สัมภาษณ์: สมพงษ์ จิตระดับ “พื้นที่คือคำตอบของการปฏิรูปการศึกษา”

ปัญหาการศึกษาไทยเป็นปัญหาที่รุนแรง ยืดเยื้อ และเรื้อรัง แม้ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ซ้ำร้าย ยิ่งเวลาผ่านไปสถานการณ์ยิ่งแย่ลงในหลายมิติ โดยเฉพาะในมิติของคุณภาพและความเป็นธรรมทางการศึกษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยต้องการแนวคิดและทางเลือกใหม่เพื่อมาตอบโจทย์เก่าโจทย์นี้

แทบทุกครั้งที่ปัญหาการศึกษากลายเป็นประเด็นร้อนในกระแสสื่อ บทสัมภาษณ์และความเห็นของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักจะปรากฏตามมาด้วยทุกครั้ง และด้วยประสบการณ์ในการสอนและทำวิจัยด้านการศึกษามากว่า 30 ปี อาจารย์สมพงษ์จึงเป็นนักวิชาการด้านการศึกษาที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของไทย

ในช่วง 2  ปีที่ผ่านมา อาจารย์สมพงษ์และทีมได้ทำวิจัย “โครงการการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนรู้ชุมชนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากล่างสู่บน” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อมองหาองค์ความรู้ ทางเลือก และเครื่องมือเชิงนโยบายทางการศึกษาใหม่ๆ

เป็นงานวิจัยที่อาจารย์สมพงษ์บอกว่า เป็น “Amazing และ Unseen ของงานวิชาการ” และเป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดในบรรดางานวิจัยที่เคยทำมากว่า 40 – 50 โครงการ

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนอาจารย์สมพงษ์พูดคุยเกี่ยวกับบางส่วนของโครงการวิจัยชุดใหม่นี้เพื่อเปิดให้เห็นความเป็นไปได้ของนโยบายการศึกษาแบบใหม่

 

อาจารย์กำลังทำวิจัยเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการจัดการการเรียนรู้ชุมชน ซึ่งเป็นการกลับไปถอดบทเรียนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจำนวนมาก อาจารย์คาดหวังอะไรจากงานวิจัยชุดนี้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สกว. ให้ทุนวิจัยกับท้องถิ่นและชุมชนลงไปเป็นจำนวนไม่น้อย งานวิจัยชุดนี้ต้องการไปสำรวจดูว่า เงินที่ สกว. ลงทุนไปยังพื้นที่ องค์กร และชุมชนต่างๆ ออกดอกออกผล ช่วยทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ  เราสามารถสร้างองค์ความรู้เพื่อตอบโจทย์ด้านการศึกษาของประเทศได้บ้างไหม

แม้งานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ผมบอกได้เลยว่า องค์ความรู้จากชุมชนของเราสามารถตอบโจทย์ประเทศได้หลายเรื่อง และยังเป็นโจทย์ที่สำคัญๆ ด้วย

 

อะไรคือตัวอย่างรูปธรรมของทางออกที่อาจารย์พูดถึง

ตัวอย่างเช่น โจทย์เรื่อง Smart farmer ผมลงไปศึกษาพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมีทีมคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่พาผมไปพบกับปราชญ์ชาวบ้าน หลังจากลงไปขลุกในพื้นที่ ผมพบว่า ชาวบ้านมีองค์ความรู้ที่เป็นศาสตร์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรที่ช่วยแก้ไขปัญหาการผลิตข้าวในระดับประเทศได้

