รายงาน: สกว. เสนอ สร้างเด็กเก่งคิดวิเคราะห์และมีจิตสาธารณะ ด้วยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

การสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ หรือที่เราเรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นการสอบที่ใช้วัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กทั่วโลก โดยในเดือนธันวาคม 2559 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้เผยแพร่ผลสอบ PISA ของปี 2558 ซึ่งมีนักเรียนจาก 72 ประเทศและระบบการศึกษาเข้าร่วมสอบ ผลคะแนนปรากฎว่านักเรียนไทยสอบวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ได้ในอันดับที่ 52 54 และ 57 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ระดับการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนไทยมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ลำดับคะแนนของเด็กไทยได้ส่งผลให้สังคมไทยตั้งคำถามถึงคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศ ทางออกของในการปฏิรูประบบเรียนรู้ของประเทศอยู่ตรงไหน?

ในการแถลงข่าว TRF Press Forum เรื่อง “กรณี PISA และทางออกการศึกษาไทย” ของสำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ได้มีการเปิดเผยงานวิจัยของ สกว. เพื่อเสนอคำตอบและทางออกในการยกระดับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กไทย

ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของเด็กไทย

ในงานเริ่มต้นด้วยการนำเสนองานวิจัยเรื่อง “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” (2559) ของ อาจารย์ดวงจันทร์ วรคามิน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกับผลคะแนน PISA  โดยงานวิจัยชี้ว่า จากการให้นักเรียนไทยจำนวน 6,235 คน ทำแบบทดสอบที่ออกโดยนักวิจัย มีเด็กเพียง 2 ใน 100 คนเท่านั้นที่สอบผ่านข้อสอบด้านการวิเคราะห์ด้วยคะแนนเกิน 60 นั้น กล่าวคือ นักเรียนไทยมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ต่ำมาก

ในแง่การมีจิตสาธารณะ งานวิจัยชี้ว่า นักเรียนไทยจำนวน 2 ใน 3 มีจิตสาธารณะในแง่การรับผิดชอบตัวเองและการไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอยู่ในระดับมาก แต่จิตสาธารณะในแง่การริเริ่มหรือการสร้างสรรค์ต่อส่วนรวม ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเคารพสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนความซื่อสัตย์สุจริต นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังมีระดับจิตสาธารณะไม่มากนัก ทั้งนี้ โจทย์สำคัญของสังคมไทยจึงไม่ใช่แค่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไทยเก่งขึ้นเท่านั้น หากต้องสนใจด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไทยมีจิตสาธารณะด้วย ข้อค้นพบจากการศึกษาทำให้เราทราบว่า ทั้งเด็กเก่งและเด็กไม่เก่งต่างก็มีจิตสาธารณะได้ ดังนั้น ควรจะทำการยกระดับจิตสาธารณะในภาพรวม ซึ่งปัจจัยทางด้านครอบครัว เช่น การดูแลเอาใจใส่และสนับสนุนด้านการเรียนรู้ มีส่วนสำคัญในการสร้างจิตสาธารณะและความสามารถในการคิดวิเคราะห์

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา: ตัวอย่างทางออกพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ได้เสนอแนวทางพัฒนาเด็กให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และมีจิตสาธารณะอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ตามแนวทางของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

ที่มา

จุดเริ่มของกระบวนการเรียนรู้แบบโครงการเพาะพันธุ์ปัญญานั้นเริ่มต้นเมื่อปี 2545 สกว. ได้จัดทำโครงการวิจัยแห่งชาติ ชุดยางพารา ขณะนั้น นักวิจัยเรื่องยางพารามีน้อยมาก จึงได้เสนอให้มีการนำเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นนักวิจัยเรื่องยางพารา จนเกิดเป็นโครงการ “ยุววิจัยยางพารา” ในปี 2546 ผลสำเร็จของโครงการคือ นักเรียนมีพัฒนาการมากขึ้นในแง่ของการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การแก้ไขปัญหาร่วมกัน การรับผิดชอบต่อผู้อื่น และภาวะผู้นำ ตลอดจนผลงานวิจัยด้านยางพาราที่นักเรียนทำก็มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้งานต่อได้

หลังจากจบโครงการ “ยุววิจัยยางพารา” โครงการลักษณะนี้ได้กระจายไปทำในทั่วประเทศ โดยเป้าหมายเพื่อการสร้างนักวิจัย และทดสอบการเรียนรู้แบบเน้นฐานการวิจัย (Research-Based Learning: RBL) ผลปรากฏว่าการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กในที่อื่นๆ ได้เช่นกัน ต่อมาในปี 2556 โครงการยุววิจัยยางพาราก็พัฒนามาเป็นโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาในที่สุด โดยมี รศ.ดร.สุธีระ เป็นหัวหน้าโครงการ

การเรียนรู้ตามแบบฉบับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

โครงการเพาะพันธ์ุปัญญาได้เสนอแนวคิดและหลักการปฏิบัติที่หลากหลายเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ยั่งยื่น และเป็นมิตรกับผู้เรียน ดังนี้

1. การเรียนรู้แบบเน้นฐานวิจัย (RBL)

นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะได้ทำโครงงานเกี่ยวกับประเด็นในท้องถิ่น เช่น เรื่องข้าว โดยนักเรียนอาจได้รับโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองของตนมีผลผลิตที่ดี ตลอดการทำโครงงานนักเรียนจะได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นฐานวิจัย โดยนักเรียนจะต้องศึกษาหัวข้อตนเองด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ นักเรียนจะได้ฝึกวิเคราะห์ประเด็นปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งนักเรียนจะต้องแยกองค์ประกอบของประเด็นปัญหาหรือเหตุการณ์เป็นหลายองค์ประกอบย่อย และมองว่าแต่ละองค์ประกอบย่อยนั้นสัมพันธ์กัน โดยวิธีการเชื่อมความสัมพันธ์นักเรียนจะต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลให้ได้ นั่นคือ เหตุนั้นก่อให้เกิดผล และเมื่อมีผลก็ต้องมีเหตุ

