รายงาน: แปลงทักษะและสมรรถนะให้เป็นคุณวุฒิการศึกษา

การพัฒนากำลังแรงงานโดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาถือเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ โดยหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้แรงงานสามารถพัฒนาสมรรถนะในการทำงานหรือเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพให้สูงขึ้นได้คือ การเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถนำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์มาใช้เทียบโอนความรู้เป็นหน่วยกิตทางการศึกษาเพื่อใช้ในการศึกษาต่อ

ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งกลุ่มประเทศ Common Wealth ต่างมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่เทียบโอนความรู้จากคุณวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน รวมทั้งมีการสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานอยู่แล้วพัฒนาสมรรถนะในการทำงานหรือเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพให้สูงขึ้นได้

แม้ประเทศไทยจะมองเห็นความสำคัญของระบบการเทียบโอนความรู้จากคุณวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ในการเทียบโอน แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานกลางดังกล่าวกลับยังไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ ปัญหาคอขวดในการออกแบบหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่เทียบโอนความรู้จะมีเหตุมาจากการทำงานแบบแยกส่วนขององค์กรภาครัฐเป็นหลัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขาดความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบนับเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนสำรวจแนวทางในการออกแบบระบบการเทียบโอนความรู้จากคุณวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ทำงาน ผ่านงานวิจัยของ อภิชัย พันธเสน และคณะ (2560) ในโครงการเรื่อง “การพัฒนาระบบคลังหน่วยกิตเพื่อการเทียบโอนความรู้ ทักษะ ไปสู่การยกระดับฝีมือแรงงานตามมาตรฐาน หรือการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

 

กรอบคุณวุฒิและวิชาชีพของไทย: ซ้ำซ้อน หลายมาตรฐาน เทียบโอนไม่ได้

 

ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณวุฒิและวิชาชีพเป็นจำนวนมาก โดยแต่ละหน่วยงานต่างจัดทำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพตามแบบของตน อาทิ

  • สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ (สศช.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการจัดทำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพในระดับชาติ
  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีหน้าที่จัดการการอาชีวศึกษาภาครัฐก็สร้างมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของตนเอง
  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีการตั้งคณะกรรมการที่ดำเนินงานสร้างมาตรฐานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน
  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ
  • กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สังกัดกระทรวงแรงงาน ได้มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน
  • สภาวิชาชีพต่างๆ กำหนดมาตรฐานอาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานต่างมีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาของตนเองในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อน หลายมาตรฐาน ที่สำคัญคือ คุณวุฒิวิชาชีพของแต่ละหน่วยงานทำได้เพียงแค่เทียบเคียงเท่านั้น (มีกรอบคุณวุฒิเฉพาะบางหน่วยงานเท่านั้นที่เทียบเคียงกันได้) แต่ไม่สามารถเทียบโอนได้ ซึ่งทำให้แรงงานไทยต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างน่าเสียดาย

ที่ผ่านมา แม้หน่วยงานเหล่านี้จะมีการปรึกษาหารือกันอยู่เป็นประจำ จนได้ข้อยุติร่วมกันในการที่จะจัดให้มีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการเทียบโอนคุณวุฒิระหว่างกัน แต่ถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาทำหน้าที่นี้อย่างจริงจังในขณะนี้

 

ธนาคารหน่วยกิต: บทเรียนจากประเทศอังกฤษ

 

หัวใจสำคัญของการสร้างระบบเทียบโอนคุณวุฒิจากกรณีศึกษาในประเทศอังกฤษคือ การจัดตั้งคลังข้อมูลเพื่อเก็บประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน และสมรรถนะในการทำงานของแรงงานแต่ละคนเข้าไว้ในคลังข้อมูลกลาง หรือที่เรียกว่า ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank)

หลักการของธนาคารหน่วยกิตคือ ข้อมูลในธนาคารหน่วยกิตจะต้องเป็นข้อมูลที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ โดยข้อมูลจะมีมาตรฐานที่ใช้เทียบโอนทักษะและสมรรถนะในการทำงานไปเป็นคุณวุฒิทางการศึกษาเพื่อทำการศึกษาต่อ เช่น ผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือในระบบ และต้องออกมาทำงานตั้งแต่เด็ก หากต้องการกลับไปเรียนต่อ ก็สามารถนำความรู้และทักษะในการทำงานของตนไปสอบเพื่อเทียบโอนคุณวุฒิทางการศึกษา เพื่อทำการศึกษาต่อได้เลย ในแง่นี้ ‘เครดิต’ หรือ ‘หน่วยกิต’ ที่สะสมไว้ในฐานข้อมูลกลางจึงเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อโลกของการศึกษาและโลกของการทำงานเข้าด้วยกัน

ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์อย่างเป็นระบบมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ปัจจุบันอังกฤษใช้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพและหน่วยกิต (The qualifications and credit framework: QCF) ซึ่งเป็นระบบเทียบโอนหน่วยกิตที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ของตนเองไปอยู่ในรูปแบบหน่วยกิตได้

การเทียบโอนหน่วยกิตภายใต้กรอบ QCF ของประเทศอังกฤษจะใช้ระบบที่เรียกว่า ‘หน่วยการเรียนรู้เป็นฐาน’ (Unit-based qualifications) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเทียบโอน ทั้งผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบ หรือผู้ที่ผ่านการศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัย สามารถสะสมหน่วยกิตและเทียบโอนหน่วยกิตได้ แม้จะผ่านประสบการณ์ในการเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ในการเทียบโอนภายใต้กรอบ QCF จะมีการกำหนดคุณวุฒิเทียบกับหน่วยกิตใน 3 ระดับคือ ระดับใบรับรอง (Award) ต้องมีหน่วยกิตสะสม 1 – 12 หน่วยกิต ระดับประกาศนียบัตร (Certificate) ต้องมีหน่วยกิตสะสม 13 – 36 หน่วยกิต และระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (Diploma) ต้องมีหน่วยกิตสะสมตั้งแต่ 37 หน่วยกิตขึ้นไป  ทั้งนี้ผู้ขอเทียบโอนจะต้องผ่านการวัดผลจากศูนย์ทดสอบและฝึกอบรม (Training Centres) เมื่อผ่านกระบวนการวัดผลหน่วยการเรียนเหล่านั้นจะได้รับการรับรองจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับให้ดำเนินการเทียบโอนได้

จุดเด่นสำคัญอีกประการของระบบการเทียบโอนหน่วยกิตของประเทศอังกฤษคือ การพัฒนากรอบ QCF เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งสหภาพยุโรป (EQF) เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายทางด้านแรงงานและการศึกษาระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนข้อนี้ไปใช้ในการออกแบบระบบเทียบโอนหน่วยกิตของไทยให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพระดับนานาชาติได้ โดยเฉพาะอย่าง กรอบคุณวุฒิวิชาชีพของอาเซียน ซึ่งจะเป็นกรอบที่มีนัยสำคัญในอนาคต


ที่มา: โครงการเรื่อง “การพัฒนาระบบคลังหน่วยกิตเพื่อการเทียบโอนความรู้ ทักษะ ไปสู่การยกระดับฝีมือแรงงานตามมาตรฐาน หรือการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น” โดยอภิชัย พันธเสน และคณะ (2560) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)