ที่ผ่านมา เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ลงทุนมากแต่ได้ผลผลิตต่ำ เน้นการใช้ดินใช้ปุ๋ย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมตามมา แต่กลุ่มชาวบ้านที่เราศึกษามองตรงกันข้ามเลย ใช้ภูมิปัญญาคิดหาวิธีที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น การทำข้าวนาโยน ซึ่งวิธีการนี้เป็นทางออกของการทำนาในอนาคตได้เลย คือ คุณไม่ต้องทำนาใหญ่ ไม่ต้องทำผืนใหญ่ แต่สามารถลดต้นทุนได้  ไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องมีกังวลเรื่องหนู เรื่องนก เพียงแค่ดูแลระดับน้ำให้ดี คัดเมล็ดพันธุ์ให้ดีก็จะได้ผลผลิตมากกว่า นอกจากนี้ คุณนึกจะพอใจทำเมื่อไหร่ก็ทำ ไม่ต้องไปนั่งทนแดดสู้ฟ้าหน้าสู้ฝน ตอนที่ผมไปเขายังชวนผมไปโยนข้าวตอนสองทุ่มเลย อันนี้แหละ Smart farmer ที่อยากจะสร้างกัน

ที่สำคัญ กระบวนการส่งผ่านความรู้ไปยังเด็กนักเรียนยังน่าสนใจมาก เวลาสอนทำนา เด็กได้เรียนจากของจริงเลย ถ้าลงพื้นที่คุณจะเห็นเลยว่า เด็กๆ สนุกมากเวลาไปโยนข้าว เขาได้เห็นกระบวนการทุกขั้นตอน ปลูกอย่างไร ดูแลยังไง  การปราบข้าวคืออะไร  ซึ่งทั้งหมดจะช่วยทำให้เด็กเห็นเรื่องคุณค่าของข้าวด้วย

ถ้า สกว. สามารถทำให้องค์ความรู้แบบนี้ถ่ายทอดไปสู่ที่อื่นได้ ทำการประชาสัมพันธ์ให้ดี การทำนาโยนจะเป็นคำตอบสำคัญของประเทศเรื่องการปลูกข้าวในยุคใหม่ได้ อันนี้คือตัวอย่างรูปธรรมของภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

บางคนวิจารณ์ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแค่ความโรแมนติกของนักวิชาการที่ทำงานกับชุมชน พร้อมตั้งข้อสังสัยว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจไม่สามารถเผชิญความท้าทายในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

คุณต้องไปดูกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้าน ภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วลอยมา ปราญชาวบ้านศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต ไปดูงานจากที่ต่างๆ อ่านเพิ่มเติม พูดคุยกับเพื่อนที่คนสนใจด้วยกัน แล้วนำไปทดลองใช้จริงจนเกิดเป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลงไปช่วยด้วย อย่างวิธีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การผสมดิน นักวิชาการเข้าไปช่วยออกแบบให้

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การปรับตัว เราได้เห็นการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นและปราชญ์ในชุมชน เกิดการเชื่อมโยงความรู้ในมหาวิทยาลัยสู่ชาวบ้าน และจากภูมิปัญญาของชาวบ้านสู่มหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ การที่มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏเริ่มลงมาสู่ชุมชนมากขึ้น เป็นการกลับมาสู่ปรัชญาที่แท้จริงของราชภัฏ อาจารย์รุ่นใหม่หลายคนเมื่อก่อนไม่ได้มีความเชื่ออย่างนี้ แต่พอลงไปทำงานจริง เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้น มีความองอาจ และมีความสุขจากการทำงานวิชาการที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางที่ผมยกตัวอย่างก็เขียนงานจนได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น ทำให้ KPI ของมหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับมาก ซึ่งเป็นมิติใหม่ในสถาบันอุดมศึกษา

 

งานวิจัยท้องถิ่นมักจะตั้งโจทย์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง คงไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะสามารถเรียนรู้จากการทำนาโยนได้ อยากให้ยกตัวอย่างรูปธรรมอื่นเพิ่มเติม

มีตัวอย่างโรงเรียนอนุบาลสตูลที่สอนโดยการใช้งานวิจัยกับโครงงานเป็นหลัก กรณีนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดสตูล  ท่านผู้อำนวยการโรงเรียน สุทธิ สายสุนีย์ ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีในการค่อยๆ ปรับครู นักเรียน และผู้ปกครองเข้าสู่ระบบการเรียนรู้แบบนี้

