครัวเรือน – ชุมชน – เครือข่าย-หน่วยงาน-ผู้ประกอบการเอกชน) ส่งผลผลิตการเกษตร ขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เกิดการแก้ไขปัญหาเกษตรกรขยายฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีและได้ขยายผลเกิดการสร้าง “เกษตรกรรุ่นใหม่” ให้กับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดลำพูน

    หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 138 ปีที่ 23 เดือนมีนาคม-เมษายน 2561 ในชื่อ การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านนโยบาย และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านชุมชนและพื้นที่