รายงานสกว. : ความปลอดภัยอาหาร…มาตรฐานน้ำนมโค

โคนมไทยและอุตสาหกรรมนมโคพัฒนามานานกว่า 50 ปี น้ำนมโคเป็นอาหารที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความปลอดภัยจากสารตกค้างต่าง ๆ มาโดยตลอดจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีประชาชนและเยาวชนไทย และเป็นการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในตลาดอาเซียนและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีน้ำนมบางส่วนจากแหล่งรับซื้อน้ำนมดิบและผลิตภัณฑ์นมในท้องตลาดมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ทั้งยังมีข้อมูลวัตถุดิบต้นทาง คือ น้ำนมโคจากฟาร์มโคนม มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่มีประกาศใช้ ซึ่งปัญหานี้จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภคได้

ดังนั้น รศ.สพ.ญ.ดร.สุณีรัตน์ เอี่ยมละมัย สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์และวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงสนใจทำการวิเคราะห์ระบบบริหารจัดการน้ำนมโค เกณฑ์มาตรฐานประกาศกฎหมายที่มีในปัจจุบันว่ามีข้อด้อยหรือขาดความเชื่อมโยงการนำไปสู่การปฏิบัติใช้ให้ได้น้ำนมคุณภาพดีอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อแนะนำ และแนวปฏิบัติที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ข้อแนะนำเพื่อการเตรียมความพร้อมให้ผู้ผลิตมีความเข้มแข็งในการทำธุรกิจให้ยั่งยืน รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลงานวิจัยที่จะเป็นเครื่องมือให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปบังคับใช้ให้ครอบคลุม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตอาหารปลอดภัยของประเทศไทย เกษตรกรและธุรกิจโคนมมีความเข้มแข็งยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค

โครงการฯ ได้ศึกษาทบทวนสถานการณ์ด้านความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทานนม พบว่าอุตสาหกรรมโคนมไทยมีประสบการณ์ในการผลิตด้วยระบบที่มีคุณภาพ และมีการพัฒนาทั้งองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ได้รับการพัฒนามาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่โดยหน่วยงานภาครัฐ โดยโรงงานแปรรูปและผลิตภัณฑ์นมมีการกำกับดูแลมาตรฐานบังคับตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ในขณะที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและผู้ผลิตมีมาตรฐานการผลิต (ฟาร์มและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ) ใช้มากว่า 10 ปี โดยเบื้องต้นเป็นมาตรฐานสมัครใจ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกฟาร์ม (ปัจจุบันผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มร้อยละ 30) ในขณะที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบได้พัฒนาจากมาตรฐานสมัครใจเป็นมาตรฐานบังคับ (ปัจจุบันผ่านการรับรองมาตรฐานศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบร้อยละ 76) โดยการผลักดันในคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board)

อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลคุณภาพนมตลอดห่วงโซ่ต้องเข้มงวดการกำกับดูแลโดยเฉพาะน้ำนมดิบต้นทางจากฟาร์ม จากข้อมูลคุณภาพน้ำนมดิบที่รายงานโดยกรมปศุสัตว์ พบว่า น้ำนมโคดิบ มีปัญหาคุณภาพด้านจำนวนเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน เต้านมอักเสบค่อนข้างสูง และปริมาณเนื้อนมค่อนข้างต่ำ ผลการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในท้องตลาด พบว่า มีจำนวนสุ่มตรวจในมาตรการเฝ้าระวังค่อนข้างน้อยและไม่มีความสม่ำเสมอ ปัญหาที่พบของผลิตภัณฑ์นมส่วนใหญ่เป็นด้านแบคทีเรียเป็นหลัก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากคุณภาพนมดิบต้นทาง กระบวนการผลิต การเก็บรักษาและการขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ตามกำหนด นอกจากนี้ การตรวจสารปนเปื้อนตกค้างอื่นๆ ยังไม่ได้ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอตลอดห่วงโซ่

การดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้ ได้ข้อเสนอแนะเชิงพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนการผลิตน้ำนมโคคุณภาพดีตลอดห่วงโซ่ คือ การใช้เครื่องมือ (กฎหมาย/มาตรฐาน) ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้การสื่อสารข้อมูลให้ผู้บริโภคมีความรู้ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ผลิตจากนมโคแท้ จะช่วยสนับสนุนความเข้มแข็งและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมนมไทยได้

ข้อค้นพบจากที่เกิดขึ้น นักวิจัยได้ทำการเผยแพร่และนำเสนอต่อฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยอาหารของสินค้านมต่อไป รวมถึงหลายหน่วยงาน ผู้ประกอบการและเกษตรกรเริ่มขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยในน้ำนมมากขึ้น โดยได้ทำการออกประกาศเพิ่มเติมในการควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบต้นทางที่นำเข้ากระบวนการผลิตไม่ควบคุมเฉพาะผลิตภัณฑ์นมปลายทาง การทบทวนปรับปรุงเกณฑ์การให้ราคาน้ำนมดิบที่แตกต่างมากขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตน้ำนมคุณภาพดี การพิจารณาออกประกาศนมคุณภาพสูง การหารือแนวทางปรับปรุงมาตรฐานตลอดห่วงโซ่ในระดับโรงงานแปรรูป ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ฟาร์ม การขนส่ง และห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพน้ำนม การผลักดันการตรวจรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานเอกชนเพื่อให้สามารถดูแลคุณภาพนมตลอดห่วงโซ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลการวิจัยได้ถูกนำไปอ้างอิงในการประชุมปรับยุทธศาสตร์การกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานนมโรงเรียนตลอดห่วงโซ่ ของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลคุณภาพนมโรงเรียน เพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์การกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board)

อ่านงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ ที่นี่

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 124   ปีที่ 21 เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2558 ในชื่อ ‘ความปลอดภัยอาหาร…มาตรฐานน้ำนมโค’