เด็กทุกระดับชั้นจะได้เรียนรู้ผ่านการทำวิจัยและโครงงาน โดยเด็กระดับชั้นหนึ่งจะต้องทำ 1 โครงงาน ด้วยวิธีการแบบนี้เด็กจะต้องช่วยกันคิด ต้องช่วยกันตั้งโจทย์โครงงานจากเรื่องใกล้ตัวที่ตัวเองสนใจ และได้เรียนรู้การหาฉันทมติภายในกลุ่มไปพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น เด็ก ป.1 ต้องการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ เขาก็ทำเรื่องการเลี้ยงปลาหางนกยูง และปลาทอง เด็ก ป.3 – ป.4 โตขึ้นมาหน่อยอยากทำเรื่องการดื่มโค้ก เขาก็ตั้งโจทย์เลยว่า ดื่มโค้กแล้วมีผลต่อร่างกายอย่างไร แล้วก็พ่วงเรื่องการกินขนมกรุบกรอบเข้าไปด้วยเลย พอป.5 – ป.6 ก็ทำเรื่องประหยัดไฟ ทำเรื่องการอนุรักษ์ในจังหวัดสตูล

เวลาเด็กพัฒนาโจทย์แล้วตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะทำเรื่องเหล่านี้ เด็กจะสนใจใคร่รู้ แบ่งงานกันทำ มีการเตรียมตัว เด็กที่ผ่านกระบวนการนี้จะหาข้อมูลเป็น คิดวิเคราะห์เป็น วิพากษ์วิจารณ์เป็น แถมตอบโจทย์เรื่องการลงมือปฏิบัติ การมีสมรรถภาพ การมีทักษะ ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์การศึกษาของประเทศหมดเลย

 

การทำนาโยน การทำโครงงาน และองค์ความรู้อื่นๆ ที่ได้จากการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการการเรียนรู้ชุมชน  เชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบการศึกษาในภาพใหญ่อย่างไร

ระบบการศึกษาปัจจุบันล็อกตัวเด็กให้อยู่แต่ในโรงเรียน อยู่แต่ในห้องเรียน ผมทำเรื่องการศึกษามาหลายสิบปีบอกได้เลยว่า ระบบการศึกษาของไทย แม้กระทั่งในพื้นที่ห่างไกลจากส่วนกลางก็ปิดสนิท ถ้านำเรื่องการทำนามาปรับใช้ ทำไมไม่เปิดโลกสู่ทุ่งนาละ ให้เด็กในพื้นที่ได้เรียนรู้จากชีวิตจริง เปิดโลกการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้  นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเชื่อมโยงความรู้จากท้องถิ่นกับนโยบาย

กรณีโรงเรียนอนุบาลสตูลก็ได้ข้อสรุปคล้ายกัน ถ้าคุณลงไปดูจะเห็นเลยว่า ครูเปลี่ยนวิธีคิดกันหมด มีครูท่านหนึ่งสอนหนังสืออยู่ในโรงเรียนนี้มากว่า 30 ปี กำลังจะเกษียณแล้วเขาบอกเลยว่า เขาเพิ่งได้เป็นครูอย่างมีหลักการและเป็นครูจริงๆ ผ่านวิธีการเรียนสอนแบบนี้ เขาตั้งคำถามว่า  ระบบการศึกษาที่ขังเด็กไว้ในห้องเรียนปีละ 200 วันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ

ไม่ใช่แค่ครูเท่านั้น ระบบการเรียนรู้แบบนี้เปลี่ยนผู้ปกครองด้วย เมื่อพ่อแม่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก เห็นความกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าพูดในที่สาธารณะ เขาก็หันมาสนใจด้วย อย่างโครงการเลี้ยงปลาพ่อแม่ก็เข้ามาช่วยเก็บข้อมูล กลายเป็นการดึงครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมได้เลย

 

ทำไมภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้จากพื้นที่จึงไม่สามารถเป็นทางเลือกเชิงนโยบายได้

ตัวอย่างดีๆ เหล่านี้อยู่ในพื้นที่  มักจำกัดอยู่แค่เฉพาะโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับผู้ปกครองที่ใส่ใจเท่านั้น แต่ขยายผลต่อไม่ได้

