รายงาน: มาตรการบรรเทาภาระภาษีของรัฐบาลในรอบ 10 ปี – นัยต่อความเหลื่อมล้ำ

การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยมีลักษณะก้าวหน้า กล่าวคือ เป็นการจัดเก็บตามความสามารถในการเสียภาษี ซึ่งผู้มีรายได้มากย่อมเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า  แต่ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีมาตรการบรรเทาภาระภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการให้ผู้มีภาระภาษีเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ โดยแลกกับการที่เสียภาษีลดลง

วัตถุประสงค์ของการบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร มีอยู่ 3 ประการ คือ (1) สนับสนุนทางเศรษฐกิจ (การลงทุนและการออมทรัพย์) (2) สนับสนุนทางสังคม (สร้างความมั่นคงให้ชีวิตและควบคุมประชากร) และ (3) อื่นๆ (ด้านการศึกษาและศีลธรรม)

ทั้งนี้ การบรรเทาภาระภาษีแบ่งได้เป็น 2 ประเภท แบบแรกคือบรรเทาภาษีเชิงโครงสร้าง (Structural Relief) เช่น การหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล ค่าลดหย่อนแบบเหมา เป็นต้น และแบบบรรเทาภาษีที่ไม่ใช่โครงสร้าง (Non-Structural Relief) เช่น การยกเว้นภาษี การลดหย่อนตามรายการ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือกิจกรรมบางประเภท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแต่ละชุดย่อมมีแนวปฏิบัติในการบรรเทาภาระภาษีที่แตกต่างกัน ทั้งมาตรการระยะสั้นและมาตรการแบบไม่กำหนดระยะเวลา ทั้งหมดแตกต่างกันไปตามนโยบายของพรรค บวกกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของสังคมในแต่ละยุคสมัย

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนสำรวจมาตรการบรรเทาภาษีของรัฐบาลแต่ละชุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน ผ่านงานวิจัยชุด “แนวทางปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะ (2560) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

 

สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์: 1 ตุลาคม 2549 – 29 มกราคม 2551

 

หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 ทำให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลนี้ได้เพิ่มการหักลดหย่อนเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินแบบไม่เกิน 100,000 บาท อีกทั้งยังลดหย่อนเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัยในอัตราไม่เกิน 100,000 บาท และรัฐบาลยังยกเว้นเงินจ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน จากการใช้จ่ายในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

สมัยนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์: 29 มกราคม 2551 – 2 ธันวาคม 2551

 

ในปีนี้ได้เกิดวิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว รัฐบาลนายสมัครจึงใช้มาตรกาขยายวงเงินการลดหย่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปี ไม่ว่าจะเป็นการขยายเพดานการซื้อกองทุนประเภท RMF เป็น 500,000 บาท หรือการปรับเพดานภาษีจำพวกเบี้ยประกันภาษี เงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว เงินได้ของรัฐวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

 

สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: 17 ธันวาคม 2551 – 5 สิงหาคม 2554

 

ในช่วงปี 2551 ประเทศไทยเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองหรือความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 มีนาคม 2553 นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการ ได้รับการยกเว้น 190,000 บาท ยกเว้นเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การยกเว้นการนำเงินที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ยกเว้นการคำนวณการเสียภาษีของเงินได้จากการขายของจำพวกอัญมณี

การลดหย่อนในกรณีที่บุคคลธรรมดาได้จ่ายเงินสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรดังกล่าว ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 และมีมาตรการลดหย่อนหากบริจาคเงินให้แก่กองทุนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาตามที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยจ่ายเงินครอบครัวละ 5,000 บาทเป็นจำนวนกว่าหกแสนครอบครัว คิดเป็นเงินทั้งหมดกว่า 3 พันล้านบาท

 

สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร: 5 สิงหาคม 2554 – 7 พฤษภาคม 2557

 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมกับปัญหาอุทกภัย ในคราวเดียวกันก็เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก มาตรการทางภาษีจำนวนมากจึงเน้นไปที่มาตรการรายจ่าย ขณะที่มาตรการที่ใช้ก็มีความหลากหลาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายมิติ เช่น เงินได้ของนักแสดง เงินได้จากการปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เงินได้ของวิสาหกิจชุมชน เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศในอาเซียน เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง

มาตรการที่สามารถลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน เช่นบริจาคเงินให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา หรือสมาคมกีฬาจังหวัด มีค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการศึกษาในโครงการที่กระทรวงศึกษากำหนด หรือบริจาคให้กรมศิลปากรบูรณะโบราณสถาน และมาตรการที่ลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายคือทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ประหยัดพลังงาน แต่ไม่รวมที่ใช้กับยานพาหนะ

ทั้งนี้ยังมีมาตรการยกเว้น โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้จากการขายวัตถุจำพวกอัญมณี พลอย ทับทิมมรกต หยก ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องนำเงินได้จากสิ่งเหล่านี้มาคำนวณเพื่อเสียภาษี

 

สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา: 24 สิงหาคม 2557 ถึงปัจจุบัน

 

ปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับรัฐบาลอื่นๆ รัฐบาลทหารใช้มาตรการรายจ่ายภาษีเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลักษณะของมาตรการในรัฐบาลคสช.มีความหลากหลายสูง ไม่ว่าจะเป็น มาตรการที่ให้ผู้มีเงินได้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีได้ หรือมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้ ตลอดจนมาตรการเกี่ยวกับการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการการเงินบริจาคเพื่อการศึกษา และการเพิ่มองค์กรหรือโครงการที่ผู้บริจาคสามารถนำมาลดหย่อนได้

 

มาตรการบรรเทาภาระภาษี: ข้อควรคำนึง

 

การบรรเทาภาษีต้องคำนึงผลที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น รายได้ของรัฐที่หายไป หรือที่เรียกกันว่า ‘รายจ่ายภาษี’ (tax expenditure) ความเป็นธรรมในแนวตั้ง (บุคคลที่มีรายได้ต่างกันควรเสียภาษีต่างกัน) และความเป็นธรรมในแนวนอน (บุคคลที่มีรายได้เท่ากันควรเสียภาษีเท่ากัน ไม่ว่ารายได้จะมาจากแหล่งใดก็ตาม)

การประเมินปัญหาของมาตรการ ‘รายจ่ายภาษี’ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จุดแข็งของมาตรการนี้คือ เป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพราะว่า ผู้มีเงินได้เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะเข้าร่วมในกิจกรรมนั้นหรือไม่ โดยรัฐบาลเป็นเพียงผู้ริเริ่มเท่านั้น นอกจากนี้ มาตรการที่เป็นรายจ่ายภาษีส่วนใหญ่มักมีกระบวนการดำเนินการที่ไม่ซับซ้อน เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินโครงการรายจ่ายภาครัฐโดยตรง

อย่างไรก็ตาม มีข้อวิจารณ์ว่ามาตรการรายจ่ายทางภาษีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในมิติด้าน ‘ความเป็นธรรม’ มาตรการรายจ่ายภาษีหลายประเภทส่งผลให้เครื่องมือด้านภาษี ‘ลดความก้าวหน้า’ ลง และมีแนวโน้มจะส่งผลต่อความเป็นธรรมทั้งแนวตั้งและแนวนอน กล่าวคือ กลุ่มผู้มีเงินได้สูงมีแนวโน้มที่จะได้รับสัดส่วนของการช่วยเหลือมากกว่า และโน้มเอียงไปยังกลุ่มเฉพาะบางกลุ่มมากกว่า

นอกจากนี้ มาตรการทางภาษียังอาจสร้างผลกระทบทางอ้อมที่มองไม่เห็นต่อระบบการคลังด้วย เช่น เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐใช้จ่ายเงินได้อย่างไม่มีขอบเขต ทำให้กฎหมายภาษีมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือ การขาดความโปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้

ประสบการณ์จากประเทศไทยในรอบ 10 ปีพบว่า มาตรการบรรเทาภาระภาษี เมื่อมีการอนุมัติแล้วมักดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นประเภทที่มีกำหนดเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 1 ปี กระนั้นก็มีบางมาตรการที่มีแนวโน้มจะนำมาใช้ซ้ำทุกปี เช่น ‘ช็อปช่วยชาติ’ เป็นต้น) มาตรการส่วนใหญ่ไม่มีการนำกลับมาทบทวนถึงผลดี ผลเสีย ที่เกิดขึ้นจริง

เมื่อพิจารณาว่า มาตรการบรรเทาภาระภาษีมีแนวโน้มที่จะถูกใช้มากขึ้นในทุกรัฐบาล การเรียกร้องให้มีการจัดทำรายงานและศึกษาผลกระทบของนโยบายจึงเป็นเรื่องจำเป็น


ที่มา: โครงการวิจัย “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ (2560) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)