วิธีการเรียนรู้แบบฐานวิจัยจะทำให้นักเรียนเข้าใจสภาพปัญหาต่างๆ รอบตัวได้ลึกซึ้งและเป็นระบบมากขึ้น

2. บรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร

ครูในโครงการเพาะพันธ์ปัญญาจะถูกปรับเปลี่ยนจากการเป็น “ผู้ตัดสิน” ที่คอยชี้นิ้วสั่งและใช้อำนาจกับนักเรียนเพื่อให้เชื่อฟังและเรียนตามที่หลักสูตรต้องการ สู่ “ผู้เรียนรู้” พร้อมเรียนรู้ไปกับนักเรียน และยอมรับความแตกต่างและความไม่รู้ของตัวเองและนักเรียน

การสอนลักษณะนี้ ครูจะไม่ได้เริ่มด้วย “การสอนเนื้อหา” ตามหลักสูตร หากเริ่มด้วย “การถาม” นักเรียนเกี่ยวกับสรรพสิ่งรอบตัวและเชื่อมเข้าสู่เนื้อหาในบทเรียนก่อน กระบวนการแบบนี้จะเชื่อว่า “ถามคือสอน” เพราะการถามจะทำให้นักเรียนได้ริเริ่มคิดและวิเคราะห์ โดยครูจะใช้บทบสนทนาในการแลกเปลี่ยนบทเรียนกับนักเรียน ทั้งนี้ นักเรียนก็สามารถตั้งคำถามกลับไปยังครูหรือเพื่อนๆ ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในกระบวนการทำโครงงานของนักเรียน ครูจะไม่เป็นผู้ตัดสินว่าแนวทางการทำโครงงานของนักเรียนนั้นผิดหรือถูก เพราะไม่เชื่อว่าสิ่งที่นักเรียนกำลังทำอยู่นั้นผิดหรือถูกในตัวมันเอง หากเป็นสิ่งที่ค่อยๆ เรียนรู้ได้ ฉะนั้น ครูจะคอยเป็นผู้ชี้แนวทางในการเรียนรู้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

บทบาทของครูจึงเปรียบเสมือน “โค้ช” ที่นักเรียนรู้สึกสะดวกใจที่จะถามและปรึกษาครูอยู่ตลอด

3. การเรียนแบบร่วมมือมากกว่าแข่งขัน

การเรียนแบบเพาะพันธ์ปัญญาจะเน้นการทำโครงงาน โดยนักเรียนจะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยความสำเร็จของโครงงานนั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคนในกลุ่ม ไม่ใช่จากใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น ในระหว่างการทำงาน นักเรียนจะต้องแบ่งหน้าที่กันทำงาน บางคนเป็นหัวหน้า บางคนเป็นฝ่ายการเงิน หรือบางคนดูแลเรื่องการจัดหาวัสดุ การแบ่งหน้าที่กันทำงานทำให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อให้การทำงานของกลุ่มสำเร็จผล ในบางโอกาสที่การทำงานของกลุ่มเผชิญกับปัญหา นักเรียนก็จะได้ฝึกการวิเคราะห์และแก้ปัญหาร่วมกัน

ในแง่นี้ นอกจากนักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาด้านการมีจิตสาธารณะของตนเองแล้ว ยังจะมีโอกาสได้ฝึกการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริงอีกด้วย

4. การเรียนรู้แบบสะท้อนคิด 

ในระหว่างการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญายังใช้โครงงานฐานวิจัยเป็นแกนการสอน นักเรียนจะมีโอกาสได้สะท้อนคิด (reflection) โดยการทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้รับและเรียนรู้ตลอดกระบวนการเสมอ เช่น การจดบันทึกประจำวัน การเล่นละคร หรือการได้นำเสนอหน้าชั้นเรียน ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการสะท้อนคิดก็คือ นักเรียนได้ทบทวนเกี่ยวกับปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญอย่างลึกซึ้ง จึงทำให้สามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้

นอกจากนี้ การที่นักเรียนได้ทบทวนถึงประสบการณ์ของตนตลอดกระบวนการ จะทำให้เห็นว่าตัวเองนั้นเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ความคิด จิตใจ และอารมณ์ไปอย่างไร และเพราะเหตุใดตัวเองถึงเปลี่ยนแปลงได้ (transformative learning) ผลลัพธ์ของการสะท้อนคิดทำให้นักเรียนได้เห็นถึงศักยภาพเชิงบวกในการเรียนรู้ของตนเอง และรักที่จะเรียนรู้ในระยะยาว

ถึงแม้ว่ากระบวนการเรียนรู้แบบโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะสามารถทำให้นักเรียนเก่งและดีได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นยังอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษาของไทยยังไม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ประกอบกับในระดับโรงเรียน ครูที่เข้าร่วมโครงการต้องอุทิศตนอย่างสูงเพื่อสร้างกระบวนการสอนให้มีคุณภาพ ครูจำนวนมากจึงถอดใจและออกจากโครงการไป ฉะนั้น สกว.จึงเสนอให้ ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล โรงเรียน ครู นักวิชาการ พ่อแม่ และนักเรียน จึงต้องมาร่วมสนับสนุนให้กระบวนการเรียนรู้ลักษณะนี้เกิดขึ้นในวงกว้างอย่างจริงจัง