ที่ผ่านมา เวลาทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เราไปยึดติดกับรูปแบบของความรู้แบบวิชาการจนทำให้มองไม่เห็นความรู้แบบอื่นๆ พูดตามตรง ขนาด สกว. ที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าหน่วยงานอื่นยังมีจุดอ่อนในเรื่องนี้อยู่มาก สิ่งที่ สกว. มีคือ เครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่น มีพื้นที่ดีๆ มีคนเก่งๆ มีองค์ความรู้จากงานวิจัยในท้องถิ่นมากมาย แต่ปัญหาเกิดขึ้นทันทีเมื่อไปกำหนดให้องค์ความรู้ต้องอยู่ในรูปแบบงานวิจัยมาตรฐานเท่านั้น นึกภาพออกไหมว่า การให้ปราญ์ท้องถิ่นมาเขียนรายงานการวิจัย 5 บท ต้องทำเป็นงานวิชาการ ไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดเลย

ปราชญ์ท้องถิ่นเป็นผู้ให้คำแนะนำ (instructor) องค์ความรู้ของเขามีประโยชน์และมีคุณค่ามาก แต่องค์ความรู้แบบนี้พอไปอยู่อยู่ในรูปของงานวิจัยมาตรฐานที่ส่วนกลางกำหนดแล้วกลับถูกมองข้าม ไม่น่าสนใจ เพราะมีข้อจำกัดในการเขียน ไม่สมบูรณ์ มีรายละเอียดเพียงแค่ 30-40 % เท่านั้น ถ้าส่วนกลางอยากเข้าใจงานต้องลงไปคลุกอยู่ในพื้นที่ ไปสัมภาษณ์ ไปเห็นของจริง จึงจะเข้าใจ

ดังนั้น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือองค์ความรู้ที่มาจากชาวบ้านเลยถูกมองข้ามมาตลอด พอเป็นแบบนี้การผลักดันไปสู่ระดับนโยบายก็ทำได้ยากมาก และแทบเป็นไปไม่ได้

หากต้องการให้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยท้องถิ่นเป็นทางเลือกเชิงนโยบายได้จริง ต้องปฏิรูปอะไร

ต้องหาวิธีที่ทำให้องค์ความรู้จากข้างล่างถูกส่งต่อไปถึงข้างบน คนที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต้องเปลี่ยนวิธีคิด เช่น ถ้า สกว. คิดว่าองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีคุณค่าและเป็นคำตอบก็ต้องใส่ใจอ่านงานอย่างพิถีพิถัน เข้าใจข้อจำกัดในด้านการเขียนงานวิจัยโดยชาวบ้าน ต้องหาคนที่เป็นมืออาชีพด้านการเขียนลงไปในพื้นที่ ไปคลุกคลี ไปคุยกับเขาให้รู้เรื่อง แล้วแปรรูปออกมาใหม่เพื่อให้สังคมมองเห็นทางเลือก

ผมเจอประสบการณ์ที่ดีมาก ตอนที่ไปฟังคุณลุงท่านหนึ่งเล่าเรื่องไส้เดือนดิน เรื่องที่คุณลุงเล่าน่าสนใจและเป็นความรู้ที่มีประโยชน์มาก  แต่ถ้าเขียนในรูปแบบงานวิจัยให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาถูกตีเละแน่นอน ถ้าส่วนกลางต้องการงานที่เป็นองค์ความรู้กลางแบบตะวันตก ต้องเอามืออาชีพมาร่วมเขียน เป็นการเขียนด้วยกันระหว่างคนที่เป็นเจ้าของภูมิปัญหากับคนที่ทักษะการเขียนงานในเชิงความรู้  งานแบบนี้จะเป็นงานที่มีเสน่ห์มาก เพราะจะดำเนินเรื่องราวอย่างสนุกสนาน มีชีวิต จับต้องได้ แล้วก็มีความถูกต้องในแบบฉบับงานวิจัย

ถ้ามัวแต่นั่งอยู่ส่วนกลางอ่านรายงาน สุดท้ายจะจบลงด้วยเอกสารวิจัยชิ้นหนึ่งที่ไม่มีคนอ่าน ไม่มีอำนาจการเปลี่ยนแปลงอะไร องค์กรอย่าง สกว.ต้องกลับมาทบทวนจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองในเรื่องนี้

 

แต่การจะทำแบบนี้ได้ คนที่ทำงานกับพื้นที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและต้องมีทักษะใหม่พอสมควร

ผมพยายามทำตามแนวทางนี้อยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมวิจัยของผมเป็นนักศึกษาปริญญาโท เวลาประชุมกันผมจะบอกทีมเสมอว่า เวลาลงพื้นที่ให้เอาศาสตร์งานวิจัยที่เรียนรู้มาทั้งหมดทิ้งไว้ที่คณะ แล้วลงพื้นที่ไปแบบคนไม่รู้ ฟังให้มาก คิดให้มาก จับประเด็นให้ดี แล้วตั้งคำถาม ที่สำคัญต้องอย่าอวดตัว ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ตระหนักเสมอว่า เราคือคนที่มารับเอาสิ่งดีๆจากชาวบ้าน อันนี้คือหลักเบื้องต้น

นอกจากนี้ ทีมวิจัยต้องอ่านงานวิจัยอย่างละเอียด แม้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะมีข้อจำกัดในการอ่านตามรูปแบบงานวิชาการมาตรฐาน แต่ต้องอ่านทุกเล่มและพยายามทำความเข้าใจให้มากที่สุด ประชุมกันให้ดีว่างานเล่มนี้ แก่นคืออะไร คำถามคืออะไร มีส่วนไหนที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ ต้องการข้อมูลอะไรจากคนในพื้นที่ เตรียมไว้ให้ดี และเตรียมทุกครั้งก่อนลงพื้นที่

เมื่อลงพื้นที่แล้ว ต้องเข้าชุมชนเป็น นักวิจัยส่วนใหญ่เข้าชุมชนไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะทักกับชาวบ้านอย่างไร หรือทำอย่างไรให้ชาวบ้านเขาไว้ใจ หัวใจสำคัญคือ คุณต้องทำให้ชาวบ้านมีความสุขกับการเล่าเรื่องให้ฟัง ต้องไม่เฟค และให้เกียรติชาวบ้านอย่างสูงสุด

 

ปัญหาการศึกษาไทยเป็นปัญหารุนแรง เรื้อรัง และอาจารย์ก็สู้รบกับปัญหานี้มากว่า 30 ปีแล้ว เมื่อทำวิจัยชุดนี้แล้ว อาจารย์พอมองเห็นความหวังอะไรบ้างไหม

ผมควรจะรับโจทย์นี้ตั้งนานแล้ว เพราะสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่อง amazing และ unseen ของงานวิชาการ ตลอดชีวิตผมทำงานวิจัยมา 40-50 โครงการ ไม่คิดว่าโครงการไหนจะดีที่สุดเท่ากับโครงการนี้

ประเทศไทยกำลังหลงทาง อยากปฏิรูปนั่นนี่เต็มไปหมด แต่ไม่รู้ว่าคำตอบอยู่ไหน โครงการวิจัยนี้ทำให้ผมเห็นว่า คำตอบของการปฏิรูปการศึกษาอยู่พื้นที่และการขับเคลื่อนจากล่างสู่บน คนเก่งๆ อยู่ในพื้นที่เต็มไปหมดเลย แล้วเขาสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยตัวเอง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาพื้นที่และชุมชนถูกกระทำอย่างรุนแรง คนถูกลิดรอนเรื่องเสรีภาพ ทรัพยากรถูกส่วนกลางใช้ไปอย่างไม่บันยะบันยัง ถึงเวลาที่คนข้างล่างจะต้องลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง

ส่วนข้างบนขอแค่ 4-5 ปี ที่คุณไม่ต้องมีนโยบายเฮงซวยอะไรลงไปเลย คุณกระจายอำนาจแล้วไว้ใจชาวบ้าน ปล่อยให้เขาจัดการตัวเอง ถ้าเป็นแบบนี้ประเทศไทยจะขึ้นมาแบบงดงามเลย  นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการทำงานวิจัยนี้